TNN online ธนาคารทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย เตือน! ไม่จำเป็นอย่าก่อหนี้เพิ่ม

TNN ONLINE

Wealth

ธนาคารทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย เตือน! ไม่จำเป็นอย่าก่อหนี้เพิ่ม

ธนาคารทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย เตือน! ไม่จำเป็นอย่าก่อหนี้เพิ่ม

ทิศทางดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยทยอยปรับขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบธนาคารสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.85 -7.05 ต่อปี ประชาชนต้องระมัดระวังไม่จำเป็นไม่ควรก่อหนี้สินเพิ่ม

ทิศทางดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยทยอยปรับขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบธนาคารสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.85 -7.05 ต่อปี ประชาชนต้องระมัดระวังไม่จำเป็นไม่ควรก่อหนี้สินเพิ่ม


ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาแล้วรวม 6 ครั้งติดต่อกัน ครั้งละร้อยละ 0.25 นับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 จากร้อยละ 0.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมปีนี้ที่ผ่านมา  

หลังกนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อได้เนื่อง ตามภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยคาดเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 แต่มองเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับขึ้นได้อีกในระยะต่อไป

ขณะที่ ตลาดเงินคาดว่า ธปท.มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1-2 ครั้ง ไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.25-2.50 ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทิศทางดังกล่าวทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ที่ธนาคารพาณิชย์มักคิดอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ทยอยปรับขึ้นตามไปด้วย 

ธนาคารพาณิชย์ไทยที่นำร่องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามธปท.เป็นธนาคารแรก คือ ธนาคารกรุงเทพ  ปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.05-0.25 ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.20 ทำให้ดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา หรือ เอ็มแอลอาร์ เพิ่มเป็นร้อยละ 6.85 ต่อปี 

ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ เอ็มโออาร์ เพิ่มเป็นร้อยละ 7.30 และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ เอ็มอาร์อาร์ เพิ่มเป็นร้อยละ 7.05 มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2566

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทย ก็ประกาศปรับดอกเบี้ยเงินฝาก ขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.05 - 0.25 และปรับดอกเบี้ยเงินกู้ ขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.20 ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ อยู่ที่ร้อยละ  7.02 ดอกเบี้ยเงินกู้ เอ็มโออาร์ อยู่ที่ร้อยละ 7.34 และดอกเบี้ยเงินกู้ เอ็มอาร์อาร์ อยู่ที่ร้อยละ  7.05 ต่อปี 

 ส่วนธนาคารกรุงไทย ก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.25% ต่อปี และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 0.20% ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นี้เป็นต้นไป

ส่วนในฝั่งธนาคารรัฐ พบว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 0.25 เพิ่มเป็นร้อยละ 6.50 ต่อปี  ขณะที่ธ.ก.ส. ประกาศปรับ ขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยเงินฝาก สูงสุดร้อยละ 0.50 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทร้อยละ 0.01 – 0.25 ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 เช่นกัน 

ภาวะที่ธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เช่นนี้ ประชาชนผู้บริโภคต้องระมัดระวังการก่อหนี้ให้มากขึ้น ไม่จำเป็นไม่ควรก่อหนี้สินเพิ่ม เพราะภาระจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นแล้ว



ภาพจาก TNN ONLINE


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง