TNN online เปิดโพย 14 หุ้นแกร่งฝ่าสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน

TNN ONLINE

Wealth

เปิดโพย 14 หุ้นแกร่งฝ่าสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน

เปิดโพย 14 หุ้นแกร่งฝ่าสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน

2 โบรกประเมินสงครามยูเครน - รัสเซียกระทบหุ้นไทยมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับสถานการณ์ความรุนแรง คาดหุ้นพลังงาน-หุ้นเกี่ยวข้องช่วยพยุงตลาดไม่ให้ลงลึก ด้านบล.ทิสโก้เน้น Selective Buy กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดี และหุ้นที่งบไตรมาส 4/ 64 ออกมาโดดเด่น ขณะที่บล.ทรีนิตี้ชู Defensive ที่มี Alpha เฉพาะตัว

 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์  บล.ทิสโก้ จำกัด  เปิดเผยถึงผลกระทบกรณียูเครน และรัสเซียต่อหุ้นไทยว่า  ได้ประเมินเป็น 3 กรณี คือ 1. กรณีสถานการณ์ปกติ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้น 60% คือ สถานการณ์ยูเครน - รัสเซียยังคงอึมครึมต่อไปอีกเป็นเดือน โดยจะเห็นการประกาศคว่ำบาตรรัสเซียและความพยายามในการหารือร่วมกัน คาดจะใช้เวลาเป็นเดือน แต่ในที่สุดจะหาทางออกร่วมกันได้ คาดดัชนีหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 1,660 - 1,700  จุด โดยจะผันแปรไปตามกระแสข่าวของสถานการณ์ยูเครน - รัสเซีย  


2. กรณีสถานการณ์ดี ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้น 30% คือ รัสเซียและชาติตะวันตกสามารถใช้การเจรจาหาข้อยุติได้ร่วมกันเร็วด้วยวิธีทางการทูต ไม่บานปลายเป็นสงครามข้ามชาติ คาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวทะลุ 1,700 จุดอีกครั้ง และมีโอกาสจะขึ้นทดสอบ 1,720 - 1,730 จุด และ 1,750 จุด ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระแสเงินทุนต่างชาติยังไหลเข้าต่อเนื่อง 


3. กรณีสถานการณ์รุนแรง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้น 10% คือ รัสเซียโจมตียูเครนเต็มรูปแบบ และ NATO กระโดดเข้าร่วมวงด้วย จนกลายเป็นสงครามของชาติมหาอำนาจคาดดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 1,660 จุด อาจลงทดสอบบริเวณ 1,630 - 1,640 จุด เพื่อตั้งหลักใหม่ 

เปิดโพย 14 หุ้นแกร่งฝ่าสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน

อย่างไรก็ตาม  ตลาดหุ้นไทยจะมีทิศทางปรับขึ้นดีกว่าหุ้นโลก (Outperform) เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจำกัดจากสถานการณ์ตึงเครียดยูเครน - รัสเซีย จาก 2 ปัจจัย คือ 1. รัสเซียมีมูลค่าการค้า ทั้งการส่งออกและนำเข้าในปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.52% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย 


ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทยในปี 2562 เพื่อลดการบิดเบือนของตัวเลขจากผลกระทบการระบาด COVID-19 และ 2. ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตอบสนองด้วยการปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 7 ปีจากความกังวลดังกล่าว ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยมีน้ำหนักในหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง ช่วยพยุงตลาดไม่ปรับตัวลงมาก  


ด้านตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ของเดือนก.พ.ที่จะเปิดเผยในวันที่ 10 มี.ค.นี้ คาดว่า จะยังขยายตัวสูงกว่าระดับ 7% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องเร่งถอนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในไม่ช้า โดยตลาดขณะนี้คาดว่า FED จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก 25 bps ในการประชุมเดือน มีนาคม และจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 5 ครั้ง ๆ ละ 25 bps ในการประชุม FED ที่เหลือของปีนี้   


ทั้งนี้แม้ว่าตลาดได้ซึมซับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ไปมากพอสมควรแล้ว สังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นมาใกล้เคียงระดับ 2% แต่ความกังวลเงินเฟ้อที่ยังพุ่งขึ้นอยู่ ท่ามกลางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น คาดจะสร้างความผันผวนแก่ตลาดเป็นระยะตลอดช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จนกว่าจะเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 


ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนสูง และโอกาสการปรับขึ้น (Upside) ตลาดเริ่มจำกัด โดยเฉพาะหากปรับขึ้นทะลุเกินกว่าระดับ 1,700 จุด บล.ทิสโก้จึงแนะนำกลยุทธ์เลือกหุ้นลงทุนเป็นรายตัว (Selective Buy) โดยหุ้นที่คาดว่าจะ Outperform ตลาด คือ 1. หุ้นงบไตรมาส 4/2564 ออกมาดี มีโอกาสปรับประ มาณกำไรขึ้นเด่น คือ BDMS, BEC, และ MAKRO 


2. หุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดีราคายังขึ้นช้า (Big Cap, Value, Laggard)  คือ EGCO, INTUCH, SCB, และ SCC  เพราะฉะนั้น หุ้นเด่นที่บล.ทิสโก้แนะนำในเดือนมีนาคม คือ BDMS, BEC, EGCO, INTUCH, MAKRO, SCB และ SCC  ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,655 - 1,660 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,620 - 1,630 จุด และแนวต้านสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่  1,700, 1,720 และ 1,750 จุด  ตามลำดับ  


เปิดโพย 14 หุ้นแกร่งฝ่าสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์  บล. ทรีนีตี้ กล่าวว่า  ประเมินภาพหุ้นไทยมี.ค.เคลื่อนไหวไปตามพัฒนาการของ  4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. Geopolitical risk ระหว่างรัสเซียและยูเครน 2. แนวนโยบายการเงินของ Fed  


3. ทิศทางของเศรษฐกิจไทย และ 4. ความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจถูกถอดออกจากดัชนี MSCI EM  มองกรอบแนวต้านของดัชนีในเดือนนี้ที่ระดับ 1,700 จุด และ1,740 จุด ซึ่งระดับ 1,740 จุดนี้ถือเป็นระดับที่ยืดสุดแล้วตามวิธีคำนวณด้วยโมเดล Earning yield gap  ขณะเดียวกัน มองกรอบแนวรับ ที่น่าสนใจของดัชนีสำหรับการเพิ่มน้ำหนักที่ระดับ 1,635 จุด และ1,600 จุดตามลำดับ


สำหรับกลุ่มหุ้นแนะนำประจำเดือนนี้ ยังคงเน้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนไปยังกลุ่ม Defensive ที่มีAlpha เฉพาะตัว เหมาะกับการเลือก Selective ในช่วงเวลาที่ Valuation ของดัชนีอยู่ในโซนสูง และยังมีความไม่แน่นอนของปัจจัยรอบด้านอยู่ คือกลุ่มการแพทย์ (Healthcare)  และกลุ่มบริหารหนี้ (AMC) ซึ่งในส่วนของกลุ่ม Healthcare นั้น เลือก BDMS, BCH, CHG, IMH  และกลุ่ม AMC เลือก BAM, JMT, CHAYO


สำหรับ 4 ปัจจัยใหญ่ที่จะมีอิทธิพลต่อ SET Index ในเดือนนี้ได้แก่ 1. ความขัดแย่งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) ระหว่างรัสเซียและยูเครน ประเมินตราบใดที่ปัจจัยดังกล่าวยังยืดเยื้อและลากยาวออกไป จะเป็นผลบวกทางอ้อมต่อตลาดหุ้นไทยที่จะเห็น Fund flow ไหลเข้าเพื่อหลบภัยในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 2 ฝ่ายหาข้อตกลงร่วมกันได้ คาดว่าจะเห็น Fund flow ไหลย้อนกลับไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวอย่างมากก่อนหน้านี้ เช่น ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นต้น


2. แนวนโยบายการเงินของ Fed โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการประชุม FOMC ในวันที่ 15-16 มี.ค.นี้ หากในที่ประชุมดังกล่าว Fed มีมติขึ้นดอกเบี้ยเพียง  0.25% คาดว่าตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงบวกในระยะสั้นได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่ในราคาไปหมดแล้ว แต่หาก Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50% เพื่อยับยั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้น  ประเมินจะเป็น Negative surprise ต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น ผ่านการปรับสูงขึ้นของ Bond yield แบบฉับพลัน  เนื่องจาก ณ ขณะนี้ตลาด Price in ปัจจัยดังกล่าวไปเพียงแค่ 7% เท่านั้น อย่างไรก็ดี มองประเด็นการขึ้นดอกเบี้ย  0.50% จะมีผลต่อตลาดหุ้นในลักษณะ “เจ็บแล้วจบ” ซึ่งจะถือเป็นเรื่องดีต่อภาพตลาดหุ้นในระยะกลางได้


3. พัฒนาการของเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่วนหนึ่งอิงอยู่กับสถานการณ์ Covid ในประเทศที่ล่าสุดยังคงเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับสูง มองประเด็นดังกล่าวเมื่อมาประกอบกับแรงส่งของนโยบายภาครัฐที่ลดลง และระดับราคาสินค้าโดยรวมที่อยู่สูง จะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนทยอยลดลงได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีนักต่อกลุ่ม Domestic consumption 


โดยรวมสอดคล้องกับดัชนี Mobility ปัจจุบันที่บ่งชี้ว่าคนเริ่มออกมาดำเนินชีวิตและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านในระดับต่ำอีกครั้ง รวมถึงรายงานของธปท.

ล่าสุด ที่เริ่มบ่งชี้ถึงสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว มองปัจจัยนี้จะมีผลโดยตรงต่อ EPS ของ SET ในช่วงถัดไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก ธนาคาร และกลุ่ม 

Consumer discretionary ต่างๆ และมีโอกาสกระทบกับระดับเป้าหมายของ SET ในท้ายที่สุด


4. ความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจถูกถอดออกจากการคำนวณดัชนี MSCI Emerging Market (MSCI EM) ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะทำให้เห็นเม็ดเงิน Fund flow ไหลเข้าสู่ประเทศ EM อื่นๆได้ ซึ่งไทยเราถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยจากการคำนวณของทรีนีตี้ล่าสุดพบว่า หากเกิดกรณีดังกล่าว น้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI EM นี้จะขยับสูงขึ้นจาก 1.85% สู่ระดับ 1.89% คิดเป็นเม็ดเงินไหลเข้าราว 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4,600 ล้านบาท หากอิงกับเม็ดเงินลงทุนที่อิงอยู่กับดัชนี MSCI EM  ราว 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ




ที่มา  บล.ทิสโก้ ,บล. ทรีนีตี้

ภาพประกอบ  บล.ทิสโก้, บล. ทรีนีตี้,พิกซาเบย์



ข่าวแนะนำ