TNN online ถึงเวลารัฐใช้ยาแรง รับมือวิกฤต "เลิกจ้าง"

TNN ONLINE

Wealth

ถึงเวลารัฐใช้ยาแรง รับมือวิกฤต "เลิกจ้าง"

ถึงเวลารัฐใช้ยาแรง รับมือวิกฤต เลิกจ้าง

ผลพวงของสงครามการค้า ที่ทำให้การส่งออกไทยดิ่งหนัก กระทบผู้ประกอบการสู้ไม่ไหว ต้องปิดโรงงานเลิกจ้างกันถี่ขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนวิกฤติ "ว่างงาน" กลับมาอีกครั้ง!

วันนี้เราจะเห็นได้ว่าการปิดโรงงานเริ่มเห็นกันถี่ขึ้นๆ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่ จากผลพวงของสงครามการค้า ที่ทำให้การส่งออกไทยดิ่งหนัก จนกระทบต่อการจ้างงานตามมา แล้วอะไรควรเป็นแนวทางที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือแรงงาน ก่อนจะเกิดวิกฤต "เลิกจ้าง" โดยเฉพาะในปีหน้า ซึ่งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในสถานการณ์ที่สาหัสมากกว่าปีนี้

การหั่นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อสัปดาห์ก่อน ลงสู่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเทียบเท่ากับช่วงที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ก่อนจะลุกลามกลายเป็นวิกฤติการเงินโลกในปี 2552 หรือเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในยามนี้ได้เป็นอย่างดี 

และท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยืดเยื้อมาเป็นแรมปี ได้ส่งผลกระทบต่อกระทบต่อภาคธุรกิจ และ "จ้างงาน" ในไทยหนักหน่วงมากขึ้น และแม้ว่าขณะนี้สถานการณ์การ "ว่างงาน" จะไม่รุนแรงเท่ากับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งมีจำนวนคนไทย "ตกว่าง" พุ่งขึ้นแตะ 1 ล้านคน และอาจสูงถึง 1.3 ล้านคน

แต่นี่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าวิกฤติ "ว่างงาน" อาจกลับมาอีกครั้ง

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปีจำนวนของธุรกิจและโรงงานที่ปิดกิจการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ข่าวคราวการปิดโรงงานและลอยแพพนักงานเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น เช่น เมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา บริษัท ซันโย เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) ซึ่งประกอบกิจการผลิตแม่พิมพ์ ที่ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 

ถึงเวลารัฐใช้ยาแรง รับมือวิกฤต เลิกจ้าง

จากนั้นก็มีหลายบริษัทเลิกจ้างพนักงานบางส่วน หรือหยุดการผลิตชั่วคราว เนื่องจากกออเดอร์ลดลง เช่น บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ผู้ผลิตรถยนต์ GM ที่เลิกจ้างพนักงานบางส่วน 300 คน ,บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบัง ออโตพาร์ท ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ประกาศหยุดการผลิตบางส่วนเป็นเวลา 2 เดือน เป็นต้น 

แต่ก่อนหน้านี้ที่จะมีการเลิกจ้างและปิดกิจการจะชัดเจนมากขึ้น เมื่อเดือนก.ค.62  "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ได้ทำการสำรวจสถานการณ์การจ้างงานพบว่า เริ่มมีสัญญาณการเลิกจ้าง และการลดเวลาในการทำ OT ของพนักงานเพื่อประหยัดงบประมาณบริษัท ขณะที่การชะลอรับพนักงานใหม่ในเดือนก.ค.62 มีอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจในช่วงเดือนเม.ย.62

นอกจากนี้ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ยังได้ทำการสำรวจสถานการณ์การจ้างงานในองค์กร/บริษัท/หน่วยงานที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของกิจการในเดือนต.ค.62 พบว่า 8.5% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชี้ว่าสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรของตนมีการส่งสัญญาณการเลิกจ้าง เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเดือนก.ค.62 ที่อยู่ที่ 3.8% 

สัญญาณการเลิกจ้างดังกล่าว ยังสอดคล้องกับผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในเดือนต.ค.62 ที่เพิ่งออกมาล่าสุดพบว่า จำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 37 ล้านคน ลดลง 6 แสนคน เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.61 หรือลดลง 1.59% แบ่งเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรที่ลดลง 3 แสนคน และแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 3 แสนคน 

ถึงเวลารัฐใช้ยาแรง รับมือวิกฤต เลิกจ้าง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนผู้มีงานทำในเดือน ต.ค.62 จะพบว่า จำนวนผู้มีงานทำหดตัว 1.5% นั้นเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับจากเดือนก.ค.ที่ผู้มีงานทำหดตัว 2.6% เดือนส.ค.หดตัว 1.7% เดือนก.ย.ที่หดตัว 1.5% อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้มีงานทำที่ลดลงดังกล่าว สอดคล้องกับจำนวนผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานที่ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน 

ถึงเวลารัฐใช้ยาแรง รับมือวิกฤต เลิกจ้าง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสาเหตุการลาออกจากงานหรือหยุดทำงานครั้งสุดท้ายของผู้ว่างงานที่เคยทำงาน ซึ่งมีจำนวน 1.85 แสนคน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ลาออกจากงานเอง แต่ยังไม่มีงานใหม่ ซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ 1.22 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 5,000 คน เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.61 ที่มีจำนวน 1.17 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 9.89% 

ขณะที่แรงงานที่เคยมีงานทำแต่ตกงาน เพราะถูกนายจ้างเลิก/หยุด/ปิดกิจการ มีจำนวน 2.61 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 1.76 หมื่นคน เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.61 ที่มีจำนวน 8,500 คน หรือเพิ่มขึ้น 207% และแรงงานที่ตกงาน เพราะหมดสัญญาจ้างและไม่มีการต่อสัญญาใหม่ มีจำนวน 2.37 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 1.04 หมื่นคน เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.61 ที่มีจำนวน 1.33 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้น 78.1%

ถึงเวลารัฐใช้ยาแรง รับมือวิกฤต เลิกจ้าง

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากยอดการปิดโรงงาน พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.62) จำนวนกิจการโรงงานที่แจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน และจำหน่ายทะเบียนโรงงาน มีจำนวน 1,989 แห่ง เทียบกับ 10 เดือนของปี 61 (ม.ค.-ต.ค.62) ที่มีการปิดโรงงาน 1,290 แห่ง เพิ่มขึ้น 699 โรงงาน  หรือเพิ่มขึ้น 54% 

ส่วนจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานอยู่ที่ 49,157 คน เทียบกับ 10 เดือนของปี 61 ที่มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 33,507 คน เพิ่มขึ้น 15,650 คน หรือเพิ่มขึ้น 47%

แน่นอนว่าสถานการณ์การปิดกิจการและการเลิกจ้างแรงงาน น่าจะยังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า จากประเด็นสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่จะยังไม่ยุติได้โดยง่าย และน่าจะลากยาวไปจนกระทั่งผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปี 63 ไปแล้ว ซึ่งจะส่งให้การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รวมไปถึงการลดเวลาการทำงานของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในภาคการผลิตเพื่อส่งออก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อรองรับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องมายังการจ้างงาน แต่ดูเหมือนว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ได้ส่งผ่านไปยังแรงงานที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือเรียกว่าแรงงานนอกภาคเกษตรมากนัก

เนื่องจากที่ผ่านมาเม็ดเงินที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเกษตรกร ที่ได้รับการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้กับผู้ปลูกข้าว รวมถึงการช่วยเหลือผ่านโครงการประกันรายได้ชาวนา ชาวสวนยาง ชาวสวนปาล์ม และผู้ปลูกมันสำปะหลัง เป็นต้น 

ถึงเวลารัฐใช้ยาแรง รับมือวิกฤต เลิกจ้าง

ขณะที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและกำลังซื้อของประชาชนผ่านโครงการ "ชิมช้อปใช้" ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการมาแล้วในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 13 ล้านคน และภาครัฐจ่ายเงินสนับสนุนค่าซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 1.3 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น วันนี้โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปดำเนินการ นั่นก็คือการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงไปยังกลุ่มแรงงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในภาคส่งออก ซึ่งมีประมาณ 10 ล้านคน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่างๆที่เกิดจากการผลิตและการส่งออกที่ชะลอตัว ก่อนที่สถานการณ์การเลิกจ้างจะลุกลามรุนแรงมากกว่า 

และแม้ว่าก่อนหน้านี้ "ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะสั่งการให้กรมจัดหางานเตรียมตำแหน่งงานว่าง 7.92 หมื่นตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งงานในด้านการผลิต งานขาย ตำแหน่งเสมียน พนักงานทั่วไป พนักงานธุรการ  พนักงานบริการลูกค้า เป็นต้น เพื่อรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง อันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงาน แต่นั่นก็ถือเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ 

อีกทั้งตำแหน่งงานว่างดังกล่าวอาจไม่เป็นที่สนใจของแรงงานที่ตกงานมากนัก โดยเฉพาะหากเป็นสายงานที่ไม่ถนัด หรือทำให้ต้องย้ายที่อยู่ใหม่ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูในอดีตเมื่อครั้งเกิดวิกฤติการเงินโลก ซึ่งที่ส่งผลกระทบการส่งออกและเศรษฐกิจไทย และทำให้เกิดวิกฤติ "เลิกจ้าง" เมื่อ 10 ปีก่อน ผลปรากฎว่ารัฐบาลในสมัยนั้นได้เข็นมาตรการรับมือผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐจากภายนอก โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการช่วยเหลือแรงงานก่อนที่จะถูก "เลิกจ้าง"

ถึงเวลารัฐใช้ยาแรง รับมือวิกฤต เลิกจ้าง

เช่น การดำเนินการโครงการสินเชื่อ "ชะลอเลิกจ้าง" วงเงินสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท โดยภาครัฐจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก แต่มีเงื่อนไขให้รักษาการจ้างงาน โดยตั้งเป้ารักษาสภาพการจ้างงานให้แรงงานในระบบประกันสังคม 6 หมื่นคน

โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานฯ โดยเปิดอบรมหลักสูตรต่างๆให้แก่ผู้ว่างงาน หรือถูกเลิกจ้าง รวมถึงบัณฑิตใหม่ตกงาน เป็นคอร์สสั้นๆ 1 เดือน โดยภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนการอบรมรายละไม่เกิน 5,000 บาท และได้รับเงินอุดหนุนเพื่อประกอบกอบอาชีพ 4,800 บาท/เดือนเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งเป้ามีผู้เข้าร่วมโครงการ 5 แสนคนใช้งบกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท ให้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่มีเงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท/เดือน ซึ่งใช้งบ 1.5 หมื่นล้านบาท มีผู้ได้ประโยชน์ 7.5 ล้านคน

จากนี้คงต้องติดตามกันว่า เศรษฐกิจปีหน้าที่มีทีท่าจะเข้าสู่สถานการณ์ "สาหัส" ยิ่งกว่าปีนี้ รัฐบาลจะเข้าไปจัดการอย่างไร โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการเพื่อรับมือกับวิกฤติ "เลิกจ้าง" ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้เลย  


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง