TNN online จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กับการเปลี่ยนผ่านรถเครื่องยนต์สันดาปไปรถยนต์ EV

TNN ONLINE

Tech

จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กับการเปลี่ยนผ่านรถเครื่องยนต์สันดาปไปรถยนต์ EV

จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กับการเปลี่ยนผ่านรถเครื่องยนต์สันดาปไปรถยนต์ EV

หากอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของไทยต้องการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ต้องเร่งพัฒนาบุคลากร แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ จึงได้ร่วมมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาครัฐบาล ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง

กระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นอยู่ มีโอกาสที่ภาคเอกชนจะก้าวเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในไทยไปอยู่ตำแหน่งหนึ่งในผู้นำโลก โอกาสนี้ บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างแดสสอลท์ ซิสเต็มส์ จึงได้ร่วมมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาครัฐบาล ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง


ทั้งนี้ประเทศไทยมีความได้เปรียบอย่างมากในอุตสาหกรรมยานยนต์นี้ตั้งแต่ยุคที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) โดยสามารถผลิตรถยนต์ได้สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 10 ของโลก ด้วยปริมาณ 1,883,515 คันในปี 2022 ด้วยความได้เปรียบนี้จึงสามารถปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยของ EV ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่าแทบทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์ จะมีอุตสาหกรรมบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์แบบเก่าที่จะได้รับผลกระทบด้านลบอยู่บ้าง แต่ก็สามารถที่จะนำประสบการณ์เดิมที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบ EV ได้ ทั้งนี้ประเทศไทยตั้งอยู่บนเป้าหมายนโยบาย 30@30 ของประเทศ ซึ่งเป็นแผนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศไทย โดยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero-Emission EVs) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2030


หัวใจสำคัญในเป้าหมายของไทยคือ ต้องเปลี่ยนจากการเป็นฐานการผลิต ไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ให้ได้ แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายอยู่คือ การขาดบุคลากรที่มีทักษะสูงในด้านการวิจัยและการพัฒนา และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในการเป็นผู้นำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงได้ร่วมมือกับแดสสอลท์ ซิสเต็มส์ ได้สานต่อความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาระดับสูง (Institutions of Higher Learning หรือ IHL) และศูนย์ฝึกอาชีพ (Vocational Training Centre) เพื่อหารือถึงวิธีการในการร่วมกันพัฒนาโปรแกรม "ทักษะแห่งอนาคต หรือ Skills of the Future" อย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนาโดยเน้นโครงการเป็นศูนย์กลาง (Project Centric) ให้แก่นักวิชาการในสถาบันเหล่านี้ได้ใช้ศักยภาพจากแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกต่างใช้แพลตฟอร์มนี้พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านการจำลองเสมือนจริง (Virtual Twin) และใช้บริหารจัดการวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์

จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กับการเปลี่ยนผ่านรถเครื่องยนต์สันดาปไปรถยนต์ EV

ผศ.ดร.อุเทน สุปัตติ อุปนายกฝ่ายการศึกษาและการพัฒนาบุคลากร สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ชี้ว่าสิ่งสำคัญที่จะพัฒนาทั้งบุคลากรและงานวิจัย คือการร่วมมือกันของทั้งทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาลและเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับที่ คุณ ฉี่ ฮ๊าว หวง หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ที่ชี้ว่าผู้นำต้องสามารถกำหนดทิศทางที่ถูกต้องได้ สิ่งสำคัญคือผู้นำต้องมีคือความเข้าใจในอุตสาหกรรม EV โดยได้เปรียบว่า EV เหมือนการผสมผสานระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (PC) ที่สามารถปรับเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ได้ กับและสมาร์ตโฟนที่เน้นในเรื่องซอฟต์แวร์ เมื่อสามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก็จะสามารถที่กำหนดนโยบายที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมได้


ส่วนคุณ ไซม่อน อึง ผู้อำนวยการฝ่ายขายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ ได้บอกว่าสิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยของรถยนต์สันดาป ไปยังรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ ซอฟต์แวร์ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาในส่วนนี้เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำ โดยได้ยกตัวอย่างของนวัตกรรมที่เน้นซอฟต์แวร์อย่างสมาร์ทโฟนพลิกโลกอย่างไอโฟน (iPhone) ที่มีการตัดคีย์บอร์ดโทรศัพท์ออกไป และพัฒนาขึ้นมาเป็นซอฟต์แวร์ได้ภายในหน้าจอเดียว รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเทสลา (Tesla) ที่มีเพียงหน้าจอก็สามารถควบคุมรถได้ทั้งคัน


คุณ เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายขาย Customer Role Experience ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ กล่าวว่า “เราเป็นพันธมิตรกับ EVAT เมื่อปีที่ผ่านมา และร่วมมือกันเชิญชวนสถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันการเรียนรู้ในท้องถิ่นมาร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) แบบเดิมไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรามีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สามารถเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรด้วยทักษะที่ไม่เพียงตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน แต่ยังตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตของอุตสาหกรรม จากการร่วมมือกันอย่างบูรณาการระหว่างภาควิชาการและผู้มีส่วนได้เสียในระบบนิเวศทั้งหมด ทำให้เราไม่เพียงแต่ขยับลดช่องว่างด้านทักษะเท่านั้น แต่ยังร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เวทีโลกในฐานะศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า”


ด้าน ผศ.ดร.กิตติ์ชนน เรืองจิรกิตติ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็ได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาบุคลากรเช่นกัน โดยบอกว่าต้องเริ่มต้นที่การศึกษา สถาบันการศึกษาต้องเน้นการเรียนรู้จากอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรง เพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพ และได้บอกว่าภายในปี 2070 อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 40,000 คน นอกจากนี้ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ยังมีอีกหลายส่วนย่อยที่ควรได้รับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งหากเริ่มต้นเร็วก็สามารถคว้าโอกาสไว้ได้ รวมถึงผลักดันให้ประเทศก้าวหน้าได้ด้วย อย่างเช่นในรถ EV 1 คัน มีส่วนประกอบย่อยจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่แบตเตอรี่เป็นหลัก หากมีหน่วยงานที่เข้ามาวิจัยและพัฒนาในส่วนอื่นด้วย ก็จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นอีกมาก

ข่าวแนะนำ