TNN CLARI หุ่นยนต์เลียนแบบแมลง เปลี่ยนรูปร่างได้เมื่อผ่านที่แคบ

TNN

Tech

CLARI หุ่นยนต์เลียนแบบแมลง เปลี่ยนรูปร่างได้เมื่อผ่านที่แคบ

CLARI หุ่นยนต์เลียนแบบแมลง เปลี่ยนรูปร่างได้เมื่อผ่านที่แคบ

CLARI หุ่นยนต์เลียนแบบแมลงเปลี่ยนรูปร่างได้ เมื่อเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่แคบ เล็กกว่าฝ่ามือของมนุษย์ น้ำหนักแค่ 2.59 กรัม

ทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ (CU Boulder) ประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาหุ่นยนต์จิ๋วซีแอลเออาไอ (CLARI) หรือ Compliant Legged Articulated Robotic Insect โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากแมลงสาบ โดยคุณสมบัติของหุ่นยนต์ สามารถเปลี่ยนรูปร่างแทรกตัวเข้าไปในพื้นที่แคบ บริเวณที่ยากต่อการส่งมนุษย์หรืออุปกรณ์ขนาดใหญ่เข้าไปสำรวจเก็บข้อมูล  


หุ่นยนต์จิ๋วซีแอลเออาไอ (CLARI) ได้รับการออกแบบให้มีน้ำหนัก 2.59 กรัม เบากว่าลูกปิงปองซึ่งมีน้ำหนักอยู่ที่ 2.7 กรัม โครงสร้างแบบแยกชิ้นส่วนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ 3 รูปแบบ คือ ขนาดปกติ เพิ่มความยาว และความกว้าง เช่น ปรับเปลี่ยนลำตัวจากความกว้าง 21 มิลลิเมตร เป็นความกว้าง 34 มิลลิเมตร เพื่อสอดเคลื่อนที่สอดแทรกเข้าไปตามช่องว่างขนาดเล็ก 


เนื่องจากหุ่นยนต์จิ๋วซีแอลเออาไอ (CLARI) ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาทำให้ระบบพลังงานไฟฟ้ายังต้องใช้สายไฟขนาดเล็กเชื่อมต่อหุ่นยนต์เข้ากับแบตเตอรี่ ระบบขับเคลื่อนใช้แอคชูเอเตอร์แบบเพียโซอิเล็กทริก (Piezoelectric Actuator) มีลักษณะเป็นทรานสดิวเซอร์หรือตัวแปลงไฟฟ้าเป็นพลังงานเชิงกล (Transducer) ไปยังขาขนาดเล็กทั้ง 4 ข้าง รองรับการเคลื่อนที่แบบอิสระ 8 ระดับ ทำให้มีความกระฉับกระเฉงในการเคลื่อนตัวแม้จะมีขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามในอนาคตทีมงานพัฒนาต้องการติดตั้งระบบขับเคลื่อนที่มีความเป็นอิสระมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้สายไฟเชื่อมต่อหุ่นยนต์ 


คอชิก จายาราม (Kaushik Jayaram) หนึ่งในทีมงานวิศวกรออกแบบหุ่นยนต์ เคยมีประสบการณ์ออกแบบหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ โดยใช้การเลียนแบบการเคลื่อนที่ของแมลงสาบที่บีบตัวผ่านพื้นที่แคบในแนวตั้ง ซึ่งเขาได้กล่าวเพิ่มเติมว่าสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมีตัวอย่างการปรับตัวให้เคลื่อนที่ผ่านพื้นที่แคบหลายรูปแบบ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ หลายวิธี ทั้งจากแมลงสาบ มดและแมงมุม


การวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์จิ๋วซีแอลเออาไอ (CLARI) สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกันเป็นทีมขนาดใหญ่คล้ายการทำงานของแมลงหรือมด เพื่อใช้ทำภารกิจกู้ภัยภายในตัวอาคารที่ถล่มหรือในพื้นที่แคบอื่น ๆ ที่ยากต่อการเข้าถึง โดยใช้การเคลื่อนที่อิสระและการสื่อสารกันระหว่างหุ่นยนต์และพนักงานควบคุมที่เป็นมนุษย์




ที่มาของข้อมูล interestingengineeringSciencedirectFoodnetworksolution

ที่มาของรูปภาพ  University of Colorado Boulder


ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ