TNN online เปิด 3 เหตุผล ทำไมไทยสนใจลงทุนใน "ซาอุอาระเบีย"

TNN ONLINE

Wealth

เปิด 3 เหตุผล ทำไมไทยสนใจลงทุนใน "ซาอุอาระเบีย"

เปิด 3 เหตุผล ทำไมไทยสนใจลงทุนใน ซาอุอาระเบีย

"ซีพีเอฟ" เปิด 3 เหตุผลที่สนใจลงทุนในซาอุดีอาระเบีย ชี้เป็นศูนย์กลางในกลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา “เปิดโอกาสการค้าซาอุดีอาระเบีย กับหอการค้าไทย Trade - Travel – Investment” ว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศซาอุดีอาระเบียในช่วงต้นปี 2565 ถือเป็นการเปิดศักราชหน้าใหม่ของสองประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะภาคการค้าการค้าระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 323,113.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.64 

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่วนด้านการท่องเที่ยว ปี 2565 มีนักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบีย 96,389 คน สร้างรายได้ 8,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวซาอุฯ ถึง 150,000 คน สร้างรายรวมกว่า 12,000 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มเที่ยวบินจาก 9 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ถือเป็นการพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ที่ทั้งสองประเทศจะสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างก้าวกระโดดหลังจากนี้ 

ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ซีพีเอฟต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศซาอุดีอาระเบียมี 3 ข้อ ได้แก่ 1.ภูมิประเทศ เนื่องจากซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่เป็นผู้นำและศูนย์กลางในกลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (GCC) มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง มีประชากรสูงสุดถึง 35 ล้านคน 

2.เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมายกลยุทธ์ในการทำให้เกิดได้จริง เช่น VISION 2030 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ เช่น การเพิ่มการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช้น้ำมันจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 50 ของจีดีพี เป็นต้น 

สำหรับเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญของทั้งโลก โดยซาอุดีอาระเบียจะมอบอาหารที่มีคุณค่าให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยมีแผนเพิ่มปริมาณอาหารทะเลจาก 1 แสนเป็น 6 แสนตันต่อปี ส่งเสริมการบริโภคอาหารทะเลจาก 9 เป็น 15 กิโลกรัม(กก.)ต่อคนต่อปี และเพิ่มการผลิตไก่ในประเทศจาก 9 แสนตัน เป็น 1.7 ล้านตันต่อปี 

และ 3.โครงสร้างการบริหารการจัดการที่เข้มแข็ง เช่น การมีบริษัทเพื่อการลงทุนในด้านการเกษตรและปศุสัตว์เพื่อความยั่งยืนทางด้านอาหาร(SALIC) เป็นต้น 



ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง