TNN online ตลาดเงินเปิดรับความเสี่ยง บอนด์ยีลด์ลดดีกรีร้อนแรง

TNN ONLINE

Wealth

ตลาดเงินเปิดรับความเสี่ยง บอนด์ยีลด์ลดดีกรีร้อนแรง

ตลาดเงินเปิดรับความเสี่ยง บอนด์ยีลด์ลดดีกรีร้อนแรง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 30.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัว ตลาดเงินเปิดรับความเสี่ยงหลังบอนด์ยีลด์อ่อนตัวแตะระดับ 1.6% เกาะติดประชุมเฟด

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  30.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 30.74  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  โดยตลาดการเงินกล้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) มากขึ้น หลังยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง 3bps สู่ระดับ 1.6 % ทำให้ตลาดคลายกังวลปัญหาการเร่งตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ได้กดดันให้ตลาดเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา 


ทั้งนี้ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดหุ้นต่างปรับตัวขึ้นหนุนโดยภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนผ่าน ดัชนีภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก (NY Empire Manufacturing) ในเดือนมีนาคม ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 17.4 จุด สูงกว่าคาดมาก ทำให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า 0.65% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า 1.05% หลังยีลด์ 10ปี ย่อตัวลง ส่วนในฝั่งยุโรป แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เริ่มไม่สดใส หลังหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี ชะลอการฉีดวัคซีน Astrazenecca กดดันบรรยากาศการลงทุนโดยรวม ทำให้ ดัชนี DAX ของเยอรมนี ย่อตัวลง -0.3% ดัชนี STOXX60 ของยุโรป ก็ย่อตัวลง -0.1% 


ในฝั่งตลาดค่าเงินเงินดอลลาร์โดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันพฤหัสฯ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองเงินดอลลาร์อย่างชัดเจน โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทรงตัวที่ระดับ 91.83 จุด ทั้งนี้ สกุลเงินนิวซีแลนด์ดอลลาร์ (NZD) แข็งค่าขึ้น 0.11% สู่ระดับ 0.72 ดอลลาร์ต่อ NZD ท่ามกลางความต้องการ NZD จากดีล M&A ของบริษัท Tilt Renewables  


สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่อาจชะลอตัวลงเล็กน้อย -0.5% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่หนาวจัด ทั้งนี้ตลาดมองว่ายอดค้าปลีกจะกลับมาเร่งตัวขึ้นในเดือนมีนาคม หนุนโดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ 


ส่วนในฝั่งยุโรป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จะช่วยให้ภาคธุรกิจมีความมั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (ZEW Survey) เดือนมีนาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 74.0 จุด จาก 71.2 จุด ในเดือนก่อนหน้า ทว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจยุโรป อาจแย่กว่าที่ตลาดประเมินไว้ หลังการระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศยังมีความรุนแรงอยู่ และเริ่มมีการชะลอฉีดวีคซีน ทำให้การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อาจล่าช้า และกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้


ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตาม ภาวะเปิด/ปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของเงินดอลลาร์ และ ธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงในตลาดจากทั้งฝั่งผู้นำเข้า รวมถึงผู้ส่งออก โดยความผันผวนของเงินบาทในระยะสั้นนี้ อาจจะยังสูงอยู่ เนื่องจากเงินบาทพร้อมอ่อนค่าหรือแข็งค่า ตามเงินดอลลาร์ ซึ่งหากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงก็อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง 


อย่างไรก็ตาม จากภาพความผันผวนดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกรอทยอยขายเงินดอลลาร์หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ขณะที่ฝั่งผู้นำเข้าก็รอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.60-30.80  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ในช่วงก่อนการประชุม FOMC ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.65-30.80  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

ข่าวแนะนำ