TNN online สภาผู้บริโภค ชี้ทำรถไฟฟ้า ราคา 20 บาท ตามนโยบายทันที

TNN ONLINE

สังคม

สภาผู้บริโภค ชี้ทำรถไฟฟ้า ราคา 20 บาท ตามนโยบายทันที

สภาผู้บริโภค ชี้ทำรถไฟฟ้า  ราคา 20 บาท ตามนโยบายทันที

นักวิชาการ สภาผู้บริโภค และตัวแทนผู้บริโภค จี้รัฐบาลเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายทันที พร้อมยืนยันผลการศึกษาต้นทุนค่าเดินรถเพียง 10 - 16 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น

จากกรณีที่ สุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาแถลงข่าวว่า นโยบายเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย อาจ “ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน” แต่จะเป็นนโยบายที่จะดำเนินการภายใน 2 ปี ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ราคารถไฟฟ้าเป็นนโยบายจะ “ทำทันที”  โดยบรรจุไว้ในการแถลงนโยบายเรื่องการขนส่งมวลชนทั้งหมดแล้ว จึงเกิดคำถามว่านโยบายเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะถูกบรรจุในการแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 11 - 12 กันยายนหรือไม่ นั้น


วันที่ 8 กันยายน 2566 สำนักงานองค์กรของผู้บริโภคในฐานะผู้แทนของผู้บริโภค รวมถึงนักวิชาการ และตัวแทนผู้บริโภค จึงออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางรายการ “เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร” ที่ถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจและยูทูบ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” โดยมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รถไฟฟ้าราคา 20 บาทสามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอ 2 ปีในเส้นทางเดินรถที่รัฐเป็นเจ้าของ


สารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า  สภาผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้าราคา 20 บาท ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ทำนโยบายเรื่องขนส่งมวลชนเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี โดยมีประเด็นสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้บริโภคทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้ใช้ระบบขนส่งมวลชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมทั้งยืนยันว่านโยบายดังกล่าวสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ 2 ปี


สภาผู้บริโภค ชี้ทำรถไฟฟ้า  ราคา 20 บาท ตามนโยบายทันที

 

“เรามั่นใจว่า20 บาททำได้จริง และที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมก็ยืนยันว่าทำได้ ขณะที่งานวิจัยของสภาผู้บริโภคได้ศึกษาต้นทุนค่าโดยสารต่อเที่ยวในปี 2557 - 2562 ในระยะเวลา6 ปี ต้นทุนค่าโดยสารต่อคนต่อเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 10.10 บาท จนถึง 16.30 บาท นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ว่าชัชชาติ และเจ้าหน้าที่ กทม. ก็ได้รับคำตอบในทางเดียวกันว่าต้นทุนค่าโดยสารต่อคนต่อเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 11 -13 บาท จึงมองว่าค่าโดยสาร 20 บาทเป็นสิ่งที่ทำได้แน่นอนและสามารถทำได้ทันที” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค


สารีกล่าวอีกว่า รัฐบาลควรเริ่มต้นกำหนดค่าโดยสารราคา 20 บาทตลอดสายจากรถไฟฟ้าที่ลงทุนโดยรัฐบาล ทั้งสายที่อยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แก่ ไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดงเหนือ – ตะวันตก และสายสีเหลือง นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถดำเนินการเรื่องการเชื่อมต่อโดยไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนในรถไฟฟ้าที่รัฐบาลลงทุนได้ทันที ส่วนกรณีรถไฟฟ้าที่เอกชนลงทุน เช่น สายสีเขียว อาจเจรจาเพื่อดำเนินการได้ในภายหลัง


สภาผู้บริโภค ชี้ทำรถไฟฟ้า  ราคา 20 บาท ตามนโยบายทันที


สำหรับกรณีที่หลายภาคส่วนมีข้อห่วงกังวลเรื่องการใช้งบประมาณจากภาครัฐกว่า 5.4 พันล้านบาทเพื่อสนับสนุนรถไฟฟ้าอาจจะกระทบต่อภาระงบประมาณของภาครัฐนั้น สารี แสดงความเห็นว่า อาจต้องไปตรวจสอบข้อมูลว่าต้องใช้งบประมาณสนับสนุนมากขนาดนั้นจริงหรือไม่ ทั้งนี้มองว่าต้องนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการที่มีผู้ใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงการพัฒนารายได้จากส่วนอื่น ๆ มาหักลบกันด้วย ยังไม่รวมถึงประโยชน์ในอ้านอื่น ๆ เช่น ลดปัญหารถติด ช่วยลดฝุ่น PM2.5 และช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

 

สอดคล้องกับ ศ.ดร.เอกชัย สุมาลี นักวิชาการด้านคมนาคม ขนส่ง สถาบันนวัตกรรมบูรณาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นสนับสนุน นโยบายรถไฟฟ้าราคา 20 บาททำได้ทันที โดยเริ่มต้นจากค่าโดยสารรถไฟฟ้าของรัฐก่อน จากสถิติของคนกรุงเทพและปริมณฑลส่วนใหญ่จะเดินทางรถไฟฟ้าไม่เกินประมาณ 6 - 8 สถานี เพราะฉะนั้นโจทย์แรกที่ต้องแก้ปัญหาคือทำให้ผู้บริโภคที่เดินทางระยะ 10 สถานี สามารถจ่ายค่าโดยสาร 20 บาท ซึ่งเชื่อว่าการเริ่มต้นจากคนกลุ่มนี้ก่อนจะสามารถลดข้อจำกัดหรือข้อโต้แย้งด้านอื่น ๆ ในเชิงภาระการเงินได้ 


สภาผู้บริโภค ชี้ทำรถไฟฟ้า  ราคา 20 บาท ตามนโยบายทันที


ศ.ดร.เอกชัย กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ควรพิจารณาการพัฒนารถไฟฟ้าที่ไม่ใช่เร่งเพียงโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องมองภาพรวมทั้งระบบพัฒนาไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการผลักดันตั๋วร่วม เชื่อมรถไฟฟ้าทุกสายเข้าด้วยกัน และลดค่าแรกเข้า ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการลดค่าโดยสาร


ในทำนองเดียวกัน รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยัน การทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายสามารถทำได้ โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง แนวทางแรก คือ ปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่อยู่ในการดูแลหน่วยงานรัฐซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที แต่อาจจะมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นทำให้เกิดปัญหาการขาดทุน ซึ่งต้องพิจารณาในเรื่องการหารายได้เพิ่มจากการใช้ประโยชน์พื้นที่สถานี เช่น การให้เช่าพื้นที่ต่อสถานี การเชื่อมต่อกับศูนย์การค้า หรือการโฆษณาในสถานี ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ทำให้ไม่ต้องขาดทุนได้


สภาผู้บริโภค ชี้ทำรถไฟฟ้า  ราคา 20 บาท ตามนโยบายทันที


ส่วนแนวทางที่สอง สำหรับรถไฟฟ้าสายที่ไม่ใช่ของรัฐ เช่น บีทีเอส สีเขียว หรือสายสีเหลือง รัฐจะต้องเจรจา แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของการเจรจา โดยกรณีสายสีเขียวใกล้จะหมดสัมปทานในปี 2572 รวมไปถึงการเจรจาเรื่องการยกเลิกการจ่ายค่าแรกเข้าจะช่วยให้ลดราคาค่าโดยสารได้ 


“รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นความท้าทายที่สามารถทำได้ โดยต้องทำทั้งสองแนวทางคู่กันไปคือรถไฟฟ้าที่เป็นของรัฐบาลต้องลดราคาทันที และต้องการเจรจากับรถไฟฟ้าที่เป็นของเอกชนเพื่อขอลดราคา เพราะจากที่เคยศึกษาต้นทุนค่าโดยสารอยู่ในช่วงประมาณราคา 16 – 17 บาท เพราะฉะนั้น 20 บาทจึงมีความเป็นไปได้ และอยากสนับสนุนให้รัฐบาลทำในฐานะที่เพิ่งรับตำแหน่งใหม่ ทั้งนี้ หากรัฐบาลดำเนินการได้ตามที่เคยประกาศนโยบายเอาไว้คนจะเชื่อถือและสนับสนุนเป็นเกราะป้องกันในการทำงานได้” รศ. ดร.ชาลี กล่าว


ด้านตัวแทนผู้บริโภค จักรกฤต เต็มเปี่ยม กล่าวว่า คาดหวังที่จะได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรมมาตลอดระยะเวลา 9 ปี และคาดหวังว่าภายหลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในวันที่ 11 กันยายน 2566 จะมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้นและรัฐบาลจะดำเนินการตามนโยบายรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสาย ทันที และมีข้อเสนอเพิ่มเติมในเรื่องการใช้บัตรใบเดียวใช้รถไฟฟ้าได้ทุกสาย ทั้งนี้ จักรกฤติ เน้นว่าหากค่ารถไฟฟ้าราคา 20บาทตลอดสายจะทำให้มีผู้บริโภคเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้นด้วย

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง