TNN online เปิดแนวคิด “กนกกัญจน์ มธุรพร” ลงมือทำ ต่อยอดสร้างพื้นที่ส่วนตัวคิดค้นสินค้าใหม่

TNN ONLINE

Wealth

เปิดแนวคิด “กนกกัญจน์ มธุรพร” ลงมือทำ ต่อยอดสร้างพื้นที่ส่วนตัวคิดค้นสินค้าใหม่

เปิดแนวคิด “กนกกัญจน์ มธุรพร” ลงมือทำ ต่อยอดสร้างพื้นที่ส่วนตัวคิดค้นสินค้าใหม่

เปิดแนวคิด “กนกกัญจน์ มธุรพร” ลงมือทำ ต่อยอดสร้างพื้นที่ส่วนตัวคิดค้นสินค้าใหม่

 เส้นทางธุรกิจของแต่ละคนมีที่มาที่แตกต่างกัน บ้างก็มาด้วยความด้วยใจก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จ บ้างก็เกิดมาด้วยความไม่ตั้งใจ หรือเรียกว่าความบังเอิญทางธุรกิจจนประสบความสำเร็จ


“กนกกัญจน์ มธุรพร” หรืออร สาวสวยผู้มีดีกรีเป็นถึงนางฟ้าของสายการบินแห่งหนึ่งก็เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางของการทำธุรกิจแบบที่ตัวเธอเองก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิต ทำให้ตัวเธอต้องก้าวเข้าสู่วงการธุรกิจอย่างเต็มตัว จนสามารถสร้างรายได้ไปถึงหลัก 200 ล้านบาทภายในระยะเวลา 10 ปี ภายใต้การเป็นเจ้าของขนมเปี๊ยะไส้หมูแดง “เอพริล เบเกอรี่” (April ’s bakmujgdbfery)


จากนางฟ้าสู่ธุรกิจ

กนกกัญจน์ เล่าให้ฟังว่า ตัวเธอเคยทำงานเป็นแอร์โฮสเตสให้กับสายการบินแห่งหนึ่งของต่างประเทศเป็นระยะเวลา 3 ปี แต่ก็ต้องมาเจอกับปัญหาทางด้านสุขภาพ รวมถึงการถูกปฏิบัติแบบไม่เท่าเทียมจากเพื่อร่วมงานต่างชาติ ทำให้ตัวเธอตัดสินใจลาออกจากการเป็นนางฟ้าบนเครื่องบิน และด้วยความที่ตัวเธอเองก็ไม่ต้องการกลับบ้าน ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด เพื่อช่วยกิจการร้านค้าวัสดุก่อสร้าง โดยมีหน้าที่เพียง นั่งนับสต็อก ทอนเงิน ซึ่งดูจะน่าเบื่อเกินไปสำหรับคนที่กำลังมีไฟ มีฝันแบบเธอ


สำหรับธุรกิจแรกที่ตัวเธอกระโดดเข้าไปก็คือการเปิดร้านกาแฟที่ CDC ด้วยเงินทุนที่ตัวเธอได้มาจากการออกจากงานประจำ โดยคิดว่าร้านกาแฟเป็นธุรกิจดาวรุ่งในสมัยนั้น ซึ่งตรงกันข้ามกับตัวเธอที่ไม่ชอบดื่มกาแฟ แต่ชอบทำขนมมากกว่า โดยตัวเธอมุ่งหวังที่จะขายขนมในร้าน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถประครองธุรกิจแรกของเธอให้ไปต่อได้ ต้องเซ้งกิจการต่อให้กับผู้อื่นได้มาทำต่อแทน


อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ และไม่ยอมที่จะถอยกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด จึงใช้ฝีมือผสมกับความชอบในการทำเบเกอรี่ และเคยทำขายมาแล้วตามตลาดนัด ไปทำเบเกอรี่ขายแบบตู้คีออสในห้างสรรพสินค้าภายใต้แบรนด์ “เอพริล เบเกอรี่ ” ซึ่งมาจากชื่อเก่าของเธอคือ เมษา โดยมีสาขาแรกเริ่มที่ เซ็นทรัล พระราม 3


กนกกัญจน์ ให้คำนิยามต่อธุรกิจในลำดับต่อมาของเธอว่า เหมือนฝันแล้วก็ตื่นขึ้นมา เพราะธุรกิจดังกล่าวทั้งเฮง และร่วงลงภายในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น จากยอดขายดีในวันแรก 20,000 บาท หลังจากนั้นก็ค่อยๆลดลงมาจนเป็นหลักพัน จนสิ้นเดือนเคยเหลือยอดขายต่ำสุด 700-800 บาท โดยเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย เพียงแค่เกิดอาการเห่อเบเกอรี่ ขนมตะวันตกแป้งและเนยที่ไม่คุ้นเคย แต่ไม่ใช่เมนูหลักที่จะรับประทานได้ทุกวัน ยอดขายที่ลดลง ไม่คุ้มค่าเช่า ทางห้างฯจึงแนะนำให้ไปคิดค้นสินค้าใหม่


ปั้นพายหมูแดง

กนกกัญจน์ เล่าต่อไปว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงกลายเป็นที่มาของการแกะรอยสูตรพายหมูแดงฮ่องกง หรือที่เมืองไทยเรียกว่า ขนมเปี๊ยะ ซึ่งมีต้นตำรับขายอยู่ที่ฮ่องกง โดยการันตีความอร่อยจากลูกค้าที่ยืนต่อคิวยาวเหยียด ซึ่งตัวเธอรู้จักพายดังกล่าว เพราะแค่ต้องการซื้อกลับมาฝากเพื่อนและน้องสาวที่เมืองไทย ผู้รับที่ติดอกติดใจรสชาติจนต้องรบเร้าให้เธอลองทำขาย


อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่ได้ง่ายอย่างใจนึก เพราะการที่จะทำขายในประเทศไทยตัวเธอจึงต้องมีการปรับสูตรให้เข้ากับความชอบของผู้บริโภคในประเทศ โดยแป้งของขนมจะทำให้บาง ไม่ออกเค็มเหมือนต้นตำรับ เพราะคนไทยชอบรสชาติหวาน ส่วนหมูแดงก็เลือกที่จะไม่ใช้หมูติดมันเหมือนกับที่ฮ่องกง เนื่องจากตัวเธอมองว่าคนไทยจะห่วงเรื่องของสุขภาพมากกว่า ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าจากของฝาก จะกลับกลายเป็นสินค้าชูโรงที่จะต่อยอดมาสู่ธุรกิจได้ จนเป็นที่มาของสูตรพายไส้หมูแดงจากฮ่องกงเจ้าแรกของเมืองไทย โดดเด่นตรงแป้งบาง เนื้อแน่น


เส้นทางธุรกิจของเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแม้ว่ารสชาติลงตัว ยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน กับการแบกรับภาระค่าเช่าที่ขยายถึง 10 สาขาในห้างฯ โดยที่บางสาขาก็มีกำไร บางสาขาก็ยังขาดทุน ซึ่งชีวิตในช่วงทำขนมถือว่าต่อสู้ดินรนที่สุด มีหน้าที่เข้าครัวผสมแป้ง ปั้นขนม ส่งร้านขายในทุกๆ วัน แต่ละวันจึงผ่านไปอย่างเหนื่อยหนัก ทั้งต้องทำขนม และบริหารเงินหมุนเวียน จ่ายหนี้ ค่าเช่า ค่าวัตถุดิบ ช่วงตั้งต้นต้องใช้เงินทุนสูงก็ยอมกู้หนี้นอกระบบ จากเพื่อนสนิท แม้ขายของได้ก็ต้องแบ่งส่วนหนึ่งไปส่งหนี้ในทุกๆ เดือน ต้องตกอยู่ในสภาวะลำบาก แต่เธอก็สู้อดทนทำต่อ ด้วยความเชื่อว่าวันหนึ่งธุรกิจจะเติบโต


ขยายสู่แฟรนไชส์

กนกกัญจน์ เล่าอีกว่า ตัวเธอต้องอดทนกับการทำขนมและจ่ายค่าเช่ากว่า 3 ปี จนในที่สุดก็มีลูกค้าประจำคนหนึ่งเดินมาขอซื้อแฟรนไชส์ ทั้งที่ในหัวของเธอไม่มีความรู้ในโมเดลการขายแฟรนไชส์เลยแม้แต่น้อย เธอจึงต้องไปค้นหาข้อมูล และขายแฟรนไชส์ให้ในราคา 3 แสนบาท โดยมีรูปแบบคือการรับขนมจากโรงงานและส่งให้ร้านแฟรนไชส์ ต่อมาไม่นาน ยอดคนมาขอซื้อแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น เริ่มจากปีที่สองของการขายแฟรนไชส์มีลูกค้า 10 ราย ร้านเติบโตอย่างรวดเร็ว ค่าแฟรนไชส์ขยับราคาเป็น 5 แสนบาท มียอดขายพุ่งแตะ 100 ล้านบาท


หลังจากนั้นในปีถัดไป พายหมูแดงของตัวเธอก็ไม่ได้มีวางขายแค่ในห้างสรรพสินค่า แต่มีการขยายฐานลูกค้าจากโมเดิร์นเทรดในห้างฯ ไปสู่ร้านสะดวกซื้อ 7-11 โดยที่ตัวเธอยอมควักเงินลงทุน 50 ล้านบาทย้ายโรงงานจากตึกแถว 4 คูหาไปชานเมือง มีพื้นที่ได้มาตรฐาน GMP พร้อมกับคิดค้นสูตรพิเศษ ขนมเปี๊ยะลูกเล็ก พร้อมทาน วางบนโซนอาหารแช่เย็น


“จากการที่ขนมวางขายใน 7-11 มากว่า 2 ปี ยอดขายเติบโตอย่างรวดเร็วมีรายได้เทียบเท่ากับ รายได้จากโมเดิร์นเทรด โดยถือว่าเป็นความโชคดี เมื่อปิดห้างช่วงโควิด-19 (Covid-19) ส่งผลทำให้ยังมีตระกร้าอีกใบหนึ่งรองรับความเสี่ยง ซึ่งปัจจุบัน เอพริล เบเกอรี่ มีแฟรนไชส์เกือบ 50 สาขา รายได้กำลังก้าวไปแตะ 200 ล้านบาท ภายในเวลาไม่นาน”


กนกกัญจน์ บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้ตัวเธอประสบความสำเร็จบนเส้นทางของการทำธุรกิจประกอบด้วย การตัดสินใจแล้วลงมือ สู้ไม่ถอย ความขยันอดทน เชื่อมั่นในสินค้า การขยายฐานลูกค้าเมื่อช่องทางเดิมนิ่ง การต่อยอดธุรกิจใหม่จากวัตถุดิบที่มี และสร้างพื้นที่ส่วนตัวคิดค้นสินค้าใหม่

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ