TNN online รู้จัก! "เพอร์เซเวียแรนส์" มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ "Mars 2020 Perseverance Rover"

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รู้จัก! "เพอร์เซเวียแรนส์" มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ "Mars 2020 Perseverance Rover"

รู้จัก! เพอร์เซเวียแรนส์ มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ Mars 2020 Perseverance Rover

นาซา (NASA) เตรียมส่ง "รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์" (Perseverance) ไปสำรวจดาวอังคารกับภารกิจ "Mars 2020 Perseverance Rover"

วันนี้ (29 ก.ค.63) องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) หรือ นาซา เตรียมส่ง "รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์" (Perseverance) ขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวด ณ แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 30 ก.ค. 63 เวลาประมาณ 18.50 น. ตามเวลาประเทศไทย กับภารกิจ "Mars 2020 Perseverance Rover" โดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจร่องรอยของสิ่งมีชีวิตโบราณบนดาวอังคาร

รู้จัก! เพอร์เซเวียแรนส์ มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ Mars 2020 Perseverance Rover

โดยจะเดินทางไปพร้อมเพื่อนเฮลิคอปเตอร์ตัวน้อย ชื่อ "อินเจนูอิตี" (Ingenuity) เป็นเฮลิคอปเตอร์ลำแรกที่จะทดลองบินบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ที่จะช่วยให้เห็นสภาพบรรยากาศของดาวอังคารในมุมองที่แตกต่างออกไป ก่อนลงจอดบนดาวอังคารในอีก 7 เดือนข้างหน้า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 

ด้าน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ได้เผยแพร่บทความให้ความรู้เกี่ยวกับ "รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์" ไว้ 7 ข้อ ดังนี้ 

รู้จัก! เพอร์เซเวียแรนส์ มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ Mars 2020 Perseverance Rover

1) ภารกิจค้นหาสิ่งมีชีวิตและนำร่องสู่การส่งมนุษย์ไปเหยียบดาวอังคาร

ภารกิจ “Mars 2020” หรือ “เพอร์เซเวียแรนส์” (Perseverance) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ NASA’s Mars Exploration Program มีเป้าหมายภารกิจเพื่อสำรวจร่องรอยของสิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์ รวมทั้งศึกษาลักษณะสภาพอากาศ สภาพทางธรณีวิทยา และเก็บตัวอย่างดินดาวอังคารเพื่อรอส่งกลับมาศึกษายังโลก

นอกจากการเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ นาซายังทดสอบอุปกรณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity Mars Helicopter) และเครื่อง MOXIE ที่ใช้ผลิตออกซิเจน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจต่อไป และนำไปสู่เป้าหมายที่จะนำมนุษย์ไปเหยียบดาวอังคารในอนาคต

รู้จัก! เพอร์เซเวียแรนส์ มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ Mars 2020 Perseverance Rover

2) “Launch Window”

นาซามีกำหนดปล่อยจรวดเพื่อส่งยานเพอร์เซเวียแรนส์สู่ดาวอังคาร ณ แหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟอริดา สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 15 สิงหาคม 2563 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่โลก ดวงอาทิตย์ และดาวอังคารอยู่ในมุมที่เหมาะสม มีระยะห่างน้อย ทำให้ใช้พลังงานน้อยที่สุดในการส่งจรวดไปยังดาวอังคาร ซึ่งช่วยลดต้นทุนการส่งจรวดและเชื้อเพลิง

หากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น จรวดจะถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 18:50 น. ตามเวลาในประเทศไทย

รู้จัก! เพอร์เซเวียแรนส์ มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ Mars 2020 Perseverance Rover

3) “Skycane” ช่วยให้ลงจอดอย่างปลอดภัย

หนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญ ซับซ้อน และท้าทายที่สุดนั้นหนีไม่พ้น ช่วงที่ยานเข้าสู่ขั้นบรรยากาศดาวอังคารและลงจอด ณ หลุมอุกกาบาตเจซีโร (Jezero Crater) พื้นที่เป้าหมายของนาซาในการสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นผิวของดาวอังคารในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นบริเวณที่คาดว่าเคยถูกน้ำท่วม ช่วยให้ง่ายต่อการหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต

ในภารกิจนี้นาซาตัดสินใจใช้ระบบการลงจอดคล้ายกับยานคิวริออสซิตี (Curiosity) ที่ประสบความสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2555 กล่าวคือ ใช้ “Skycane” ที่ขับดันด้วยไอพ่น แล้วค่อย ๆ หย่อนรถสำรวจลงสู่พื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีการพัฒนาต่อยอดจากระบบเก่าที่จะช่วยให้ยานสามารถลงจอดได้แม่นยำและอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

รู้จัก! เพอร์เซเวียแรนส์ มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ Mars 2020 Perseverance Rover

4) ห้องทดลองเคลื่อนที่

ด้วยขนาดของเพอร์เซเวียแรนส์ที่ใหญ่ประมาณรถยนต์ มันจึงมาพร้อมอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น กล้องความละเอียดสูง Mastcam-Z, อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ MEDA, อุปกรณ์ตรวจโมเลกุลเคมี PIXL, อุปกรณ์เรดาร์สแกนใต้พื้นผิว RIMFAX, อุปกรณ์ตรวจหาสารอินทรีย์และแร่ธาตุระยะใกล้ SHERLOC และอุปกรณ์ตรวจโมเลกุลเคมีธาตุระยะไกล SuperCam

อุปกรณ์ทั้งหมดนี้ ถูกติดตั้งเพื่อให้เพอร์เซเวียแรนส์เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของดาวอังคาร ทั้งทางธรณีวิทยา สภาพอากาศ ร่องรอยของโมเลกุลสิ่งมีชีวิต ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลอาจนำไปสู่คำตอบด้านชีวดาราศาสตร์ (Astrobiology) และความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อกำเนิด วิวัฒนาการ ตลอดจนการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตในเอกภพ

รู้จัก! เพอร์เซเวียแรนส์ มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ Mars 2020 Perseverance Rover

5) ยานสำรวจที่มีกล้องเยอะที่สุด

เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดระหว่างปฎิบัติภารกิจ นาซาติดตั้งกล้องบนเพอร์เซเวียแรนส์ทั้งหมด 23 ตัว มากที่สุดนับตั้งแต่มีการส่งยานสำรวจอวกาศ กล้องเหล่านี้มีจุดประสงค์แตกต่างกันออกไป ทั้งในทางวิศวกรรมและทางวิทยาศาสตร์ สำหรับตรวจเช็คความเรียบร้อยของการทำงานและการลงจอดของยานในแต่ละช่วง รวมทั้งเก็บข้อมูลภาพถ่ายเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณะ

รู้จัก! เพอร์เซเวียแรนส์ มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ Mars 2020 Perseverance Rover

6) “อินเจนูอิตี” เฮลิคอปเตอร์ลำแรกบนดาวอังคาร

“อินเจนูอิตี” (Ingenuity) เฮลิคอปเตอร์ลำแรกที่จะถูกนำมาทดสอบการบินบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ความท้าทายของทดสอบนี้คือแม้ดาวอังคารจะมีแรงโน้มถ่วงต่ำ แต่เนื่องจากชั้นบรรยากาศนั้นเบาบางเพียง 1% เมื่อเทียบกับโลก ทำให้ทีมวิศวกรของนาซาต้องออกแบบให้อินเจนูอิตีมีน้ำหนักเบา และมีความเร็วรอบใบพัดที่สูงมากถึง 2,400 รอบ/วินาที เร็วกว่าเฮลิคอปเตอร์บนโลก ถึง 4 เท่า เพื่อให้เกิดแรงยกใต้ปีกใบพัด และสามารถบินขึ้นจากพื้นดาวอังคารได้

นอกจากนี้ ยังทดสอบ “MOXIE” เครื่องแปลงสภาพแก๊สคาร์บอนไดออกไซต์เป็นแก๊สออกซิเจน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งแก๊สออกซิเจนจากโลก เพื่อใช้สำหรับหายใจและเป็นเชื้อเพลิงภายในยานอวกาศ หากสำเร็จจะส่งผลต่อภารกิจอนาคตที่จะส่งมนุษย์คนแรกไปยังดาวอังคารเป็นอย่างมาก

รู้จัก! เพอร์เซเวียแรนส์ มุ่งหน้าดาวอังคาร ภารกิจ Mars 2020 Perseverance Rover

7) “Send Your Name to Mars”

ถึงแม้มนุษย์จะยังไม่สามารถเดินทางไปดาวเคราะห์ดวงอื่นได้ แต่สำหรับภารกิจที่กำลังจะเกิดในวันพรุ่งนี้ นาซาได้เชิญชวนคนทั่วโลก ส่งชื่อไปดาวอังคารกับยานเพอร์เซเวียแรนส์ ผ่านกิจกรรม “Send Your Name to Mars” มีประชาชนจากทั่วทุกมุมโลกส่งมาเป็นจำนวนกว่า 10.9 ล้านรายชื่อ ชื่อทั้งหมดถูกบันทึกลงชิปซิลิกอนที่ติดอยู่บนตัวยานพร้อมลายสลักรูปโลกและดาวอังคารที่เชื่อมต่อกันตรงกลางด้วยดวงอาทิตย์ โดยเส้นลำแสงดวงอาทิตย์ถูกสลักเป็นรหัสมอร์ส ที่มีความหมายว่า “Explore as one”

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชมไลฟ์ได้ทาง https://go.nasa.gov/2CJHidq วันที่ 30 ก.ค.63 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

เรียบเรียงข้อมูลโดย เจษฎา กีรติภารัตน์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง