TNN online เมื่อกิจการจีนเปลี่ยนรหัสการทำงาน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เมื่อกิจการจีนเปลี่ยนรหัสการทำงาน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อกิจการจีนเปลี่ยนรหัสการทำงาน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อกิจการจีนเปลี่ยนรหัสการทำงาน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

การทำงานหนักเพื่อบรรลุเป้าหมายและก้าวสู่ความสำเร็จถือเป็นหนึ่งในค่านิยมที่คนจีนยึดถือมาโดยตลอด ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจและธุรกิจจีนเติบใหญ่และรุดหน้าสู่ระดับโลกในปัจจุบัน หลายคนที่ต้องทำงานร่วมกับคนจีนก็อาจรู้สึกว่าคนจีนทำงานเร็วมาก จนอาจแปลกใจว่าพนักงานเหล่านี้มีเวลาพักผ่อนนอนหลับกันบ้างหรือเปล่า ...

กระแสการทำงานหนักของจีนพุ่งพล่านจนมีคนขนานนามว่าเป็นการทำงานในสูตร “996” ที่ทำงานจาก 9 โมงเช้า (9 a.m.) ถึง 3 ทุ่ม (9 p.m.) และ 6 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในหมู่กิจการบิ๊กเทค สตาร์ตอัพ และกิจการเอกชนอื่นในช่วงหลายปีหลัง จนเกิดเป็นปัญหาตามมาอยู่เนืองๆ

การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ดูเหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงๆ กลับไม่หมูอย่างที่คิด เพราะวัฒนธรรมการทำงานดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายแง่มุม อาทิ ด้านกฎหมาย เศรษฐกิจระดับจุลภาคและมหภาค มาตรฐานการใช้ชีวิตและสังคม

เมื่อกิจการจีนเปลี่ยนรหัสการทำงาน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในด้านหนึ่ง กิจการจีนต่างเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องการพัฒนาธุรกิจ และมุ่งหวังให้พนักงานของตนผลิตผลงานออกมามากและเร็วขึ้นเพื่อนำไปสู่ยอดขาย ผลกำไร คุณค่าของแบรนด์ และอื่นๆ

“วัฒนธรรม 996” กลายเป็นประเด็นสำคัญด้วยหลายเหตุการณ์และเหตุผล คนดังอย่างแจ็ก หม่า ผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบา (Alibaba) เคยเปรียบเปรยไว้ว่า “วัฒนธรรม 996” เป็นเสมือน “ฟ้าประทาน” ที่ช่วยให้กิจการไฮเทคของจีนได้รับประโยชน์อย่างมาก และเติบโตได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น 

ขณะที่ ริชาร์ด หลิว หรือหลิว เฉียงตง ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเจดี (JD.com) ที่เพิ่งประกาศก้าวลงจากตำแหน่ง ก็เคยกล่าวโจมตีพนักงานที่ไม่ทุ่มเทว่าเป็น “คนเกียจคร้าน” เช่นกัน จนนำไปสู่การโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงในเวลาต่อมา

เมื่อกิจการจีนเปลี่ยนรหัสการทำงาน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

งานวิจัยหนึ่งระบุว่า คนจีนต้องทำงานเฉลี่ยถึง 300 ชั่วโมงต่อเดือน ขณะที่ข้อมูลของรอยเตอร์ส (Reuters) ที่ได้รับจากพนักงานรวมกว่า 4,000 คนของ BAT พี่ใหญ่ในวงการดิจิตัลของจีน ก็เปิดเผยว่า หลายคนทำงานราว 12 ชั่วโมงต่อวัน เหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงไปถึงการทำงานใน “วัฒนธรรม 996” และนำไปสู่หลายเหตุการณ์สลดในเวลาต่อมา 

ตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2020 เมื่อพนักงานของกิจการสื่อแห่งหนึ่งเป็นลมล้มลงในห้องน้ำและหัวใจวายเสียชีวิตในเวลาต่อมา หลังจากที่ทำงานต่อเนื่องยาวนานถึง 12 ชั่วโมง

จากการสัมภาษณ์พนักงานของสื่อดังกล่าว พบว่า พวกเขาต้องทำงานมากกว่า 300 ชั่วโมงต่อเดือน และได้พักไม่ถึง 3 วันต่อเดือนในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่พนักงานเดลิเวอรี่อาหารของแพล็ตฟอร์มชื่อดัง “เอ้อเหลอะเมอะ” (Ele.me) เสียชีวิตขณะจัดส่งอาหาร และหลังจากนั้นเพียงราวหนึ่งเดือน คนขับรถส่งอาหารก็ประท้วงนายจ้างในประเด็นความขัดแย้งเรื่องค่าล่วงเวลาด้วยการจุดไฟเผาตัวเอง 

และตามมาด้วยพนักงาน 2 คนของพินตัวตัว (Pinduoduo) หนึ่งในกิจการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ที่เสียชีวิตกะทันหันห่างกันเพียงไม่กี่สัปดาห์ในช่วงต้นปี 2021 รายแรกเป็นพนักงานหญิงล้มลงขาดใจตายขณะเดินทางจากที่ทำงานกลับที่พัก ขณะที่อีกรายหนึ่งฆ่าตัวตาย 

เมื่อกิจการจีนเปลี่ยนรหัสการทำงาน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

บริษัทไม่อาจอธิบายถึงสาเหตุของเหตุการณ์เสียชีวิตดังกล่าวได้ แม้จะชี้แจงในเวลาต่อมาว่า บริษัทได้จัดให้มีบริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแก่พนักงาน ส่งผลให้สังคมก็รู้สึกว่า การจัดหาบริการดังกล่าวไม่มากพอที่จะแก้ไขปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมดังกล่าว 

พนักงานจำนวนมากยังแสดงความรู้สึกผ่าน “เหว่ยปั๋ว” (Weibo) สื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำของจีน บางคนระบายความในใจว่า “ผมรู้สึกเหนื่อยมาก ขณะที่กิจการรายใหญ่ร่ำรวยมากขึ้น ผมจำไม่ได้ว่าเห็นแสงอาทิตย์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ มันยุติธรรมแล้วหรือ” 

เหตุการณ์เหล่านี้นับว่ามีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการทำงานหนักที่ได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และทำให้กระแสต่อต้าน “วัฒนธรรม 996” ดูจะหนักหน่วงและขยายวงกว้างมากขึ้นจนเข้าสู่ขั้นวิกฤติ

ยิ่งหากเรามองลึกลงไปก็พบว่า พนักงานของกิจการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนใน Gen Y และ Z รวมทั้งคนรุ่นใหม่อื่น ที่ต่างมองหาวิถีชีวิตที่ยืดหยุ่น และความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและครอบครัวในการเลือกเมืองและสถานที่ทำงานในระดับที่สูงขึ้น 

ยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 จีนก็เผชิญกับอัตราการเกิดที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ และต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในยุคหน้าอีกด้วย ทำให้เป็นปัจจัยที่ปลุกเร้ากระแสต่อต้านทางสังคมต่อการทำงานหนักยิ่งขึ้น 


เมื่อกิจการจีนเปลี่ยนรหัสการทำงาน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ถึงขนาดมีกระแสต่อต้านจากกลุ่มพนักงานอย่างเป็นรูปธรรมอยู่เนืองๆ อาทิ เมื่อปี 2019 กลุ่มโปรแกรมเมอร์ในจีนได้รวมตัวกันจัดทำแคมเปญสร้างแพล็ตฟอร์มโค้ดแชร์ริ่ง “จิ๊ตฮับ” (Github) ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้เปิดเผยเกี่ยวกับรายละเอียดของสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการใช้งานหนักของบริษัทต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การขึ้นทะเบียนรายชื่อบิ๊กเทคและสตาร์ตอัพที่ใช้งานพนักงานหนักเกินขอบเขตรวม 150 แห่ง

ในด้านเศรษฐกิจ ผลิตภาพขององค์กรในระดับจุลภาคก็อาจสะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคอีกด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลคาดหวังเช่นกัน แต่ด้วยต้นทุนทางสังคมที่สูงลิ่วก็ทำให้ภาครัฐต้อง “ออกโรง” เข้ามาจัดระเบียบในด้านนี้ 

รัฐบาลจีนจึงสัญญาณชัดเจนว่าไม่ต้องการเอา “สุขภาพและชีวิต” ของประชาชนมาแลกกับผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ โดยได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานของคนจีนที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง สี จิ้นผิง ประกาศนโยบาย “ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า” (Common Prosperity) ที่ต้องการกระจายความมั่งคั่ง และเพิ่มสัดส่วนคนชั้นกลาง

แม้ว่าจีนจะประสบความสำเร็จในการขยายเศรษฐกิจจนก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ในปัจจุบัน แต่รัฐบาลจีนก็มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศว่าควรมุ่งเน้นมิติเชิง “คุณภาพ” มากกว่าเชิง “ปริมาณ” ในช่วงหลายปีหลัง และเห็นว่าการทำงานเป็นเสมือน “การวิ่งมาราธอน” ที่ต้องออมกำลัง และไม่ให้หมดแรงก่อนถึงเส้นชัย การทำงานที่ยาวนานกว่าที่ควรจะเป็นอาจไม่เป็นผลดีในระยะยาว


เมื่อกิจการจีนเปลี่ยนรหัสการทำงาน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในด้านกฎหมาย รัฐบาลจีนระบุถึงบทลงโทษของการกำหนดตารางเวลาการทำงานที่มากเกินระดับที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตามกฎหมายแรงงานจีนระบุว่า ชั่วโมงการทำงานมาตรฐานอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือเฉลี่ยไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาตามชั่วโมงการทำงานที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่การทำงานนอกเวลาต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อเดือน และหากต้องการขยายเวลาการทำงานมากกว่าที่กำหนดไว้อันเนื่องจากความจำเป็นทางธุรกิจ ก็จำเป็นที่ธุรกิจต้องผ่านการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานและพนักงานขององค์กรนั้นๆ

นอกจากนี้ ศาลสูงสุดของจีนก็ได้แสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานตาม “วัฒนธรรม 996” กล่าวคือ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดร่วมกับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมประกาศไว้ว่า แรงงานทุกคนมีสิทธิ์ได้รับ “การพักผ่อนและการลาพักร้อน” และเป็นเงื่อนไขภาคบังคับของระบบชั่วโมงทำงานตามกฎหมายแรงงานของจีน

ศาลสูงสุดของจีนยังกล่าวอีกว่า “ไม่มีอะไรเสียหายกับการผลักดันการทำงานหนัก แต่ก็ไม่อาจละเมิดสิทธิ์ของแรงงานตามกฎหมายได้” โดยมีศาลจีนและกระทรวงแรงงานอย่างน้อย 10 แห่งที่มีบทลงโทษกิจการที่บังคับให้พนักงานทำงานเกินเวลา 

ดังนั้น ในแง่ของกฎหมาย เราอาจพบว่า กิจการจำนวนมากในหลายอุตสาหกรรมของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการบิ๊กเทค สื่อ การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และก่อสร้าง ได้ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานของจีน ทั้งจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 


เมื่อกิจการจีนเปลี่ยนรหัสการทำงาน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โดยงานวิจัยหนึ่งพบว่า ในระหว่างปี 2016-2021 จีนมีคดีฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงาน 996 รวมกว่า 130 คดี

อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง กิจการหลายราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิ๊กเทค ได้เริ่มปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลจีน และพฤติกรรมและวิถีชีวิตของพนักงานมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ไบต์แดนซ์ (ByteDance) กิจการแม่ของติ๊กต็อก (TikTok) ได้ประกาศปรับโครงสร้างองค์กร และเปลี่ยนชั่วโมงการทำงานไปสู่ “วัฒนธรรม 1075” ด้วยความสมัครใจ กล่าวคือ เริ่มเข้างาน 10 โมงเช้า (10 a.m.) และเลิกงาน 1 ทุ่ม (7 p.m.) สัปดาห์ละ 5วัน หรือทำงานราว 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (รวมการพักรับประทานอาหารกลางวัน) โดยหลีกเลี่ยงการทำงานนอกเวลา

หลังจากนั้นไม่นาน บิ๊กเทคหลายราย อาทิ ไคว่โช่ว (Kuaishou) บิลลี่บิลลี่ (Bilibili) และเทนเซ้นต์ (Tencent) ก็เริ่มนำเอา “วัฒนธรรม 1075” มาประยุกต์ใช้ในองค์กรเช่นกัน ขณะเดียวกัน ก็มีคนเสนอความคิดเห็นให้ไปไกลถึง “วัฒนธรรม 955” เหมือนของชาติตะวันตก 


ความแตกต่างของวัฒนธรรมการทำงาน



วัฒนธรรม 996 
วัฒนธรรม 1075
 เวลาเข้างาน  
9 โมงเช้า 
10 โมงเช้า
เวลาเลิกงาน 
3 ทุ่ม    
1 ทุ่ม
จำนวนวันทำงานต่อสัปดาห์    
6 วัน    
5 วัน
การทำงานนอกเวลา  40-50 ชั่วโมง
 ไม่เกิน 36 ชั่วโมง




เมื่อกิจการจีนเปลี่ยนรหัสการทำงาน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


แต่พนักงานบางส่วนก็ไม่พอใจกับการลดชั่วโมงการทำงานในบริษัทของตนเอง เพราะภายใต้วัฒนธรรมการทำงานใหม่ พวกเขายังคงต้องรับผิดชอบเนื้องานเท่าเดิม จึงหนีไม่พ้นการต้องขนงานกลับไปทำต่อที่บ้านอยู่ดี แถมยังไม่ได้ค่าล่วงเวลาและค่าตอบแทนอีกด้วย! 

ในปีเสือ วัฒนธรรมการทำงานของคนจีนคาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในวงกว้าง แต่ผมก็หวังว่าวัฒนธรรมการทำงานใหม่จะไม่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าในด้านอื่นแกว่งตัว และกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาวที่จีนวางไว้

ในโอกาสปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ ผมก็ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านเคารพนับถือได้โปรดดลบันดาลให้ท่านผู้อ่าน ครอบครัว และคนที่เคารพรัก ประสบแต่ความสุขความเจริญ มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ห่างไกลจากโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ และคิดมุ่งหวังสิ่งใด ก็ขอให้สัมฤทธิ์ผลดังปรารถนาทุกประการ โดยไม่ต้องทำงานหนักเหมือนวัฒนธรรม 996 กันนะครับ ...


ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ