TNN online มุมมองล่าสุดของเฟดสะท้อนอะไรบ้าง

TNN ONLINE

Wealth

มุมมองล่าสุดของเฟดสะท้อนอะไรบ้าง

มุมมองล่าสุดของเฟดสะท้อนอะไรบ้าง

สิ่งที่ตลาดแปลกใจนั้น นอกจากการปรับเพิ่มการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567

ผลการประชุมเฟดเดือนธ.ค. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นก็เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.75% ภายในสิ้นปี 2566 แต่สิ่งที่ตลาดแปลกใจนั้น นอกจากการปรับเพิ่มการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) สู่ระดับ 5.1% ภายในปี 2566 ก่อนที่จะสิ้นสุดวัฏจักรปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2550 ซึ่งเป็นการเพิ่มการคาดการณ์เดิมจากระดับ 4.60% ที่เปิดเผยในเดือนก.ย. 


ทั้งนี้การคาดการณ์ Dot Plot ของเฟดส่งสัญญาณมากกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ก่อนหน้านี้จากข้อมูล CME Group นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาสู่ระดับ 5.0% ในช่วงกลางปี 2566 แล้วหลังจากนั้นเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 แต่ทางด้านเฟดต้องการตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนถึงปี 2567 ส่งผลให้เกิด sell on fact สั้นๆทันทีที่เฟดประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตามคาด 


นอกจากนี้ เฟดปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ต่ำกว่า 0.4%-1.0% ในปี 2566 จากเดิมในเดือนก.ย.ที่ 1.2% ขณะที่อัตราว่างงาน ในปี 2566 คาดการณ์สูงกว่า 4.4%-4.7% เพิ่มขึ้นจากเดิม 4.1%-4.5% ในเดือนก.ย. ส่วน PCE inflation สูงกว่า 2.9%-3.5% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากเดิม 2.6%-3.5% ในเดือนก.ย. และ Core PCE inflation สูงกว่า 3.2%-3.7% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากเดิม 3.0%-3.4% ในเดือนก.ย. ซึ่งโดยรวมนั้นเฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลเป็นแรงกดดันราคาทองคำระยะสั้น ซึ่งมุมมองการคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ได้ลดลงเร็วทันใจมากนัก และยังคงเป็นห่วงว่าอัตราเงินเฟ้อในภาคบริการยังสูงอยู่ ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อยังคงมากกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ประกอบการเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะหดตัวในปี 2566


ราคาทองคำยังคงน่าสนใจอยู่ไหม?

Gold Bullish 

    ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

    ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ รัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ สหรัฐและจีน จีนและไต้หวัน

    แรงซื้อทองคำก่อนเทศกาลตรุษจีน

    แนวโน้มทางด้านปัจจัยเทคนิคเป็นขาขึ้น

 

Gold Bearish 

    การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น

    เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น


ดูเหมือนว่าการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลต่อแรงกดดันตลาดทองคำ และดูเหมือนว่าราคาทองคำอาจอยู่ในทิศทางขาลง จริงหรือ? เราลองมาดูอัตราผลตอบแทนปีนี้ดีกว่า อัตราผลตอบแทนราคาทองคำ spot ปีนี้ติดลบเพียง 0.51% (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 16 ธ.ค. 2565) ซึ่งถือว่าผลตอบแทนติดลบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งที่ในปีนี้เฟดได้เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วและรุนแรงจนทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปกว่า 4.25% ขณะที่ผลตอบแทนราคาทองคำในประเทศเป็นบวกกว่า 2.61% จากที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่า 4.78% ในขณะที่แม้ว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 แต่อาจไม่สร้างแรงกดดันตลาดทองคำมากนัก ด้วยสาเหตุจาก 1. การเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดชะลอลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2565 2. ความกังวลด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ 3. ความเสี่ยงของแนวโน้มของเศรษฐกิจถดถอย จึงทำให้เราคาดว่าในปี 2566 แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังเป็นขาขึ้น แต่แนวโน้มราคาทองคำ Spot ในปี 2566 คาดจะเป็นขาขึ้นเช่นกัน .


นอกจากนี้ ราคาทองคำจะได้รับปัจจัยหนุนจากแรงซื้อทองแท่งจากจีนและอินเดียที่เป็นผู้ใช้ทองคำรายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หากจีนเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า รวมถึงแรงซื้อทองคำก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน   โดยสถิติย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมาก่อน 1 เดือนจนถึงเทศกาลตรุษจีน ราคาทองคำ spot มักปรับตัวขึ้น 4 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2560-2563 ยกเว้นแต่ในปี 2564 ที่ราคาทองคำปรับตัวลง


ราคาทองคำเกิดแรงขายภายหลังการประชุมของเฟด  อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังคงสามารถยืนเหนือระดับ 1,760-1,770 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วัน ถือว่ายังคงเป็นสัญญาณบวกต่อราคาทองคำ ทั้งนี้แนวโน้มราคาทองคำ Spot ทางด้านปัจจัยเทคนิคยังเป็นขาขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ทิศทางราคาทองคำเป็นขาลงตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาทองคำมีรูปแบบ Triple bottom โดยลดลงทำจุดต่ำสุดที่ 1,614-1,617 ดอลลาร์ จำนวน 3 ครั้งในวันที่ 28 กันยายน วันที่ 21 ตุลาคมและวันที่ 3 พฤศจิกายน หลังจากนั้นราคาปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทะลุ 1,730 ดอลลาร์ได้เมื่อวันที่  10 พฤศจิกายน ทำให้เกิดสัญญาณซื้อและทิศทางราคาทองคำกลับเป็นขาขึ้น ส่วนสัปดาห์นี้สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานเดือนพ.ย. การอนุญาตก่อสร้างบ้านและการเริ่มสร้างบ้านเดือนพ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. โดย Conference Board ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ย. ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจเดือนพ.ย. โดย conference Board จีดีพีไตรมาส 3 (ประมาณการครั้งสุดท้าย) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย. ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของม.มิชิแกน


ราคาทองคำมีแนวรับอยู่ที่  1,770 ดอลลาร์ และ 1,760 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,825 ดอลลาร์ และ 1,840 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 29,200 บาท และ 29,000 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 29,600 บาท และ 29,750 บาท


ธนรัชต์ พสวงศ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง


ติดตามข่าวหุ้นและการลงทุนทางไลน์

• Line @TNNWEALTH : https://bit.ly/3tCKmiD

———————————————————————

ติดตาม TNN Wealth ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

• Website : https://bit.ly/TNNWealthWebsite

• Youtube : https://bit.ly/TNNWealthYoutube

• TikTok : https://bit.ly/TNNWealthTikTok

 

หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://bit.ly/3HmUu4O

 

 

ข่าวแนะนำ