TNN online เงินบาทอ่อนรับดอลลาร์แข็งตลาดปิดรับความเสี่ยง

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทอ่อนรับดอลลาร์แข็งตลาดปิดรับความเสี่ยง

เงินบาทอ่อนรับดอลลาร์แข็งตลาดปิดรับความเสี่ยง

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 32.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง รับดอลลาร์แข็งค่าผลพวงจากตลาดปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวหลังการระบาดโควิด

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ  32.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 32.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า  จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงหลังการระบาด COVID-19 จะชะลอตัวลงมากกว่าคาดการณ์


สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะรอลุ้นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีโอกาสที่จะกระทบต่อการส่งสัญญาณปรับลดคิวอีของเฟดในการประชุมที่จะถึงนี้  โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้


ฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการประชุมเฟดวันที่ 21-22 กันยายน นั้นเริ่มใกล้เข้ามา ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะมีมุมมองต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางการปรับลดคิวอี 


อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ล่าสุด บรรดานักวิเคราะห์ต่างเริ่มทยอยปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากผลกระทบของการระบาด Delta ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า การบริโภคอาจชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 สะท้อนผ่าน ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม ที่จะหดตัวกว่า -0.8% จากเดือนก่อนหน้า 


ทั้งนี้การหดตัวของยอดค้าปลีกอาจเริ่มสะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนจากการซื้อสินค้า เป็นการใช้บริการต่างๆ มากขึ้น ตามการทยอยเปิดเมือง อนึ่ง เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจผ่านช่วงการชะลอหนักไปแล้วในเดือนสิงหาคม


 โดยสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย U of Michigan (Consumer Sentiment) ในเดือนกันยายน อาจพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 72 จุด จาก 70.3 จุด สะท้อนว่า ชาวอเมริกัน ยังคงเชื่อมั่นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงาน รวมถึง แผนการทยอยเปิดเมืองที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และการเตรียมแจกจ่ายวัคซีนโดสที่ 3 ในช่วงปลายเดือนกันยายน 


อย่างไรก็ดี ปัญหา ณ ปัจจุบันของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนสิงหาคม จะสูงถึง 5.3%y/y หนุนโดยค่าใช้จ่ายในธีม Reopening รวมถึงการกลับไปทำงานและใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นของชาวอเมริกัน  


ขณะที่ยุโรปบรรดานักวิเคราะห์มองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเริ่มส่งสัญญาณสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น (Tightening Policy) หลังเศรษฐกิจเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่องและไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มากนัก 


ซึ่งสะท้อนผ่าน ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนสิงหาคม ที่จะโตกว่า +0.8% จากเดือนก่อนหน้า หรือคิดเป็น +2.7%y/y นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนสิงหาคม ก็มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงกว่า +2.9%y/y ซึ่งจากภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีและเงินเฟ้อในระดับสูง อาจทำให้ BOE เริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องได้ในการประชุมวันที่ 23 กันยายน นี้ 


ด้านเอเชียปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ถึงจุดพีคในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงหนัก โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะโตเพียง +7%y/y จาก +8.5% ในเดือนก่อนหน้า 


ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะขยายตัวเหลือ +5.8%y/y ลดลงจาก +6.4% สอดคล้องกับการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิตที่สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวลดลง 


นอกจากนี้ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) จะขยายตัวเพียง +11%y/y ลดลงจาก +12.7% ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนอาจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังการระบาดสงบลง ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ภาคการค้ายังคงเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยยอดการส่งออก (Exports) เดือนสิงหาคม จะโตกว่า +33%y/y 


ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็จะขยายตัวราว +40%y/y ทำให้โดยรวมญี่ปุ่นอาจเกินดุลการค้ากว่า 138 พันล้านเยน ทั้งนี้ ยอดการส่งออกในเดือนกันยายน อาจชะลอลงจากความต้องการที่ลดลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก 


ขณะที่ไทย – แนวโน้มการระบาดของ COVID-19 ยังอยู่ในความสนใจของผู้เล่นในตลาด หลัง ศบค. ออกมาเตือนว่ามีโอกาสที่จะเห็นการระบาดระลอกใหม่ หลังจากผ่อนคลายมาตรการ Lockdown สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า การผ่อนคลาย Lockdown ที่รีบเร่งเกินไป อาจทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่อีกครั้งในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า


สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทคาดว่าในระยะสั้น เงินบาทจะยังคงแกว่งตัว Sideways จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวโน้มสถานการณ์การระบาดหลังการผ่อนคลาย Lockdown รวมถึง มุมมองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการประชุม กนง. ในช่วงปลายเดือนนี้


ส่วนในมุมแนวโน้มเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจถูกกดดันได้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด โดยเฉพาะ ยอดค้าปลีกและความเชื่อมั่นผู้บริโภค เพราะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอาจทำให้ตลาดมองได้ว่า เฟดจะยังไม่รีบส่งสัญญาณการลดคิวอีที่ชัดเจนในการประชุมเดือนกันยายนนี้ 


อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจยังเป็นที่ต้องการอยู่ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven asset) หากตลาดเดินหน้าปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


ทั้งนี้เงินบาทมีแนวต้านสำคัญอยู่ในโซน 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอเข้าทยอย เข้ารขายดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่ากลับไปที่ระดับดังกล่าวได้ ขณะเดียวกัน โซน 32.60 บาทต่อดอลลาร์ยังคงเป็นแนวรับหลักและเป็นระดับที่ยังคงมีผู้นำอทยอยแลกซื้อเงินดอลลาร์อยู่มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.50-32.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.65-32.80  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 


เงินบาทอ่อนรับดอลลาร์แข็งตลาดปิดรับความเสี่ยง

ข่าวแนะนำ