TNN online หวั่นคุมค่าทวงหนี้! แบงก์เข้มสินเชื่อกลุ่มเสี่ยง

TNN ONLINE

Wealth

หวั่นคุมค่าทวงหนี้! แบงก์เข้มสินเชื่อกลุ่มเสี่ยง

หวั่นคุมค่าทวงหนี้! แบงก์เข้มสินเชื่อกลุ่มเสี่ยง

เอกชนเผยประกาศกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้50 บาทต่องวด ส่งผลให้สถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อคนกลุ่มเสี่ยง-กลไกตลาดบิดเบือน ดันต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มหากต้องจ้าง OA ช่วงตลาดซบ

นายภิญโญ ธนวัชรกรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วหรือรถมือสอง เปิดเผยว่า  การประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ที่กำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่ 50 บาทต่องวด ซึ่งจะมีผลในทางปฏิบัติ 30 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น หากนำมาใช้เพียง 3-6 เดือนก็เป็นการช่วยคนผ่อนชำระหนี้ระยะสั้น แต่ระยะยาวไม่ดีแน่นอน  เพราะอัตรานี้สถาบันการเงินและบริษัทติดตามทวงถามหนี้ (Outsource Agent:OA)    อยู่ไม่ได้  ซึ่งในที่สุดแล้วจะทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อคนกลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือบวกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น  ซึ่งเท่ากับคนดีที่ซื้อรถยนต์ต้องแบกภาระแทนคนที่ผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นการสร้างความบิดเบี้ยวต่อระบบ 


"กลไกทวงถามหนี้ที่มีมาเรียกเก็บจากคนที่เป็นหนี้แล้วค้างชำระ แต่นโยบายที่ออกมาเป็นการทำให้ตลาดบิดเบี้ยว การปล่อยสินเชื่อยากขึ้น เพราะคนซื้อรถยนต์ส่วนใหญ่ขอสินเชื่อ 80-90% ต่อไปกลุ่มที่มีความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มปัญหากับระบบมากขึ้น" 


นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ ประธานสมาคมเช่าซื้อไทย  กล่าวว่า   ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย (OA) เพื่อหาจุดสมดุล เพราะหากคิดตามประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ทาง OA ก็อยู่ไม่ได้  เนื่องจากจะกระทบบริษัทที่ไม่มีทีมติดตามหนี้เฉพาะ แต่ต้องจ้างโอเอทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่รายได้ลดลง


นอกจากนี้หลังการระบาดของโควิดรอบ3  ยอมรับว่ายอดขายรถใหม่ลดลง 20% ส่วนรถเก่า ถ้าเป็นพื้นที่ในกรุงเทพปริมณฑลลดลงประมาณ 20% แต่ต่างจังหวัดอาจจะลด 30-40% ส่วนหนึ่งเพราะในพื้นที่กรุงเทพส่วนใหญ่ เน้นขายและให้จองซื้อรถออนไลน์ทั้งรถเก่าและรถใหม่ ทำให้ยอดขายลดลงไม่มากนัก


" กำลังหารือนายกสมาคม OA เรื่องการจ่ายค่าติดตามทวงถามหนี้ เพราะหากคิดตามประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ทาง OA ก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องหาจุดสมดุลกัน นอกจากนี้ยังห่วงยอดขายรถที่ลดลงทำให้การปล่อยสินเชื่อลดลง รวมทั้งหนี้เสียที่เกิดขึ้น  ซึ่งทุกคนพูดเหมือนกันว่า ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้อีก 2-3 เดือนจะอยู่ไม่ได้"


สำหรับความต้องการสินเชื่อครึ่งปีหลัง ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด ถ้ารัฐบาลคลายล็อกดาวน์ในวันที่ 1 ก.ย.นี้และฉีดวัคซีนมากขึ้นก็ยัง มีความหวัง  แต่หากยอดผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นอีก ก็มีความไม่แน่นอน แม้ 1-2 วันที่ผ่านมา จะเห็นคนติดเชื้อลดลงบ้าง โดยหากรัฐบาลคลายล็อกดาวน์บางพื้นที่เรื่อยๆ แนวโน้มจะเห็นกำลังซื้อหรือยอดขายรถยนต์ค่อยฟื้นตัว


ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ซึ่งพบว่า มีลูกค้าติดต่อขอรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า ซึ่งถ้าเป็นรายที่ได้รับผลกระทบตรง จะใช้วิธีพักชำระหนี้ ส่วนรายที่ไม่ได้รับผลกระทบตรงก็จะปรับโครงสร้างหนี้

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่  9 ส.ค.64 ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 


1. อัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไปรวมจำนำทะเบียน ให้คิดค่าทวงถามหนี้ไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระ 1 งวด และให้คิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด


2. อัตราค่าทวงถามหนี้ภาคสนามจะเก็บเพิ่มเติมสำหรับกรณีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์  สำหรับค่าใช้ลงพื้นที่ติดตามทวงถามหนี้ตามที่เกิดขึ้นจริงไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ และจะเก็บได้ต่อเมื่อลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด


3. การยุติการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ เพื่อแก้ปัญหาการเก็บค่าทวงถามหนี้หลายสิบงวดแบบไม่มีข้อจำกัด คณะกรรมการฯจึงกำหนดให้การเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้จะยุติเมื่อผู้ให้บริการได้รับชำระหนี้ครบตามจำนวน หรือ มีหนังสือบอกเลิกสัญญา แล้วแต่เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน


4. การกำหนดค่างวดที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ไม่ให้มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ เช่น สมมติมีค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ 750 บาท

 ถ้าลูกหนี้ค้างชำระค่างวด 1 งวด ไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ แต่ถ้าเกิดค้างชำระอีกเป็น 2 งวดค่างวดค้างชำระสะสมจะเท่ากับ 1,500 บาท กรณีเช่นนี้สามารถเก็บค่าทวงถามหนี้ได้ 50 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน เป็นต้นไป คาดว่าจะเริ่มช่วงเดือน ก.ย. นี้ คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้รายย่อยกว่า 12.24 ล้านบัญชี

 


ข่าวแนะนำ