TNN online ทำความรู้จักเวบบ์และฮับเบิล 2 กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีชื่อเสียงที่สุดของนาซา

TNN ONLINE

Tech

ทำความรู้จักเวบบ์และฮับเบิล 2 กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีชื่อเสียงที่สุดของนาซา

ทำความรู้จักเวบบ์และฮับเบิล 2 กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีชื่อเสียงที่สุดของนาซา

ทำความรู้จักกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ดังที่สุดของนาซาทั้งกล้องฮับเบิลและเจมส์ เว็บบ์ ท่ามกลางกระแสภาพถ่ายอวกาศที่กำลังโด่งดังในขณะนี้

กล้องโทรทรรศน์เป็นกล้องที่ทำหน้าที่รวบรวมแสง สัญญาณ หรือคลื่นต่าง ๆ จากนอกโลก แล้วนำมาประมวลผลเป็นภาพถ่าย อย่างไรก็ตาม กล้องโทรทรรศน์ที่ตั้งในโลกมีข้อจำกัดเรื่องของสัญญาณรบกวนและระยะทางวัตถุที่ตรวจพบได้ จึงมีการส่งกล้องโทรทรรศน์ออกไปโคจรนอกโลกเพื่อรับภาพแล้วส่งสัญญาณกลับมา ซึ่งมีองค์กรด้านอวกาศทั่วโลกดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (The National Aeronautics and Space Administration: NASA) ที่มีกล้องโทรทรรศน์อวกาศหลากหลายโครงการ แต่ที่โด่งดังที่สุดคือกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและเจมส์ เวบบ์


กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope: HST) ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันผู้บุกเบิกการสำรวจอวกาศดาราศาสตร์ดาราจักรนอกระบบ (Extragalactic Astronomy) โดยโครงการนี้เกือบไม่สำเร็จเนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ แต่ก็สำเร็จเสร็จสิ้นและปล่อยสู่อวกาศในปี 1990 ด้วยมูลค่าโครงการตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท 


HST มีเส้นผ่านศูนย์กลางของกระจกรวมแสงอยู่ที่ 2.4 เมตร พื้นที่สังเกตการณ์ประมาณ 12.4 ตารางกิโลเมตร มากกว่า 2 เท่า ของพื้นที่เกาะเสม็ด และทำงานด้วยการตรวจจับแสงและคลื่นย่านรังสียูวี (Ultraviolet) หรือแสงเหนือม่วงเป็นหลัก โคจรในตำแหน่งวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) เหนือโลกไป 545 กิโลเมตร และยังคงส่งภาพถ่ายมาจนถึงปัจจุบัน


ในขณะที่โครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope: JWST) เป็นหนึ่งในโครงการล่าสุดของนาซา (NASA) ที่สร้างและส่งขึ้นไปโคจรนอกโลกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก่อนที่จะเปิดเผยภาพถ่ายอวกาศภาพแรกที่ JWST ส่งกลับมาโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ของสหรัฐฯ ในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวได้กลายเป็นกระแสโด่งดังในทุกช่องทางสื่อไปทั่วโลกในขณะนี้


ภาพถ่ายที่ได้จาก JWST เป็นภาพจากวิธีการตรวจวัดแสงและคลื่นสัญญาณในย่านแสงสีส้มไปจนถึงย่านอินฟราเรด (Infrared) ซึ่งเป็นย่านสำคัญในกระบวนการศึกษาจักรวาลที่ห่างไกลจากโลก โดยทำงานด้วยกระจกรวมแสงแบบจาน (Disc) ซึ่งประกอบไปด้วยกระจกหกเหลี่ยมขนาดเล็กหลายแผ่นติดกัน มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 6.5 เมตร สามารถสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้ในขอบเขตเป็น 2 เท่า ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล โดยกล้องกล้องเจมส์ เวบบ์มีพื้นที่สังเกตการณ์ประมาณ 24.8 ตารางกิโลเมตร ใกล้เคียงกับ 4 เท่า ของเกาะล้าน 


ตำแหน่งที่โครงการกล้องเจมส์ เวบบ์ตั้งอยู่นั้นห่างจากกล้องฮับเบิลมาก โดยเป็นจุดที่เรียกว่าแอล 2 ลากรองจ์ (L2 Lagrange) ซึ่งเป็นจุดที่ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลแรงดึงดูดของโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้สามารถติดตั้งอุปกรณ์ด้านอวกาศต่าง ๆ ที่จุดนี้ได้ โดยห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 1,500,000 กิโลเมตร 


ทั้งสองโครงการมีเป้าหมายสำคัญในการศึกษาอวกาศและจักรวาล รวมถึงทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางดาราศาสตร์ซึ่งอยู่ในความสนใจของนักจักรวาลวิทยา (Cosmologist) นักดาราศาสตร์ (Astronomer) และนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ (Astrophysicist) ซึ่งกำลังพยายามไขความลับของจักรวาลอย่างต่อเนื่องเพื่อมวลมนุษยชาติ 






ที่มาข้อมูล James Webb Space Telescope (JWST) - NASA

ที่มารูปภาพ Hubblesite - NASA

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง