TNN เครื่องบินอวกาศ “Dream Chaser” ผ่านการทดสอบสำคัญ เตรียมส่งขึ้นอวกาศ

TNN

Tech

เครื่องบินอวกาศ “Dream Chaser” ผ่านการทดสอบสำคัญ เตรียมส่งขึ้นอวกาศ

เครื่องบินอวกาศ “Dream Chaser” ผ่านการทดสอบสำคัญ เตรียมส่งขึ้นอวกาศ

เครื่องบินอวกาศ Dream Chaser ผ่านการทดสอบครั้งสำคัญ เตรียมส่งไปยังจุดปล่อยจรวดของนาซา เพื่อทดสอบใช้งานขนส่งสินค้าไปและกลับจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

เซียร์รา สเปซ (Sierra Space) บริษัทเอกชนด้านการบินและอวกาศจากสหรัฐอเมริกา เผยความคืบหน้าของโครงการสร้างเครื่องบินอวกาศ ดรีม เชสเซอร์ เทนาซิตี้ (Dream Chaser - Tenacity) และโมดูลขนส่งสินค้า ชู้ตติ้ง สตาร์ (Shooting Star) โดยล่าสุดบริษัทเผยว่า ผ่านการทดสอบครั้งสำคัญ เตรียมปล่อยขึ้นสู่อวกาศ เพื่อทดสอบใช้งานขนส่งสินค้าในอนาคต


เครื่องบินอวกาศ “Dream Chaser” ผ่านการทดสอบสำคัญ เตรียมส่งขึ้นอวกาศ ภาพจาก Sierra Space

การทดสอบดังกล่าว เกิดขึ้นที่ศูนย์ทดสอบ นีล อาร์มสตรอง (NASA's Neil A. Armstrong Test Facility) ของนาซา ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทั้งเครื่องบินอวกาศและโมดูลขนส่งสินค้า ได้ผ่านการทดสอบการทนต่อแรงกระแทก การทนต่อแรงสั่นสะเทือน และการรับมือกับอุณหภูมิสุดขั้ว เพื่อให้มั่นใจว่ามันจะปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศจริงได้ 


และเนื่องจากในอวกาศ อาจจะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างรุนแรงตั้งแต่หนาวจัดระดับต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ไปจนถึงร้อนจัดถึงหลายร้อยองศาเซลเซียส ด้วยเหตุนี้ทั้งเครื่องบินอวกาศและโมดูลขนส่งสินค้า จึงต้องผ่านการทดสอบอุณหภูมิในสภาวะสุญญากาศ ด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ -100 องศาเซลเซียส จนถึง 120 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ผ่านมาได้สำเร็จ


ซึ่งหลังจากนี้ บริษัทกำลังเตรียมส่งเครื่องบินอวกาศ และโมดูลขนส่งสินค้า ไปยังศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในรัฐฟลอริดา โดยจะมีวิศวกรทำการตรวจเช็กจุดต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างทำงานได้ตามแผนที่วางไว้ ก่อนที่จะเตรียมปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศต่อไปภายในปี 2024 นี้


เครื่องบินอวกาศ “Dream Chaser” ผ่านการทดสอบสำคัญ เตรียมส่งขึ้นอวกาศ ภาพจาก Sierra Space

สำหรับ ดรีม เชสเซอร์ เทนาซิตี้ (Dream Chaser - Tenacity) บริษัทให้คำนิยามว่าเป็นอากาศยานประเภท “สเปซเพลน” (Spaceplane) หรือ “เครื่องบินอวกาศ” ที่รวมเอาคุณสมบัติของทั้งเครื่องบินและยานอวกาศไว้ด้วยกัน ทำให้มันสามารถบินร่อนในชั้นบรรยากาศของโลก และลงจอดบนรันเวย์ได้เหมือนเครื่องบิน รวมถึงใช้งานในอวกาศได้ เหมือนกับยานอวกาศ


ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าว่าเมื่อการทดสอบต่าง ๆ แล้วเสร็จ ในอนาคต เครื่องบินอวกาศลำนี้จะสามารถให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ สำหรับการเดินทางขนส่งสินค้าหรือเสบียงต่าง ๆ สู่วงโคจรต่ำ หรือ Low Earth orbit และเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับบริการขนส่งด้านอวกาศในอนาคต 

ข้อมูลจาก interestingengineeringspacespacenewsgistda

ข่าวแนะนำ