TNN online เอสเอ็มอีหวั่นขยายเพดานเงินกู้-หนี้จ่อพุ่ง

TNN ONLINE

Wealth

เอสเอ็มอีหวั่นขยายเพดานเงินกู้-หนี้จ่อพุ่ง

เอสเอ็มอีหวั่นขยายเพดานเงินกู้-หนี้จ่อพุ่ง

เอสเอ็มอีหวั่นการขยายเพดานเงินกู้ลูกค้ารายใหม่-เก่าเป็น 50 ล้านบาท ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาความเดือดร้อนธุรกิจ กลับเพิ่มภาระให้ลูกหนี้แบกหนี้เพิ่ม เหตุแบงก์คิดดอกเบี้ยอัตราเดิม แนะแนวทางแก้ปัญหาจริงแบงก์ต้องลดดอกเบี้ยควบคู่ หวั่นเพิ่มเพดานวงเงินบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลหนุนหนี้ครัวเรือนพุ่ง

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เห็นควรให้ขยายวงเงินสินเชื่อ ลูกค้ารายใหม่จากสูงสุด 20 ล้านบาท เป็นสูงสุด 50 ล้านบาท และลูกค้าเก่าให้กู้ใหม่ได้ไม่เกินสูงสุด 50 ล้านบาท รวมถึงขยายเพดานวงเงินสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลว่า  ต้องขอดูความชัดเจนในเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขต่าง ๆ   ก่อน เพราะหากเป็นการขยายเพดานวงเงินการให้กู้ หรือวงเงินบัตรเครดิต แต่ไม่ได้ทบทวนเรื่องการเก็บดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่า ยังคิดอัตราเดิม เห็นว่าไม่ได้ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของเอสเอ็มอี หรือช่วยประคองธุรกิจที่เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องในทางตรงกันข้าม กลับเป็นการเพิ่มภาระให้กับลูกหนี้ที่เป็นเอสเอ็มและรายย่อย เพราะต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก  และมีเอสเอ็มอีไม่มีกี่รายเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ใหม่ได้


 " เรื่องดังกล่าวไม่ได้ช่วยเหลือเอสเอ็มอี   แต่สถานการณ์จะแย่ลง  จากเดิมธุรกิจเอสเอ็มอีตกหลุมรอเวลามีแรงที่จะปีนขึ้นมา  กลายเป็นผลักตกเหวเร็วขึ้น เพราะ ความเป็นจริงวันนี้เอสเอ็มอีรายได้น้อยลง แต่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายการดำเนินธุรกิจ ผ่อนหนี้ชำระต้นและดอกเบี้ย และพยุงแรงงาน แม้ได้กู้เงินก้อนใหม่ เหมือนมีรายจ่ายที่สูงขึ้น และสถานการณ์ค้าขายยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ เสี่ยงที่จะธุรกิจแบกรับไม่ไหว และหากธุรกิจล้มขายทอดตลาดหักลบหนี้กับธนาคารก็จะไม่เหลืออะไร หรืออาจไม่พอจ่ายหนี้คงค้างกับธนาคาร"

 

สำหรับวิธีที่จะช่วยเหลือได้ตรงจุด คือ ธนาคารน่าจะคิดดอกเบี้ยให้ลูกค้าเท่ากับดอกเบี้ยที่ธนาคารจ่ายให้ ธปท. 0.1% และรัฐบาลน่าจะรับโอนลูกหนี้ที่มีศักยภาพไปต่อได้จากธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ยอมลดดอกเบี้ย ให้กับธนาคารรัฐเติมเงินใหม่และคิดดอกเบี้ยเท่าซอฟต์โลน เชื่อว่าวงเงินซอฟต์โลนที่ค้างอยู่ 2.5 แสนล้านบาท ก็จะหมดในเวลาสั้นๆ เพราะตอนนี้เอสเอ็มอีต้องการ คือการเติมเงินพยุงสภาพคล่องและต้นทุนแบกหนี้ต่ำสุด  นอกจากนี้รัฐต้องเพิ่มเงินใหม่และลดดอกเบี้ยอีกทาง เช่น หนี้เดิมเคยจ่าย 8% ก็เหลือ 4% และหนี้ใหม่ที่ขยายเพดานกู้ให้ก็เก็บดอกเบี้ยต่ำกว่า 4%  และถ้าคิดดอกเบี้ยเท่ามาตรการซอฟต์โลนเก็บแค่ 1-2% เป็นเรื่องดี  


ทั้งนี้ ธปท.ควรหารือให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีแต่ละแบงก์ยังมีผลกำไรจากประกอบกิจการหลายหมื่นล้านบาท ลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ 50% ในระยะยาว หรือจนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจฝืดจะคลี่คลาย อย่างที่เอสเอ็มอีเสนอไปตลอดคือ พักหนี้พักดอก และเว้นดอกเบี้ยให้กับกลุ่มเปราะบาง จะเติมเงินใหม่อย่างเดียว แต่ดอกเบี้ยยังสูง หากเอสเอ็มอีแบกรับหนี้ไม่ไหวก็เสี่ยงต่อระบบการเงินประเทศในระยะยาวด้วย


นอกจากนี้การขยายเพดานวงเงินบัตรเครดิตเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะดอกเบี้ยคิดในอัตราสูง จะกลายเป็นการหนุนประชาชนสร้างหนี้ ระวังกลายเป็นเพิ่มหนี้ครัวเรือน จากการไม่มีวินัยการจ่ายชำระหนี้ และบัตรรูดเงินเกินรายได้ในอนาคต  และหากเห็นว่าเรื่องนี้อันตรายก็จะทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ทบทวนก่อนปัญหาเกิด 

ข่าวแนะนำ