TNN online สงครามนางงามระอุ! แอน JKN แห่ง MUO VS บอสณวัฒน์ แห่งมิสแกรนด์

TNN ONLINE

Wealth

สงครามนางงามระอุ! แอน JKN แห่ง MUO VS บอสณวัฒน์ แห่งมิสแกรนด์

สงครามนางงามระอุ! แอน JKN แห่ง MUO VS บอสณวัฒน์ แห่งมิสแกรนด์

เปิดโมเดลธุรกิจเจ้าของเวทีนางงามทั้ง 2 แห่ง แอน จักรพงษ์ แห่ง JKN หลังซื้อเวทีมิสยูนิเวิร์ส ที่มีตำนานกว่า 71 ปี และ บอสณวัฒน์ อิสรไกรศีล ที่ก่อตั้งเวทีมิสแกรนด์ มาร่วม 10 ปี

บอส-ณวัฒน์ อิสรไกรศีล จากอดีตพิธีกร-เจ้าของรายการทีวี และบริษัทนำเที่ยว เริ่มต้นเข้าสู่วงการนางงาม จากการเป็นผู้อำนวยการกองประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ของไทยทีวีสีช่อง3 


ณวัฒน์ ตั้งเวทีประกวดนางงามของตัวเอง ในชื่อ "มิสแกรนด์ไทยแลนด์" (Miss Grand Thailand) ในปี พ.ศ.2556 และ เวทีการประกวดสาวงามระดับนานาชาติ คือ "มิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล" ซึ่งถือเป็นเวทีนางงามระดับนานาชาติเวทีแรกของโลกที่มีจุดกำเนิดและก่อตั้งโดยคนไทย


มีสโลแกนคือ "ทุกพื้นที่มีแต่แกรนด์" และตั้งเป้าหมายในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อครบรอบ 10 ปี ของการจัดประกวด และเป็นบริษัทนางงามแรกในโลกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ 


ส่วนแอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ เจ้าของฉายา "ข้ามเพศพันล้าน" และติดอันดับมหาเศรษฐีข้ามเพศของโลก จากการทำธุรกิจคอนเทนต์ ตั้งแต่ยุค เอสทีวิดีโอ ก่อนที่จะมาตั้งช่องทีวีดาวเทียม JKN ร่วมทุนกับจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ และเปิดบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในนำเข้าและจำหน่ายคอนเทนต์ โดยเฉพาะซีรีย์อินเดีย และได้ฉายา "เจ้าแม่คอนเทนต์" และ "เจ้าแม่ภารตะ" โดยสามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 


ส่วนความสนใจธุรกิจนางงาม เกิดจากได้ไปชมการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2020 ที่จัดในไทย เมื่อปี 2563 โดย อแมนด้า ออบดัม ได้เข้ารอบเพียง 10 คนสุดท้าย ทำให้สนใจเข้าซื้อกิจการมิสยูนิเวิร์สเพราะเห็นโอกาสจากแบรนด์ที่แข็งแกร่งกว่า 71 ปี และการต่อยอดธุรกิจ นอกจากการจัดประกวดนางงามระดับโลก


ปัจจุบัน JKN มีเป้าหมายการเป็นบริษัท Content Commerce Company คือการนำคอนเทนต์มาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการ ซึ่งแม้ JKN เป็นเจ้าขององค์กรมิสยูนิเวิร์สได้ 3 เดือน ก็ได้รับการตอบรับจาก 3 ประเทศ ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดใน 3ปีนี้ โดยได้รับค่าอนุญาตสิทธิเสนอตัวจัดการประกวดประเทศละ 400 ล้านบาท เบื้องต้นปลายปีนี้ คือ ประเทศ เอลซัลวาดอร์ ทำให้ขณะนี้มีรายได้ 1,200 ล้านบาทแล้วเฉพาะในส่วนนี้ และการแถลงข่าวล่าสุดเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.66) ขณะนี้ธุรกิจมิสยูนิเวิร์ส ได้ผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว


โดยจะทยอยปรับขึ้นค่าเฟรนไชส์มิสยูนิเวิร์สในการจัดประกวดนางงามในแต่ละประเทศเป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิม 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปีนี้จะต่อยอดแบรนด์มิสยูนิเวิร์สไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มบิวตี้ดริ้งค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจมิสยูนิเวิร์สเพื่อให้พร้อมจะเข้าไปสู่ตลาดหุ้น NASDAQ ในสหรัฐฯ ต่อไป 


JKN ตั้งเป้ารายได้ในปี 2566 ที่ 3,860 ล้านบาท จากธุรกิจคอนเทนต์ 50-60% / ธุรกิจมิสยูนิเวิร์ส 25-30% และธุรกิจ Commerce 20-25% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 40% 


ล่าสุด คือการได้พาร์ทเนอร์ คือ บริษัท ยูนิสเตรทช์ จำกัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ GP Group ภายใต้การบริหารงานของ นิชิต้า ชาห์ นักธุรกิจหญิงเชื้อสายอินเดีย เข้ามาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ช่วยต่อยอดและดำเนินงานในการขยายธุรกิจในด้านต่างๆ โดยมี GP Group เข้ามาเสริมเช่น เครื่องดื่ม เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ที่จะนำมาผนวกเข้ากับแบรนด์มิสยูนิเวิร์ส 


ส่วนบริษัท มิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ยื่นเอกสาร หรือ Filling ต่อสำนักงาน กลต. เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา โดยระบุถึงธุรกิจและหารายได้จากมิสแกรนด์ ประกอบด้วย ธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) /ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ (Pageant) /ธุรกิจสื่อและบันเทิง (Media and X-Periences) และ ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน (Talent) เช่น อิงฟ้า วราหะ, ชาล็อต ออสติน, Miss Isabella Menin 


โดยรายได้หลักของมิสแกรนด์ฯ คือ ธุรกิจพาณิชย์ หรือ สินค้าอุปโภคบริโภคสูงถึง 70-90% ยกเว้น 9 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 38.31% จากสัดส่วนรายได้อื่นๆที่เพิ่มมากขึ้น 


แม้รายได้ส่วนอื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอิงฟ้า วาราหะ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ปี 2022 และรองอันดับ1 มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ปี 2022 ที่ได้รับความนิยมจากแฟนคลับเป็นอย่างมาก แต่ธุรกิจพาณิชย์ก็ยังมีรายได้สูงสุด เพื่อไม่ให้รายได้ผูกติดกับผู้ชนะการประกวดที่แต่ละปีแตกต่างกันไป หรือแม้แต่เจ้าของเวทีอย่าง บอสณวัฒน์ รวมทั้งการจัดประกวดนางงาม ก็มีความผันผวนทั้งจากเศรษฐกิจและสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น โควิด แต่รายได้พาณิชย์ คือ การจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ที่เข้าถึงผู้บริโภคทั้งแฟนนางงาม และบุคคลทั่วไป ซึ่งทำให้รายได้ไม่กระจุกเฉพาะกลุ่ม เช่น แฟนนางงาม หรือ กลุ่มเพศทางเลือก หรือ LGBT เท่านั้น 


เมื่อเปรียบเทียบ 5 เวทีระดับ Grand Slam Beauty Pageant ได้แก่ Miss Universe / Miss World / Miss Grand International / Miss Supranational / Miss International จะพบว่ามิสยูนิเวิร์ส มีผู้ติดตามทางออนไลน์ในช่องทางต่าง ๆ สูงสุด ตามด้วยมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นช่องทางในการติดตามเวทีต่าง ๆ และปัจจุบันมิสแกรนด์ฯใช้ช่องทางออนไลน์ถ่ายทอดสดการประกวดแทนการเช่าเวลาหรือซื้อสถานีโทรทัศน์แล้ว 


ขณะที่มิสแกรนด์ฯ เตรียมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai เบื้องต้น 250 ล้านบาท โดยบอสณวัฒน์ให้สัมภาษณ์รายการของวู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา ว่าตั้งใจจะให้หุ้นของมิสแกรนด์ฯ เข้าซื้อขายในวันที่ 6.6.66 หรือ 6 มิถุนายนปีนี้ เพราะมีความหมายที่ดี 


ดังนั้นทั้ง 2 เวที จึงไม่ได้สร้างแบรนด์ หรือ เน้นที่การประกวดนางงามเท่านั้น แต่การหารายได้อื่น ๆ จึงสำคัญ โดยใช้เวทีนางงามและตัวนางงามต่อยอดไปสู่รายได้อื่น ๆ นั่นเอง 


ซึ่งแม้ JKN มีรายได้สูงกว่ามิสแกรนด์ฯ จากการมีธุรกิจที่หลากหลายกว่า ขณะที่มิสแกรนด์ยังมีรายได้และกำไรน้อยกว่าก็ตาม แต่มิสแกรนด์ซึ่งกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ส่วนมิสยูนิเวอร์ส ซึ่ง JKN อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่แล้ว กำลังจะอยู่ในสังเวียนธุรกิจที่มีรายได้-กำไรขาดทุน และราคาหุ้น เป็นตัวตัดสิน ไม่ได้อิงจากความชอบส่วนตัว 


ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง