TNN “อะมีบากินสมอง” โรคร้ายถึงตาย ไร้ยารักษา ทำไมอาจกลายเป็นโรคใกล้ตัว

TNN

TNN Exclusive

“อะมีบากินสมอง” โรคร้ายถึงตาย ไร้ยารักษา ทำไมอาจกลายเป็นโรคใกล้ตัว

“อะมีบากินสมอง” โรคร้ายถึงตาย ไร้ยารักษา ทำไมอาจกลายเป็นโรคใกล้ตัว

เราอาจเคยได้ยินเรื่อง “เชื้ออะมีบากินสมอง” หรือ “โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา” โรคหายากที่คร่าชีวิตคุณได้เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์​

โดยเฉลี่ยแล้ว การป่วยเป็นโรค “อะมีบากินสมอง” จะเป็นสิ่งที่หาได้ยากในสหรัฐฯ และหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ผลการศึกษาล่าสุด กำลังบอกพวกเราว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้หนึ่งในสายพันธุ์ของเชื้ออะมีบากินสมอง เติบโตเพิ่มขึ้น และแฝงอยู่ในชีวิตประจำวันเรามากขึ้นเรื่อย ๆ 


---ทำความรู้จัก “อะมีบา”---


อะมีบาเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ในกลุ่มโปรโตซัว มักอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ เช่น บึง สระ หรือ แม้กระทั่งในดินที่มีน้ำขัง โดยสายพันธุ์หลักของเชื้อชนิดนี้ จะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 สายพันธุ์ ได้แก่ 


  1. สายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี (Naegleria fowleri) เป็นสายพันธุ์ที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง มักเข้าทางโพรงจมูก จากการสำลักน้ำ แล้ววิ่งผ่านเส้นประสาทรับกลิ่นขึ้นสู่สมอง อาศัยอยู่ทั้งในดิน และน้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นสายพันธุ์ที่มักพบในตัวผู้ป่วย 

  2. สายพันธุ์อะคันธามีบา (Acanthamoeba spp.) เป็นสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิ 25-35 องศาเซลเซียส พบได้ในแหล่งน้ำทั่วไป ส่วนใหญ่จะติดเชื้อทางบาดแผลที่ผิวหนัง หรือ ทางเดินหายใจ มักพบในกลุ่มคนที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือ คนสูงอายุ 

อย่างที่กล่าวไปตอนต้น หากร่างกายมนุษย์สัมผัสกับเชื้ออะมีบา ผู้ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการภายใน 1-12 วัน และจะเสียชีวิตภายในระยะเวลา 1-18 วัน นับตั้งแต่เริ่มแสดงอาการ 


ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้ออะมีบานี้โดยเฉพาะ เนื่องจากการวินิจฉัยโรคมีความซับซ้อน และกระบวนการศึกษาเกี่ยวกับโรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้ออะมีบา ยังก้าวหน้าช้า 


---โรคหายาก ?---


สถิติก่อนหน้านี้ของสหรัฐฯ มักระบุไว้ว่า การติดเชื้ออะมีบา เป็นเรื่องที่หาได้ยาก เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว จะมีผู้ป่วยที่ติดเชื้ออะมีบาสายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี ราว 0-8 รายต่อปีเท่านั้น 


แต่ผลการศึกษาล่าสุด อาจทำให้สถิตินี้เปลี่ยนไปในอนาคต เมื่อนักวิจัยกลับพบว่า สายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นผลพวงมาจากภาวะโลกร้อน และอาจทำให้โรคติดเชื้ออะมีบา กลายเป็นโรคทั่วไปได้ในอนาคต 


ปี 2023 เรียกได้ว่า เป็นปีที่โลกร้อนสุดขีดในรอบ 2,000 ปี และดูเหมือนว่า หน้าร้อนในปี 2024 จะรุนแรงกว่าเดิม อุณหภูมิสูงขึ้นทั้งบนบกและในน้ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเนจีเรีย ฟาวเลอรี หนึ่งในสายพันธุ์อะมีบา 


เว็บไซต์ Live Science เผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เนจีเรีย ฟาวเลอรี แพร่ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เนื่องจากสายพันธุ์นี้ ทนต่อสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงได้ดีกว่าจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในน้ำเช่นกัน และการที่อุณหภูมิในน้ำเพิ่มสูงขึ้นนี้ นั่นหมายความว่า มันทำให้อะมีบาสามารถอยู่ได้นานกว่าคู่แข่ง และแพร่ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว 


---น้ำเย็นก็อยู่ได้--- 


ในอดีต การติดเชื้ออะมีบาสายพันธุ์ เนจีเรีย ฟาวเลอรี มักพบในพื้นที่เขตร้อนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ การติดเชื้ออะมีบาสายพันธุ์ดังกล่าว ถูกตรวจพบมากขึ้นในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า เช่น  รัฐไอโอวา เนบราสกา และมินนีโซตา โดยเหตุผลหลัก ๆ คือ มีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง


การติดเชื้อที่เกิดขึ้นในทางตอนเหนือของประเทศ ทำให้นักวิจัยหลายคนกังวลว่า ภาวะโลกร้อนจะเป็นส่วนที่ทำให้การติดเชื้ออะมีบา กลายเป็นโรคทั่วไป  


ลีห์ สตาห์ล อาจารย์มหาวิทยาลัยแอละแบมา กล่าวว่า อะมีบาอาศัยอยู่ได้ในอุณหภูมิและระดับความเป็นกรดที่แตกต่างกัน มันเติบโตได้ในอุณหภูมิที่สูงถึง 46 องศาเซลเซียส แต่ขณะเดียวกัน ก็สามารถเติบโตได้ดีในอุณหภูมิต่ำถึง 26 องศาเซลเซียส 


“ทะเลสาบและแม่น้ำในสหรัฐฯ มีอุณหภูมิที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากทั้งภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือ การปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม  สิ่งเหล่านี้สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับเนจีเรีย ฟาวเลอรีแพร่กระจายได้มากขึ้น” เธอ กล่าว 


นอกจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อะมีบาแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว คือ การเกิดพายุที่รุนแรงและถี่ขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ และการเพิ่มขึ้นของปริมาณอินทรียวัตถุที่ตกค้างอยู่ในน้ำ จากน้ำไหลบ่า 


โดยน้ำไหลบ่านี้ สามารถให้สารอาหารแก่สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำได้ ซึ่งรวมถึงเชื้อกินสมองอย่างอะมีบาด้วย 


---นักวิจัยเร่งค้นหายารักษา--- 


ถึงตอนนี้จะไม่มียาเฉพาะในการรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา แต่ก็มีความพยายามค้นหาวิธีการทางการแพทย์ใหม่ ๆ เพื่อรักษาโรคนี้ นักวิจัยบางราย ถึงขั้นสนใจที่จะพัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อต่อต้านการติดเชื้อเนจีเรีย ฟาวเลอรี 


ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ในปี 2024 ได้สร้างแบบจำลองลักษณะพื้นผิวของอะมีบาเพื่อดูว่าวัคซีนดังกล่าวว่า อาจมีหน้าตาเป็นอย่างไร 


ขณะที่ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของ ลอเรนโซ-โมราเลส และคณะ ที่มุ่งศึกษาเม็ดสีที่ชื่อว่า “อีลาทอล” ซึ่งเป็นสารสกัดจากสาหร่ายแดง โดยพวกเขาพบว่า สารประกอบสำคัญบางชนิดจากสาหร่ายแดง มีฤทธิ์ในการต่อต้านอะมีบา 


อย่างไรก็ตาม การทดลองเพื่อค้นหาวิธีรักษานั้น ยังเป็นเพียงแค่การทดลองในจานแล็บเท่านั้น การที่จะนำการทดลองไปใช้กับคน จำเป็นต้องระดมทุนจากบริษัทยา แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะบริษัทส่วนใหญ่ไม่ค่อยมองเห็นกำไรจากโรคหายาก อย่างโรคติดเชื้ออะมีบา 


ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนก็มองว่า การที่โรคหายาก อย่างการติดเชื้ออะมีบา พบผู้ป่วยน้อยราย ความจริงแล้ว อาจมีผู้ติดเชื้อมากกว่าตัวเลขจริงที่เห็น เนื่องจากการจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ มีความซับซ้อนค่อนข้างมาก และแพทย์ส่วนใหญ่ยังขาดความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ อาจจะทำให้มีการวินิจฉัยตกหล่น


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.livescience.com/health/viruses-infections-disease/brain-eating-infections-could-become-more-common-scientists-warn

https://www.livescience.com/health/viruses-infections-disease/brain-eating-amoebas-kill-nearly-100-of-victims-could-new-treatments-change-that

https://youtu.be/ByhuOQ5WO7Q

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง