TNN online BKI ลุยประกันอีวี-ไซเบอร์ ตั้งเป้ากวาดเบี้ยรับรวมปีเสือ 2.6 หมื่นล้านบาท

TNN ONLINE

Wealth

BKI ลุยประกันอีวี-ไซเบอร์ ตั้งเป้ากวาดเบี้ยรับรวมปีเสือ 2.6 หมื่นล้านบาท

BKI ลุยประกันอีวี-ไซเบอร์  ตั้งเป้ากวาดเบี้ยรับรวมปีเสือ 2.6  หมื่นล้านบาท

กรุงเทพประกันภัยกางแผนปีเสือเบี้ยรับรวมแตะ 2.6 หมื่นล้าน ลุยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบสนองความต้องการลูกค้าต่อเนื่อง ทั้งอีวี-ไซเบอร์-เอสเอ็มอี คาดประกันภัยเดินทาง-รถยนต์กลับมาฟื้นตัวหลังซบเซามากว่า 3 ปี ส่วนเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุ-สุขภาพติดลบ หลังเบี้ยโควิดหายไป 6,000 ล้านบาท โชว์งบปี 64 ฟันกำไรพันล้าน

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า     บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับ 26,000 ล้านบาท  หรือเติบโต  5%   แบ่งเป็นมอเตอร์ 40% และนอนมอเตอร์ 60%  โดยปีนี้เน้นประกันภัยยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีเบี้ย 25 ล้านบาท เพิ่มเป็น 100 ล้านบาท ประกันภัยไซเบอร์ที่มุ่งเน้นคุ้มครองความรับผิดของธุรกิจจากการละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA Cover) จากเดิม 65 ล้านบาท เพิ่มเป็น 200 ล้านบาท  ส่วนประกันสุขภาพ Health IPD+OPD ที่ครอบคลุมถึงการให้บริการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine)อยุ่ที่ 2,300-2,400 ล้านบาท รวมถึงการประกันภัยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  


ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยี  Metaverse เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางของการพัฒนาเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนสินค้าบนโลกเสมือนจริง พร้อมขยายศักยภาพด้านเทคโนโลยีและธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร 



สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมาพบว่า บริษัทฯ มีประกันภัยรับรวมในปี 2564 สูงถึง 24,511.0 ล้านบาท เติบโต 7.2% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดประกันวินาศภัย แม้ว่าจะต้องเผชิญกับโควิด ซึ่งการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดที่ผ่านมาส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิจากการรับประกันภัย 383.4 ล้านบาท แต่เมื่อรวมกับรายได้สุทธิจากการลงทุน 1,498.3 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ   มีกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ 1,055.9 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 9.92 บาท 


นอกจากนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้มีการประเมินว่า เบี้ยประกันภัยรับรวมในปีนี้ จะเติบโต 1.5 - 2.5%  จากการส่งออกของประเทศที่ยังคงเติบโตในระดับสูงแม้จะได้รับผลกระทบบ้างจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับภาคธุรกิจขนส่งในประเทศที่เติบโตตามการซื้อสินค้าและขายสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเนื่องในส่วนของประกันภัยมารีน


นอกจากนี้ การประกันภัยเดินทาง และประกันภัย Aviation ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมาจะเริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่คาดว่าจะเริ่มดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง เช่นเดียวกับการประกันอัคคีภัยที่จะได้รับประโยชน์จากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างมากจากมาตรการของรัฐบาลเรื่องการลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองและการโอน รวมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์ Loan To Value Ratio ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) 


สำหรับการประกันภัยรถยนต์นั้นจะได้รับประโยชน์จากยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่น่าจะเติบโตเป็นบวกเป็นครั้งแรกหลังจากเติบโตติดลบมา 3 ปีติดต่อกัน โดยคาดว่าจะมียอดจำหน่ายเติบโตถึง  13.3  % จาก Toyota Motor) รวมถึงการแข่งขันด้านอัตราเบี้ยประกันภัยในตลาดประกันภัยรถยนต์ที่น่าจะมีความรุนแรงน้อยลง แต่การใช้รถยนต์และอัตราการเกิดอุบัติเหตุมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ด้านประกันภัยเบ็ดเตล็ดนั้นจะได้รับผลบวกจากอัตราเบี้ยประกันภัยต่อในตลาดโลกที่ยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้  


อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันวินาศภัยในปีนี้ อาจได้รับผลกระทบจากเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพที่น่าจะเติบโตติดลบ เนื่องจากการขาดหายไปของเบี้ยประกันภัย COVID-19 ที่มีมูลค่าถึง 6,000 ล้านบาทในปี  64 คิดเป็นสัดส่วน  12  % ของเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพทั้งหมด แม้จะได้รับผลบวกจากการที่ประชาชนตระหนักมากขึ้นถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล 



นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ Climate Change ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยังจะส่งผลกระทบต่อค่าสินไหมทดแทนของประกันภัยที่คุ้มครองภัยธรรมชาติ ผนวกกับต้นทุนค่าสินไหมทดแทนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้ค่าจ้างแรงงาน ค่าอะไหล่รถยนต์ หรือวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งภาคธุรกิจประกันภัยยังต้องปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับกฎระเบียบใหม่ๆ ของภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะเริ่มประกาศใช้ในปีนี้ เช่นเดียวกับการดำเนินธุรกิจตามภายใต้หลัก ESG ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อข้อจำกัดในการรับประกันภัยและการลงทุนในธุรกิจบางประเภท 


 

ที่มา   บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 

ภาพประกอบ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)


ข่าวแนะนำ