TNN online ร.ฟ.ท.นัดเอกชนสรุปแบบ”ไฮสปีดเทรน”

TNN ONLINE

Wealth

ร.ฟ.ท.นัดเอกชนสรุปแบบ”ไฮสปีดเทรน”

ร.ฟ.ท.นัดเอกชนสรุปแบบ”ไฮสปีดเทรน”

ร.ฟ.ท. เร่งเดินหน้าโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน นัดกลุ่ม ซีพี ถกแบบก่อสร้างโครงการ ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ ส่วนการส่งมอบพื้นที่ เบื้องต้นยังเป็นไปตามแผนเดิม คือ ช่วงสุวรรณภูมิ -อู่ตะเภา ส่งมอบได้ทันที

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ  ร.ฟ.ท. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา หลังลงนามสัญญาร่วมทุน ระหว่าง ร.ฟ.ท. กับ บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่มี กลุ่มซีพี เป็นผู้ถือหุ้นหลัก เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยระบุว่า ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะหารือร่วมกันถึงรายละเอียดของแบบก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง

ส่วนแผนการส่งมอบพื้นที่ ยังเป็นไปตามเดิม โดยพื้นที่ที่มีความพร้อมส่งมอบได้ทันที คือ  ช่วงสุวรรณภูมิ -อู่ตะเภา ซึ่งจะส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 1 ปี  และคาดว่า จะเป็นส่วนแรกที่เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ 

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า  ภายในเดือนมกราคม 2563  จะรู้ผลการรื้อย้ายแต่ละส่วน หลังจากนั้นจะเริ่มทำสัญญามอบพื้นที่ รวมทั้งการออกแบบก่อสร้างโครงการที่ปัจจุบันทางกลุ่มซีพีอยู่ระหว่างดำเนินการ  ส่งผลให้การทำงานเห็นภาพชัดเจนขึ้น 

ก่อนหน้านี้ ได้กำหนดแผนส่งมอบพื้นที่ของ ร.ฟ.ท. เป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่ที่มีความพร้อมส่งมอบได้ทันที ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา คาดว่าจะใช้เวลาส่งมอบแล้วเสร็จ ประมาณ 1 ปี หลังลงนามสัญญา ,ช่วงโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีความพร้อมส่งมอบแล้ว แต่มีเงื่อนไขเอกชนจะต้องจ่ายค่าโอนสิทธิ์บริหารประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ให้แล้วเสร็จ ซึ่งมีกรอบกำหนดว่า กลุ่มซีพี จะต้องจ่ายค่าโอนสิทธิ์ ให้ครบทั้งหมดภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญา ,และพื้นที่ที่ยังไม่พร้อมส่งมอบ เนื่องจากต้องรื้อถอนระบบสาธารณูปโภค รวมถึง ปัญหาผู้บุกรุก คือ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ซึ่งใช้เวลาทยอยส่งมอบให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญา

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เป็น 1 ใน 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี  ในการเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ ซึ่งทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดใน อีอีซี  สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลา และต้นทุนในการเดินทางเมื่อเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น อีกทั้ง ยังเป็นโครงการแรกที่เข้าสู่กระบวนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ของ อีอีซี 



ข่าวแนะนำ