TNN online ตลาดเงิน-ตลาดทุนขานรับนโยบาย"ไบเดน" มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านฉลุย

TNN ONLINE

Wealth

ตลาดเงิน-ตลาดทุนขานรับนโยบาย"ไบเดน" มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านฉลุย

ตลาดเงิน-ตลาดทุนขานรับนโยบายไบเดน  มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านฉลุย

เงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 30.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้าคลายกังวลบอนด์ยีลด์อ่อนตัว ขณะที่ตลาดการเงิน-ตลาดทุนเปิดรับความเสี่ยงหลังมาตรการเยียวยาโควิด"ไบเดน"ผ่านฉลุย

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ่ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  30.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 30.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  โดยตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาให้ความสนใจแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน สามารถผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินราว 1.9 ล้านล้าน ดอลลาร์ได้สำเร็จ 


ขณะเดียวกันตลาดก็คลายความกังวลปัญหาการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวอยู่ใกล้ระดับ 1.53%  ภาพดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้มีผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 2.2% เนื่องจากหุ้นขนาดเล็กมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ 


ส่วนดัชนีหุ้นโดยรวมอย่าง S&P500 ปรับตัวขึ้น 1.0% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯของสหรัฐฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า 2.5% หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี ทรงตัว ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนีตลาดหุ้นยุโรป STOXX50 ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 0.7% หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศชัดเจนว่าจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและอาจเข้าซื้อสินทรัพย์ในมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอีเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้บอนด์ยีลด์ในฝั่งยุโรปปรับตัวขึ้นไปมาก ตามบอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ 


ในส่วนตลาดค่าเงินพบว่า เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลัง ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวได้ และตลาดก็ไม่ได้กังวลปัญหาเงินเฟ้อหรือการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงกว่า 0.5% สู่ระดับต่ำกว่า 91.4 จุด หนุนให้ เงินปอนด์ (GBP) และ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นกว่า 0.4% สู่ระดับ 1.399 ดอลลาร์ต่อปอนด์ และ ระดับ 1.198 ดอลลาร์ต่อยูโร ตามลำดับ


อย่างไรก็ดี ความกังวลเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอาจกลับมาได้อีกครั้ง หลังจากที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังคงพุ่งขึ้นกว่า 2.4% สู่ระดับ 69.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบสามารถพยุงตัวเหนือระดับราคาดังกล่าวได้ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสามารถเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 2-3% ได้ 


สำหรับวันนี้ตลาดจะจับตาสัญญาณเงินเฟ้อ จากรายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในฝั่งสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า ความต้องการสินค้าตามภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมทั้ง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีก่อนหน้า จะทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เร่งตัวขึ้นจาก 1.7% สู่ระดับ 2.7% นอกจากนี้ ตลาดมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ จะช่วยหนุนให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนมีนาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 88.3จุด จาก 86.2จุด ก่อนหน้า


ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ทิศทางของยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ ซึ่ง ถ้าหาก ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงหรือทรงตัวได้ ตลาดก็สามารถกล้าเปิดรับความเสี่ยง กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและหนุนให้ค่าเงินอาจแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังจะได้รับแรงหนุนจาก แรงซื้อสินทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้น  (ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้า) ที่อาจทยอยเพิ่มมากขึ้น ตามมุมมองการลงทุนของผู้เล่นในตลาดที่จะเน้นสินทรัพย์ Cyclical


อย่างไรก็ดี แรงซื้อดอลลาร์ของผู้นำเข้าก็เริ่มขยับขึ้นมาใกล้ระดับ 30.50  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ทำให้เงินบาทอาจจะไม่ได้แข็งค่าไปมากนัก  แต่ถ้าตลาดผันผวนหนักต่อและกดดันให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับแข็งค่า เงินบาทก็อาจอ่อนค่ากลับไปได้ถึงระดับ 30.75-30.90  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่รอขายเงินดอลลาร์ 


นอกจากนี้ผู้ส่งออกอาจเริ่มพิจารณาใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น อาทิ Option (แต่อาจจะต้องรอให้ ความผันผวนตลาดลดลงก่อน) เนื่องจากทิศทางตลาดการเงินในช่วงนี้ สามารถพลิกกลับไป/มา ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.50-30.60  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

ข่าวแนะนำ