TNN online 5 ดวงอาทิตย์เทียมทรงพลังที่สุดในโลก หนทางใหม่สู่ยุคพลังงานสะอาด

TNN ONLINE

Tech

5 ดวงอาทิตย์เทียมทรงพลังที่สุดในโลก หนทางใหม่สู่ยุคพลังงานสะอาด

5 ดวงอาทิตย์เทียมทรงพลังที่สุดในโลก หนทางใหม่สู่ยุคพลังงานสะอาด

ทำความรู้จักดวงอาทิตย์เทียม หรือเครื่องสร้างพลังงานระบบนิวเคลียร์ฟิวชันที่ทรงพลังทั่วโลก 5 อันดับแรก โดยอิงจากกระแสพลาสมาที่ผลิตได้

5 ดวงอาทิตย์เทียมทรงพลังที่สุดในโลก หนทางใหม่สู่ยุคพลังงานสะอาด

ดวงอาทิตย์เทียม มีอีกชื่อเรียกว่าโทคาแมค (Tokamak) เป็นตัวสร้างนิวเคลียร์ฟิวชันด้วยอุโมงค์ทรงโดนัทที่เป็นช่องทางไหลเวียนของก๊าซดิวเทอเรียมและทริเทียมที่อยู่ในสถานะที่เรียกว่าพลาสมา โดยใช้แม่เหล็กเหนี่ยวนำให้เกิดการไหลวนและสร้างเป็นกระแสไฟฟ้าและความร้อนออกมา กระบวนการทั้งหมดนี้กำลังเป็นหนทางสำคัญในการปฏิวัติการผลิตไฟฟ้าที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ ซึ่งมี 5 ดวงอาทิตย์เทียมที่มีกำลังการผลิตกระแสพลาสมาสูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน


อันดับดวงอาทิตย์เทียมทรงพลังที่สุดในโลก

การจัดอันดับในครั้งนี้เรียงตามลำดับกระแสพลาสมาที่ตัวเครื่องโทคาแมคสามารถสร้างได้ออกมา โดยกระแสพลาสมาเป็นการวัดปริมาณพลาสมาที่สามารถวิ่งภายในอุโมงค์ในสภาพที่เสถียรซึ่งใช้ในการสร้างพลังงาน


1. ไอเทอร์ (ITER) ดวงอาทิตย์เทียมที่ทรงพลังที่สุดในโลก ฝีมือของกลุ่มไอเทอร์ (ITER Council: International Thermonuclear Experimental Reactor) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจาก 9 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้, จีน, ยุโรปในนามสหภาพยุโรป (EU), ญี่ปุ่น, รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, และอินเดีย มีความสามารถในการสร้างและรักษากระแสพลาสมา (Plasma Current) ได้ทั้งหมด 15 เมกะแอมแปร์ (MA) โดยตอนนี้เครื่องไอเทอร์อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเดินเครื่องครั้งแรกได้ภายในปี 2025


2. เจ็ต (JET: Joint European Torus) เป็นเครื่องโทคาแมคที่เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 1983 ซึ่งเคยเป็นความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปหรืออียูกับอังกฤษ ต่อมาหลังการออกจากอียูหรือเบรกซิต (Brexit) ทางอังกฤษได้ดูแลต่อโดยมีศูนย์เพื่อพลังงานฟิวชันแห่งคัลแฮม (Culham Centre for Fusion Energy) รับผิดชอบ สามารถสร้างกระแสพลาสมาได้ 7 เมกะแอมแปร์


3. เจที 60 เอสเอ (JT-60SA) เป็นเครื่องโทคาแมคระดับเรือธงของญี่ปุ่นที่มีกระแสพลาสมา 5.5 เมกะแอมแปร์ เป็นเครื่องที่ปรับปรุงและต่อยอดจาก JT-60 ที่ผลิตและใช้งานในปี 1985 ยุคไล่เรี่ยกับเครื่อง JET ของยุโรป รับผิดชอบและจัดการโดยสถาบันวิจัยพลังงานปรมาณูแห่งญี่ปุ่น (Japan Atomic Energy Research Institute: JAERI) อยู่ในปัจจุบัน


4. ดีทรีดี (DIII-D) เครื่องโทคาแมคที่พัฒนาภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกากับบริษัท เจเนอรัล อะตอมิกส์ (General Atomics) บริษัทด้านพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันและยุทโธปกรณ์ ใช้งานมาตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างกระแสพลาสมาได้สูงสุด 3 เมกะแอมแปร์


5. เคสตาร์ (KSTAR: Korea Superconducting Tokamak Advanced Research) เป็นเครื่องโทคาแมคที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันแห่งชาติด้านพลังงานฟิวชัน (Korea Institute of Fusion Energy) ในเมืองแดจองของเกาหลีใต้ สร้างขึ้นภายในประเทศเมื่อ 2007 และเริ่มใช้ทดลองมาตั้งแต่ 2008 จนถึงปัจจุบัน โดยรองรับกระแสพลาสม่าได้สูงสุด 2 เมกะแอมแปร์


ในขณะที่ประเทศไทยเองก็มีดวงอาทิตย์เทียมเครื่องแรก ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องแรกในภูมิภาคอาเซียนอย่าง TT-1 (Thailand Tokamak -1) ที่ได้รับมอบจากจีน โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ที่จังหวัดนครนายก จะเป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินการ ตัวเครื่องสามารถสร้างกระแสพลาสม่าได้ 0.1 เมกะแอมแปร์ พร้อมทั้งเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับไอเทอร์ (ITER) เพื่อเข้าถึงและพัฒนาการสร้างพลังงานด้วยนิวเคลียร์ฟิวชันอีกด้วย


ที่มาข้อมูล WikipediaTrueID

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง