TNN คลังให้อิสระ "แบงก์ชาติ" พิจารณาดอกเบี้ย เน้นช่วยประชาชนเข้าถึงสินเชื่อมากกว่า

TNN

Wealth

คลังให้อิสระ "แบงก์ชาติ" พิจารณาดอกเบี้ย เน้นช่วยประชาชนเข้าถึงสินเชื่อมากกว่า

คลังให้อิสระ แบงก์ชาติ พิจารณาดอกเบี้ย  เน้นช่วยประชาชนเข้าถึงสินเชื่อมากกว่า

คลังให้อิสระ "แบงก์ชาติ" พิจารณาดอกเบี้ย เน้นช่วยประชาชนเข้าถึงสินเชื่อมากกว่า

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า การทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น คงต้องปล่อยให้อิสระและเป็นหน้าที่ของ ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 


เพื่อที่จะใช้วิจารณาณ เครื่องมือและผลการวิเคราะห์ เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1-3% ตามหลักการจะมีการทบทวนทุกปี จึงเห็นว่าต้องปล่อยให้หน่วยงานทำหน้าที่ต่อไป


"ปัญหาอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือสูงไม่ได้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนควรเป็นสิ่งแรกที่จะต้องทำ โดยหากถามประชาชนว่าหากให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงครึ่งเปอร์เซ็นต์กับการเข้าถึงสินเชื่อ เชื่อว่าน่าจะเลือกการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นมากกว่า" 


ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น คลังจะไม่แตะเพราะเป็นเรื่องที่ต้องดูหลายอย่าง หากลดลงคงเป็นผลในแง่ของการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจบ้านเราจะดีขึ้นได้ไหม ภาวะเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่นักลงทุนที่จะเข้ามาใช้คาดการณ์ไปข้างหน้ามากกว่า


"อยากทำเพื่อให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รายย่อยและภาคครัวเรือน ผู้กู้รายเดิมที่ยังมีปัญหา หรือกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อยากฝากให้ ธปท. ไปพิจารณาดูเพื่อปรับปรุงแนวทางให้กลุ่มดังกล่าวเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น" 


เพราะที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการออกประกาศมาหลายฉบับและส่งไปที่สถาบันการเงินว่าเรื่องนี้ให้ทำอย่างไร ก็มองว่าตรงนี้ต้องมาหารือกันอีกครั้งเพื่อให้เข้าใจตรงกัน เพราะมีทั้งข้อที่รู้สึกว่ายืดหยุ่นได้ไหม และเรื่องนี้ต้องมีกรอบเวลาในการดำเนินการ คงรอไม่ได้ และเชื่อว่าสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่งก็อยากเข้ามาช่วยในส่วนนี้


"เชื่อว่าสถาบันการเงินจะมีวิธีที่ดีในการยืดหยุ่นการให้ผ่อนเกณฑ์การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ภายใต้กรอบที่สามารถทำได้ เพราะมองว่าทั้งหมดเป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาภาพรวมการเข้าถึงสินเชื่อ หากแก้ไขส่วนนี้ได้ ผลที่ได้คือยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะลดลง และกลุ่มเอสเอ็มอี รายย่อย และภาคครัวเรือนที่มีปัญหา จะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น"


เรื่องนี้สำคัญกว่าเรื่องอื่นเพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสถาบันการเงินของไทยค่อนข้างเข้มแข็ง อัตราส่วนต่าง ๆ เข้มแข็งไม่น้อยหน้าใคร อาทิ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) และเมื่อสถาบันการเงินแข็งแรงแล้ว ก็อยากให้มองว่ามีโอกาสที่จะปรับการเข้าถึงสินเชื่อให้กลุ่มที่กำลังโฟกัสให้มากขึ้นได้หรือไม่ 


เพราะหากมองพอร์ตสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งหมดแล้ว กลุ่มที่ต้องการจะช่วยเหลือไม่ได้ใหญ่ ดังนั้นการจะหยิบแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาจากแต่ละสถาบันการเงินมาดำเนินการมันแค่นิดเดียว จึงมองว่าตรงนี้หากมีอะไรที่สามารถทำได้ และไม่ทำให้วินัยการปล่อยสินเชื่อผิดพลาด ก็เชื่อว่ายังมีช่องว่างให้ทำได้อีกมาก


"หลังจากนี้กระทรวงการคลังคงจะมีการหารือร่วมกับ ธปท. บ่อยมากขึ้น ซึ่งต่างคนคงต้องกลับไปทำการบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการทำให้กลุ่มที่มีปัญหาสามารถเข้าถึงแหล่เงินทุนได้มากขึ้น ส่วนประเด็นที่เห็นสอดคล้องกัน คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นสิ่งที่รัฐบาลเร่งทำอยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทำเสร็จใน 1-2 ปี"

ข่าวแนะนำ