TNN online คลังอัด "เงินท่วมโลก" สู้ Covid-19

TNN ONLINE

Wealth

คลังอัด "เงินท่วมโลก" สู้ Covid-19

คลังอัด เงินท่วมโลก สู้ Covid-19

การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก จนหลายประเทศเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดฉีดเม็ดเงิน จนเป็นไปได้ว่าเงินอาจท่วมโลกอีกครั้ง

นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ มีความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกว่า มีแนวโน้มจะฟื้นตัวเล็กน้อย โดยจะเติบโต 3.3% ในปีนี้ เทียบกับ 2.9% เมื่อปีที่แล้ว แต่การฟื้นตัวที่คาดการณ์ไว้นั้น ยังมีความเปราะบางมาก ในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสในหลายประเทศ ขณะนี้กว่า 80 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ ร้องขอความช่วยเหลือมายังไอเอ็มเอฟแล้ว สถานการณ์ในขณะนี้ยังประเมินยากว่าจะจบอย่างไร เพราะตัวเลขผู้ติดไวรัสทั่วโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของจีนในปี 2563 ลงสู่ระดับ 5.6% โดยลดลง 0.4% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนม.ค. เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และว่า จากเส้นฐานปัจจุบันของไอเอ็มเอฟ เศรษฐกิจจีนอาจจะกลับสู่ภาวะปกติได้ในไตรมาสที่ 2

ส่วนเจพีมอร์แกน วาณิชธนกิจชั้นนำของอเมริกา คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะหดตัวถึง 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สืบเนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดใหญ่ในขณะนี้และนโยบายสกัดการแพร่ระบาด       

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จึงพากันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้วยการลดดอกเบี้ยและการเข้าซื้อสินทรัพย์มูลค่ามหาศาล ซึ่งขณะนี้สามารถบรรเทาความตึงเครียดด้านสภาพคล่องในตลาดได้บ้าง

เราจะมาไล่เรียงตัวเลขเงินที่อัดฉีดลงไปในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศพี่ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา  นั่นหมายความว่าหากพี่ใหญ่ฟื้นเร็ว เศรษฐกิจโลกก็จะดีไปด้วย 

คลังอัด เงินท่วมโลก สู้ Covid-19

แสดงให้เห็นถึงเม็ดเงินมหาศาลที่ กระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 62 ล้านล้านบาท) ที่สภาคองเกรสมีมติอนุมัติ  นับเป็นมาตรการฉุกเฉินที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา โดยรายละเอียดการใช้เงินสำคัญๆ ประกอบด้วย 
-มาตรการช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
-มาตราการปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจรายย่อยมูลค่า 3 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
-มาตรการแจกเงินประชาชนมูลค่า 2 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
-มาตรการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมูลค่า 2 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
-มาตรการจ่ายเงินรัฐบาลท้องถิ่นอีก 1 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
-มาตรการจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่โรงพยาบาล 1 แสน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

คลังอัด เงินท่วมโลก สู้ Covid-19

ภายใต้งบประมาณมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐครั้งนี้ “อุตสาหกรรมการบิน” ในสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จะได้รับเงินช่วยเหลือรวมมูลค่าถึง 5 หมื่น 8 พันล้านดอลลาร์ โดยในจำนวนนี้ จะแบ่งเป็นเงินอุดหนุนให้เปล่าและเงินกู้แก่สายการบินต่างๆ อย่างละ 2 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอีก 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่เหลือ จะเป็นเงินกู้และเงินอุดหนุนแก่ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ

คลังอัด เงินท่วมโลก สู้ Covid-19

เป็นตัวเลขที่สภาคองเกรสอนุมัติงบประมาณฉุกเฉินมูลค่า 112,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ไปในการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัส รวมถึงการรักษาและการตรวจโรค ขณะที่อีกส่วนจะใช้เพื่อจ่ายค่าแรงเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์แก่พนักงานที่ต้องลาหยุด เนื่องจากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 

ขณะที่ ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ  หรือ “ เฟด” ได้ประกาศมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเช่นกัน ด้วยมาตรการการซื้อพันธบัตรรัฐบาลวงเงินอย่างน้อย 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / รวมไปถึงหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน หรือ MBS อย่างน้อย 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / และ มาตการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้กับนายจ้าง ผู้บริโภค และธุรกิจต่างๆ วงเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ 

คลังอัด เงินท่วมโลก สู้ Covid-19

ไล่มาดูรองพี่ใหญ่ ที่เรายกมาคือ อังกฤษ ออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 3 แสน 3 หมื่นล้านปอนด์ (หรือประมาณ 13 ล้านล้านบาท) ซึ่งประกอบด้วย
-การรับประกันเงินกู้โดยรัฐบาล
-มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับธุรกิจค้าปลีก / บริการ / และธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เป็นระยะเวลา 12 เดือน
-เงินช่วยเหลือลูกจ้าง 80 เปอร์เซนต์เงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 2 พัน 500 ปอนด์ต่อเดือน (หรือประมาณ 1 แสนบาทต่อเดือน)
-เงินช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระ 80 เปอร์เซนต์ของกำไรเฉลี่ยต่อเดือน แต่สูงสุดไม่เกิน 2 พัน 500 ปอนด์ต่อเดือนเช่นกัน
และ ได้ประกาศซื้อพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทภาคเอกชนในวงเงิน 2 แสนล้านปอนด์ (หรือประมาณ 8 ล้านล้านบาท) เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

คลังอัด เงินท่วมโลก สู้ Covid-19

มาดูทางฝั่งยุโรป  รัฐบาลเยอรมนีเผยมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจสูงถึง 7 แสน 5 หมื่นล้านยูโร (หรือประมาณ 26 ล้านล้านบาท) เพื่อสนับสนุนเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจ

รัฐบาลฝรั่งเศสอนุมัติมาตรการช่วยเหลื่อธุรกิจขนาดย่อมและลูกจ้างที่ตกงานมูลค่า 4 หมื่น 5 พันล้านยูโร (หรือประมาณ 1 ล้าน 6 แสนล้านบาท) และโครงการรับประกันเงินกู้อีก 3 แสนล้านยูโร (10 ล้านล้านบาท)

ธนาคารกลางยุโรป หรือ อีซีบี (ECB) ประกาศการซื้อหลักทรัพย์จากภาคเอกชน รวมไปถึงหนี้สาธารณะของรัฐบาลประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปวงเงิน 7 แสน 5 หมื่นล้านยูโร หรือกว่า 26 ล้านล้านบาท

และรัฐสภายุโรปได้อนุมัติกองทุนฉุกเฉิน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือสายการบินในยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 3 หมื่น 7 พันล้านยูโร  

คลังอัด เงินท่วมโลก สู้ Covid-19

มาดูที่ที่ฝั่งเอเซียแฟซิฟิกกันบ้าง เริ่มต้นที่ จีน ซึ่งเป็นต้นตอและศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัส ได้ออกมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจ 116 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 500 ล้านล้านบาท) รวมทั้ง มาตรการลดหย่อนภาษีอีก 8 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 3 ล้าน 6 แสนล้านบาท) และประกาศใช้มาตรการ Credit easing เพื่อบรรเทาการตึงตัวในตลาดสินเชื่อโดยตรง ด้วยการซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น หุ้น และหุ้นกู้ วงเงิน 1 ล้าน 1 แสน 5 หมื่นล้านหยวน (กว่า 5 ล้านล้านบาท)   

ส่วนญี่ปุ่น ประกาศ Emergency response มูลค่าประมาณ 16 ล้านล้านเยน  และธนาคารกลางญี่ปุ่นเสนอซื้อพันธบัตร 200,000 ล้านเยน (1,900 ล้านดอลลาร์) นอกเหนือจากการอัดฉีดเงินทุนระยะสั้นในก่อนหน้านั้น โดยเป็นการปฏิบัติการที่อยู่นอกกำหนดการและให้ประชาชนสามารถกู้เงินฉุกเฉินได้คนละ 1 – 2 แสนเยน โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย 
และรัฐบาลออสเตรเลีย อักฉีดเงินมูลค่า รวม 83.7  พันล้านดอลลาร์ออตเตรเลีย และ ธนาคารกลางออสเตรเลียได้อัดฉีดสภาพคล่องผ่านปฏิบัติการซื้อคืนประจำวัน 8,800 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (5,500 ล้านดอลาร์สหรัฐ)

ส่วนประเทศสิงคโปร์แจกเงินสดให้ประชาชนทุกคน อายุ 21 ปีขึ้นไป ระหว่าง 100-300 ดอลลาร์สิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ (ประมาณ 3,000-7,000 บาท) รวมถึงให้เงินเพิ่มอีก 100 ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรอายุไม่เกิน 20 ปี และมอบบัตรช้อปปิ้งให้ชาวสิงคโปร์ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพื่อนำไปซื้อสินค้าตามซุปเปอร์มาร์เก็ต
ด้านฮ่องกง แจกเงินให้กับคนในประเทศ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (40,500 บาท) 

ปิดท้ายที่รัฐบาลไทย ก็แจกเงินให้กลุ่มคนตกงานเดือนละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงินคนละ 1.5 หมื่นบาท มีเป้าหมาย 9 ล้านคน คาดว่าจะต้องใช้เงิน 1.35 แสนล้านบาท  ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย อัดฉีดสภาพคล่อง รวม 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตลาดเงิน ตลาดทุนไทย   และคาดว่ามาตรการระยะ 3 จะอัดฉีดกันมโหฬารมากกว่า นี้  

นี่คือการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่กระทรวงการคลัง และธนาคารกลางทุกแห่ง พร้อมใจกันทำ เพื่อก้าวข้าม โควิด-19 ไปให้ได้

รับชมรายการเศรษฐกิจ Insight
ตอน  'เงินท่วมโลก' สู้COVID 19 เดิมพันฟื้นประเทศ | ย่อโลกเศรษฐกิจ 1 เม.ย.63


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง