TNN online เช็กเลย ! แบงก์ไหนออกมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบางกันบ้าง

TNN ONLINE

Wealth

เช็กเลย ! แบงก์ไหนออกมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบางกันบ้าง

เช็กเลย ! แบงก์ไหนออกมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบางกันบ้าง

แบงก์พาเหรดต่อยอดโครงการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจทั้งลูกค้าบุคคล-ธุรกิจจะมีแบงก์ไหนกันบ้างนั้นตามไปดูกันเลย

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า  ธนาคารต่อยอดโครงการรวมใจไม่ทิ้งกัน ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อแต่ละผลิตภัณฑ์ไม่เกิน 2 ล้านบาท และไม่มีสถานะเป็น NPL ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ด้วยมาตรการลดยอดผ่อนชำระต่อเดือน 10% สำหรับเงินกู้ และมาตรการผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% สำหรับบัตรเครดิตและบัตรเงินด่วน เป็นระยะเวลา 12 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และเสริมสภาพคล่องทั้งในการดำเนินธุรกิจและการดำรงชีวิต ลูกค้าที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน –30 ธันวาคม 2565 


"ปัญหาสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ลูกค้าของธนาคารทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ ได้รับผลกระทบทั้งในแง่ของต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น และราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันที่แพงขึ้น ทางธนาคารจึงออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจสำหรับรายละเอียดโครงการมีดังนี้


มาตรการ “ลดยอดผ่อนชำระต่อเดือน 10%” ระยะเวลา 12 เดือน ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการนี้ ได้แก่ 

-    ลูกค้าธุรกิจที่ใช้บริการ สินเชื่อเพื่อธุรกิจ และสินเชื่อเงินด่วนเพื่อธุรกิจ 

-    ลูกค้าบุคคลที่ใช้บริการ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเงินด่วน

โดยลูกค้าบุคคลและธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมมาตราการนี้ สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ธนาคารกสิกรไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 ธันวาคม 2565 

มาตรการ “ผ่อนชำระขั้นต่ำ 5%” ระยะเวลา 12 เดือน ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการนี้ ได้แก่

-    ลูกค้าบุคคลที่ใช้บริการ บัตรเครดิต และบัตรเงินด่วน โดยมาตรการนี้จะเป็นการปรับยอดขั้นต่ำให้ลูกค้าโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ


ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยมีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือ และยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าทั้งธุรกิจและบุคคล เพื่อให้สามารถผ่านพ้นทุกวิกฤต และเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ สามารถลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ธนาคารกสิกรไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 ธันวาคม 2565 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 




นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่สภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่จากผลกระทบของสงครามรัสเซียยูเครนทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนและค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ 


รวมถึงต้นทุนรายจ่ายดอกเบี้ยที่อาจจะสูงขึ้นในอนาคต สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าธุรกิจ SME และลูกค้าบุคคล ที่ยังได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน หรือรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด ธนาคารกรุงเทพมีความห่วงใยในความเดือดร้อนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงยังคงดูแลช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่ออย่างตรงจุด ทันการณ์ และได้ผลจริง 


โดยมีมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกประเภท ทั้งลูกค้าธุรกิจ และลูกค้าบุคคล เพื่อให้ลูกค้าได้รับความช่วยเหลืออย่างยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ 


สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกค้ามีหลายรูปแบบ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับลูกค้า เช่น การพิจารณาปรับลดยอดผ่อน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ให้ระยะเวลาปลอดหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย โอนทรัพย์ชำระหนี้ ให้สินเชื่อใหม่ การขยายวงเงินบัตรเครดิตจาก 1.5 เท่าเป็น 2 เท่าของรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีการรวมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่ไม่มีหลักประกัน (Debt Consolidation) 


ธนาคารให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและทันเวลา พร้อมเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่อยู่เคียงข้างและก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกันในทุกสถานการณ์ และคาดหวังได้เห็นลูกค้าทุกรายสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้ ทั้งนี้ ลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบันสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ สำนักธุรกิจที่ดูแลสินเชื่อหรือสาขาธนาคารทั่วประเทศ และบริการบัวหลวงโฟน โทร.1333 หรือ  www.bangkokbank.com  ทั้งนี้ ธนาคารขอสงวนสิทธิในการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระเบียบปฏิบัติของธนาคาร 


ที่มา  กสิกรไทย,กรุงเทพ

ภาพประกอบ  พิกซาเบย์


ข่าวแนะนำ