TNN สหรัฐฯ ทำกล้องจิ๋วเท่าเม็ดยาส่องกระเพาะ ควบคุมทิศทางได้เหมือนเล่นเกม

TNN

Tech

สหรัฐฯ ทำกล้องจิ๋วเท่าเม็ดยาส่องกระเพาะ ควบคุมทิศทางได้เหมือนเล่นเกม

สหรัฐฯ ทำกล้องจิ๋วเท่าเม็ดยาส่องกระเพาะ ควบคุมทิศทางได้เหมือนเล่นเกม

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาสร้างกล้องจิ๋วที่มีขนาดเท่าเม็ดยาแคปซูลสำหรับสำรวจสภาพภายในกระเพาอาหารที่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระด้วยการบังคับคล้ายกับการเล่นเกม

การส่องกล้องเพื่อการวินิจฉัยโรคเป็นหนึ่งในวิทยาการสำคัญของวงการแพทย์ แต่ปัญหาสำคัญคือกระบวนการส่องกล้องนั้นมีค่าใช้จ่าย ใช้เวลาเตรียมตัวนาน และมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เพื่อแก้ปัญหาทั้งหมดนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน (George Washington University) ในสหรัฐอเมริกาได้สร้างกล้องจิ๋วที่มีขนาดเท่าเม็ดยาแคปซูล หรือเรียกว่า กล้องเม็ดยา - พิล แคม (Pill Cam) ที่ใช้แม่เหล็กในการเคลื่อนที่ภายในกระเพาะอาหารและถ่ายภาพส่งกลับมาให้แพทย์ได้อย่างอิสระผ่านแท่นควบคุมหรือจอยสติ๊ก (Joystick) 


ข้อมูลทั่วไปของกล้องเม็ดยา

กล้องดังกล่าวมีขนาดเทียบเท่ากับเม็ดยาแคปซูลที่ใช้รักษาโรคทั่วไป โดยที่ปลายของกล้องเม็ดยา (Pill Cam) จะมีเลนส์เดี่ยวสำหรับถ่ายวิดีโอความละเอียด 640 x 480 พิกเซลต่อนิ้ว (ppi) ซึ่งให้ภาพที่อัตราเฟรม (Frame rate) อยู่ที่ 0.5 - 6 เฟรมต่อวินาที มีมุมมองภาพอยู่ที่ 160 องศา ควบคุมผ่านจอยสติ๊กแบบที่ใช้ในการเล่นวิดีโอเกมซึ่งพัฒนาโดยบริษัท แอนซ์ โรบอติกา (AnX Robotica)  


กล้องเม็ดยาสามารถเคลื่อนที่ได้ในสามแกน ได้แก่ แกนนอน แกนตั้ง และแกนลึก (x-y-z coordinates) ซึ่งเป็นแกนการเคลื่อนที่ 3 มิติ ที่เพียงพอในการเคลื่อนตัวภายในกระเพาะอาหาร ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า เอ็มซีซีอี (MCCE: Magnetically Controlled Capsule Endoscopy) หรือเทคนิคการส่องกล้องด้วยแคปซูลที่บังคับด้วยพลังของแม่เหล็ก


ขั้นตอนการส่องกล้องด้วยกล้องเม็ดยา

ขั้นตอนของการใช้กล้องเม็ดยาจะคล้ายกับการส่องกล้องทั่วไป โดยงดน้ำและอาหารหลัง 20 นาฬิกา ก่อนหน้าวันส่องกล้อง และเมื่อจะส่องกล้อง ผู้ป่วยจะต้องดื่มน้ำที่มียาลดแก๊สในกระเพาะ หรือไซเมติโคน (Simethicone) ปริมาณ 1 ลิตร ก่อนกลืนกล้องเม็ดยาลงไป แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนลงบนโต๊ะที่มีแท่นควบคุมเหนือร่างกายซึ่งปล่อยพลังแม่เหล็กที่ใช้ในการบังคับกล้อง โดยกระบวนการส่องกล้องจะกินเวลาไม่เกิน 10 นาที สัมพันธ์กับผู้ป่วยที่รู้สึกอยากอาเจียนนำสิ่งแปลกปลอม (กล้องเม็ดยา) ออกมา


แม้ว่าจะมีการอาเจียนหลังการรักษา แต่ในการทดสอบการรักษาด้วยกล้องเม็ดยา นักวิจัยได้นำผู้ป่วยอาสาสมัครจำนวน 40 ราย ที่มีอาการเกี่ยวกับโรคท้องเสีย หรือโรคทางเดินอาหารที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะและต้องได้รับการส่องกล้องเพื่อวินิจฉัยมาทดสอบ ซึ่งผู้ป่วยกว่าร้อยละ 80 พึงพอใจกับการส่องกล้องด้วยวิธีการใหม่นี้


ประโยชน์การรักษาด้วยกล้องเม็ดยา

ในการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า การรักษาด้วยเทคนิค MCCE นั้นลดความเสี่ยงในการส่องกล้องโดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉินที่อาจเพิ่มความเสี่ยงแผลติดเชื้อหรือแม้แต่ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาจากความกังวลว่ากล้องจะทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกในกระเพาะได้ ซึ่งทีมวิจัยลงความเห็นว่าการใช้กล้อง MCCE จะเปิดทางการวินิจฉัยในห้องฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การวิจัยยังคงดำเนินต่อไป โดยปรับให้กลุ่มทดลองมีจำนวนมากขึ้นเพื่อทดสอบความแม่นยำต่อไป


งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิชาการแพทย์อย่างไอจีไอี (iGIE) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  โดยในอนาคตนักวิจัยจะผลักดันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้คู่กับกล้อง MCCE เพื่อให้ตัวกล้องสามารถบังคับตัวเองไปยังจุดที่ต้องการโดยอัตโนมัติต่อไป



ที่มาข้อมูล New Atlas

ที่มารูปภาพ George Washington University 

ข่าวแนะนำ