TNN online เมื่อเซี่ยงไฮ้พัฒนาสายน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เมื่อเซี่ยงไฮ้พัฒนาสายน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อเซี่ยงไฮ้พัฒนาสายน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อเซี่ยงไฮ้พัฒนาสายน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

นอกเหนือจากการกำหนดนโยบายและเดินหน้ามาตรการอนุรักษ์และปกป้องแหล่งน้ำแล้ว เซี่ยงไฮ้ยังสร้างเสริมบริการขนส่งทางน้ำที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเอาประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจอีกด้วย เราไปคุยต่อกันครับ ...

เซี่ยงไฮ้ยังคงนำร่องพัฒนาแหล่งน้ำ “ทั้งระบบนิเวศ” โดยให้ความสำคัญกับความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2017 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้กระตุ้นธุรกิจ มหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคมในการเติมพลังแบรนด์เก่าแก่ของเซี่ยงไฮ้ด้วยความคิดใหม่และเทคโนโลยี และผลักดันให้ผู้ที่จบการศึกษาใหม่เริ่มต้นกิจการสตาร์ตอัพของตนเอง รวมทั้งยังเชื่อมโยงการพัฒนาแหล่งชุมชนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยแนวคิดใหม่ อาทิ  “ชุมชน 15 นาทีเดิน” และ “อาคารหายใจได้” อย่างที่ผมได้เคยชวนคุยไปเมื่อปีก่อน

ทั้งนี้ ในส่วนของซูโจวครีก กิจการกว่า 3,500 รายริมสองฝั่งแม่น้ำได้ถูกโยกย้ายไปแหล่งใหม่ในช่วงราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อเปิดพื้นที่ดังกล่าวแก่พื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะกระจายยอยู่ในหลากมุมเมืองริมสองฝั่งแม่น้ำ แต่จากแผนแม่บทชุมชนเมืองเซี่ยงไฮ้ปี 2035 มหานครแห่งนี้จะยังไม่หยุดแค่นั้นเป็นแน่ และวันนี้กำลังเดินหน้าพัฒนาตามแนวคิด “เมืองในสวน” 

เมื่อเซี่ยงไฮ้พัฒนาสายน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

นอกจากนี้ ภายหลังการทดสอบบริการดังกล่าวในช่วงกลางเดือนกันยายน 2022 เซี่ยงไฮ้ก็ได้เปิดให้บริการเรือท่องเที่ยวประจำเส้นทางอย่างเป็นทางการในโอกาสปีที่ 33 ของเทศกาลท่องเที่ยวเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Tourism Festival) เมื่อต้นเดือนตุลาคม และให้บริการอย่างต่อเนื่องนับจากนั้นเป็นต้นมา 

เรือท่องเที่ยวเหล่านี้มีขนาดความยาว 14.8 เมตร และกว้าง 4 เมตร ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าที่ปลอดมลพิษและไร้เสียงรบกวนให้บริการได้คราวละ 20 คน 

ปัจจุบัน เรือท่องเที่ยวนี้มีจุดขึ้นลงริมฝั่งซูโจวครีกจำนวน 8 จุด ได้แก่ ไว่ทันหยวน (Waitanyuan) สวนขนาดย่อมในบริเวณเดอะบันด์ โกดังซื่อหัง (Sihang Warehouse) ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรวบรวมของที่ระลึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ถนนฉางฮวา (Changhua) ถนนซีคัง (Xikang) สวนดอกไม้เหมิงฉิง (Mengqing Garden) สวนสาธารณะจงชาน (Zhongshan Park) สวนสาธารณะฉางเฟิง (Changfeng Park) และถนนตานปา (Danba) 

โดยแต่ละจุดติดตั้งระบบการชาร์ตไฟฟ้าสำหรับเรือท่องเที่ยวดังกล่าว แถมยังพร้อมพรั่งด้วยระบบการจัดการและการปฏิบัติงานดิจิตัลที่เพิ่มความสะดวกสบายและลดความเสี่ยงในการใช้บริการ อาทิ การซื้อตั๋วผ่านมินิโปรแกรม “Suzhou Creek Tourism” ในแพลตฟอร์มวีแชต (WeChat) 48 ชั่วโมงล่วงหน้า

นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการ “ห้องนั่งเล่นทางน้ำ” ได้ใน 3 รูปแบบ อันได้แก่ บริการท่องเที่ยวแบบกลุ่มในเส้นทางราว 1 ชั่วโมงระหว่างฉางฮวา-ฉางเฟิง ด้วยค่าบริการ 100 หยวนสำหรับผู้ใหญ่ และ 50 หยวนสำหรับเด็กอายุ 7-14 ปี บริการท่องเที่ยวแบบรายบุคคลระหว่างไว่ทันหยวน-โกดังซื่อหัง-ฉางฮวา ซึ่งใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงเพื่อชื่นชมแหล่งชุมชนด้านผู่ซี ก็มีค่าตั๋ว 60 หยวน และ 30 หยวน ตามลำดับ รวมทั้งบริการท่องเที่ยวแบบเฉพาะกลุ่มตามความต้องการด้านธุรกิจและสันทนาการของผู้เช่าเรือ  

เหย่า ไค (Yao Kai) ผู้อำนวยการสำนักงานการเคหะและการพัฒนาชุมชนเมือง-ชนบทแห่งเซี่ยงไฮ้เปิดเผยว่า เซี่ยงไฮ้จะเพิ่มจุดจอด และสถานที่ท่องเที่ยวรอบๆ จุดขึ้นลงเรือริมสองฝั่งซูโจวครีกและแม่น้ำหวงผู่ รวมทั้งกิจกรรมกีฬาทางน้ำโดยลำดับเพื่อความสะดวกและความเพลินเพลินของผู้ใช้บริการในอนาคต แต่ก็ต้องไม่ให้บริการและกิจกรรมดังกล่าวมากจนไปรบกวนการใช้ชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำ

นอกจากพิพิธภัณฑ์ซื่อหังแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวใหม่รอบๆ จุดขึ้นลงเรือได้รับการพัฒนาและทยอยเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่องรวมกว่า 200 จุด อาทิ สะพานถนนจ้าผู่ (Zhapu) คฤหาสน์บรอดเวย์ (Broadway Mansions) อาคารไปรษณีย์กลาง คอนโดและคอมเพล็กซ์ความบันเทิงหรูชื่อ “เทียนอันพันต้น” (Tian An 1000 Trees) ศูนย์ศิลปะเอ็ม 50 (M50 Art Hub) พิพิธภัณฑ์โรงกษาปณ์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Mint Museum) โรงสีฟู่ซิน (Fuxin) และโรงเบียร์ยุคดั้งเดิม

เมื่อเซี่ยงไฮ้พัฒนาสายน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รวมไปถึงสวนป่ากงฉิง (Gongqing Forest Park) มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเซี่ยงไฮ้ (University of Shanghai for Science and Technology) และพิพิธภัณฑ์ทักษะฝีมือโลก (World Skills Museum) พิพิธภัณฑ์เรือโบราณที่ทำจากไม้ในพื้นที่อู่เรือเดิมของเซี่ยงไฮ้ในเขตหยางผู่ (Yangpu) และพิพิธภัณฑ์ศิลปินคนดัง (Star Museum) ด้านซีกตะวันตกของเดอะบันด์ในเขตสวีฮุ่ย (Xuhui)

รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ยังพัฒนาทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำและจุดท่องเที่ยวตามแนวแม่น้ำหวงผู่ โดยพยายามใช้ประโยชน์และต่อยอดสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่เดิม อาทิ ศูนย์แข่งม้าระหว่างประเทศ (International Equestrian Center) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จัดงานนิทรรศการโลก 2010 ฝั่งผู่ตง และศูนย์กีฬาทางน้ำครบวงจร (A Comprehensive Water Sports Center) ที่ท่าเรือสำราญระหว่างประเทศอู๋วซ่งโข่ว (Wusongkou International Cruise Liner Terminal) ในเป่าชาน (Baoshan)

อาคารเก่าหลายแห่งก็ได้รับการปรับปรุงพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ ไฟฟ้าแสงสว่าง ห้องน้ำ และบริการสายด่วน จากสถิติพบว่า รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ติดตั้งลิฟท์รุ่นใหม่กว่า 2,000 ตัวในอาคารโบราณสไตล์เซี่ยงไฮ้ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนสูงอายุและคนทุพลภาพ

ขณะเดียวกัน สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ก็ติดตั้งป้ายข้อมูลดิจิตัลไว้พร้อมสรรพ เพียงใช้สมาร์ตโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดที่มีอยู่ นักท่องเที่ยวก็สามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสถานที่นั้นๆ พร้อมคำแนะนำในการเยี่ยมชมในแต่ละมุม และสิ่งอำนวยความสะดวกได้ในทันที

จุดท่องเที่ยวทางน้ำเหล่านี้ “โดนใจ” บรรดาตากล้องอาชีพและสมัครเล่น และนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว เป็นอย่างมาก ยิ่ง “แช๊ะแล้วแชร์ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้บริการท่องเที่ยวทางน้ำนี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

บริการเรือท่องเที่ยวยังจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ประมาณว่า บริการเรือท่องเที่ยวจะมีผู้ใช้บริการปีละ 10 ล้านคน ก่อให้เกิดการจ้างงานคุณภาพ และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านร้านค้าริมสองฝั่งแม่น้ำกว่า 500 ล้านหยวนในแต่ละปี 

เมื่อเซี่ยงไฮ้พัฒนาสายน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังนำเอากีฬาทางน้ำมาเป็นกิจกรรมพิเศษในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งในช่วงที่จีนเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 เซี่ยงไฮ้ก็ยังริเริ่มการจัดการแข่งเรือที่ซูโจวครีกภายใต้ชื่อ “Suzhou Creek Regatta” และเพียงไม่กี่ปี กิจกรรมนี้ก็กลายเป็นการแข่งขันกีฬาทางน้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดรายการหนึ่งของจีนในปัจจุบัน

อีกกิจกรรมกีฬาหนึ่งที่จะเปิดตัวในช่วงปีกระต่ายนี้ก็คือ การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนระยะทาง 21 กิโลเมตรภายใต้ชื่อ “Half Marathon Suzhou Creek” ในเส้นทางริมซูโจวครีกที่ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเขตผู่โถว (Putuo) อาทิ พิพิธภัณฑ์ความศิวิไลซ์ด้านอุตสาหกรรม ช้อปปิ้งมอลล์ เทียนอันพันต้น และห้องสมุดเด็กแห่งเซี่ยงไฮ้ ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นว่า กิจกรรมนี้ยังจะเป็นตัวเชื่อมศูนย์ลอจิสติกส์ครบวงจรหงเฉียวเข้ากับพื้นที่ดาวน์ทาวน์ของเซี่ยงไฮ้

ปีกระต่ายนี้ จีนเริ่มเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอนแล้ว หากมีโอกาส ผมก็ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านไปล่องเรือชมวิวทิวทัศน์ ท่องประวัติศาสตร์ ส่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และเพลินตากับสถาปัตยกรรมและความงดงามของนครเซี่ยงไฮ้ในมุมมองใหม่ผ่านสายน้ำทั้งสองดังกล่าวกันนะครับ ...

ภาพจาก  : AFP

ข่าวแนะนำ