TNN online SpaceX ใช้แขนหุ่นยนต์ยกยานอวกาศ ​​Starship ขึ้นวางบนจรวด Super Heavy

TNN ONLINE

Tech

SpaceX ใช้แขนหุ่นยนต์ยกยานอวกาศ ​​Starship ขึ้นวางบนจรวด Super Heavy

SpaceX ใช้แขนหุ่นยนต์ยกยานอวกาศ ​​Starship ขึ้นวางบนจรวด Super Heavy

ยานอวกาศ Starship และจรวด Super Heavy เมื่อนำมาประกอบเชื่อมต่อกันจะมีความสูง 120 เมตร

วันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา บริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ประสบความสำเร็จใช้แขนหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ยกยานอวกาศ Starship หมายเลข 24 ขึ้นบนจรวด Super Heavy หมายเลข 7 บนฐานปล่อยจรวดขนาดใหญ่บริเวณศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีจรวดสเปซเอ็กซ์สตาร์เบส (Starbase) ของบริษัททางตอนใต้ของรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านี้บริษัททดสอบนำยานอวกาศ Starship ประกอบบนจรวด Super Heavy แบบ Full-Stack มาแล้ว 3 ครั้ง โดยการทดสอบครั้งล่าสุดนี้คาดว่าเป็นการเตรียมความพร้อมส่งยานอวกาศ Starship หมายเลข 24 ขึ้นสู่วงโคจรเพื่อทดสอบระบบต่าง ๆ ของยานอวกาศในการเดินทางขึ้นสู่อวกาศครั้งแรก หลังจากแผนการถูกเลื่อนกำหนดการล่าช้ามาหลายเดือน 


การยกจรวดด้วยแขนหุ่นยนต์ขนาดใหญ่

สำหรับแขนหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายตะเกียบที่สามารถยกจรวดได้นี้ถูกติดตั้งบนหอคอยความสูง 145 เมตร แขนหุ่นยนต์สามารถยกขึ้นลงได้โดยการใช้สายเคเบิลคล้ายลิฟต์ แขนหุ่นยนต์แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ แขนหุ่นยนต์สำหรับยกจรวดและแขนหุ่นยนต์สำหรับเติมเชื้อเพลิงให้จรวดที่มีลักษณะเป็นเชื้อเพลิงออกซิเจนเหลวและก๊าซมีเทนประมาณ 5,000 ตัน

จุดเด่นของการใช้แขนหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ช่วยในการยกและประกอบจรวด คือ มันสามารถช่วยให้การขนส่งจรวดจากโรงงานประกอบไปยังบริเวณฐานปล่อยจรวดทำได้ง่ายมากขึ้น รวมไปถึงแขนหุ่นยนต์ยังช่วยในการลงจอดยานอวกาศ Starship และจรวด Super Heavy ลดชิ้นส่วนที่เป็นขาตั้งลงจอดทำให้โครงสร้างมีน้ำหนักลดลง รวมไปถึงลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงตามไปด้วย


ยานอวกาศ Starship และจรวด Super Heavy

สำหรับยานอวกาศ Starship และจรวด Super Heavy เมื่อนำมาประกอบเชื่อมต่อกันจะมีความสูง 120 เมตร ทั้งยานอวกาศและจรวดรุ่นนี้ถูกออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ยานอวกาศ Starship สามารถเติมเชื้อเพลิงบนวงโคจรเพื่อทำภารกิจเดินทางดวงจันทร์และดาวอังคาร โดยจะมีการปรับแต่งยานอวกาศตามรูปแบบของภารกิจ ส่วนจรวด Super Heavy เป็นจรวดทรงพลังมากที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกใช้เครื่องยนต์จรวด Raptor ทั้งหมด 33 เครื่องยนต์



ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Twitter.com/SpaceX 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง