TNN online ดาวเคราะห์น้อยชนโลกก่อสึนามิยักษ์ถล่มไดโนเสาร์เมื่อ 66 ล้านปีก่อน

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดาวเคราะห์น้อยชนโลกก่อสึนามิยักษ์ถล่มไดโนเสาร์เมื่อ 66 ล้านปีก่อน

ดาวเคราะห์น้อยชนโลกก่อสึนามิยักษ์ถล่มไดโนเสาร์เมื่อ 66 ล้านปีก่อน

ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน คลื่นยักษ์สึนามิ สูง 1.6 กิโลเมตร ทำลายล้างชีวิตไดโนเสาร์

วันนี้ ( 1 ก.พ. 66 )กลุ่มนักวิจัยนานาชาติจากสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล รวมถึงห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมทางทะเลแปซิฟิกขององค์การบริหารมหาสมุทร และชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ โนอา ในสหรัฐฯ ระบุว่า  ดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 ไมล์ หรือเกือบ 10 กิโลเมตร  ได้พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน  และกวาดล้างไดโนเสาร์เกือบหมด รวมถึงทำลายล้างพืช และสัตว์สายพันธุ์อื่น ราว 3 ใน 4 ของโลก   เนื่องจากเกิดคลื่นยักษ์สึนามิความสูงราว 1 ไมล์ หรือประมาณ  1.6 กิโลเมตร

โดยมีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างแบบจำลองรายละเอียดการไหลจากของเหลวที่เรียกว่า ไฮโดรโคด  และมีการจำลองการเกิดสึนามิในช่วง 10 นาทีแรก พร้อมกับมีการใช้แบบจำลองที่พัฒนาโดยองค์การบริหารมหาสมุทร และชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ  จากนั้นทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลทางธรณีวิทยาในพื้นที่ต่างๆ มากกว่า 100 แห่งทั่วโลก และพบหลักฐานสนับสนุนการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาดใหญ่เมื่อ 66 ล้านปีก่อน   ผลการศึกษานี้ ยังช่วยประเมินและบอกถึงความเสี่ยงของผลกระทบจากดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ในอนาคต 

ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวถึงกรณีที่พบดาวเคราะห์น้อย 2023 BU  เพียงไม่กี่วัน ก่อนที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เคลื่อนตัวเข้าใกล้โลกเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา โดยพวกเขาบอกว่า โลกยังมีความผิดพลาดในการประเมินภัยคุกคามจากนอกโลก  แม้ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU  ไม่สร้างอันตรายแก่ชาวโลกก็ตาม

 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ให้ความสำคัญต่อการตรวจจับดาวเคราะห์น้อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา   เนื่องจากว่า  ดาวเคราะห์น้อย มีทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก  ซึ่งอาจมีอันตรายต่อโลก   หากดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ เคลื่อนตัวเข้าใกล้โลก  แต่มนุษย์ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ทันเวลา ก็จะสร้างความเสียหายต่อชาวโลก  อันมีสาเหตุมาจากเครื่องมือตรวจจับในปัจจุบัน  ไม่สามารถตรวจจับดาวเคราะห์น้อยได้ล่วงหน้าเป็นเวลาหลายวัน

เหมือนเหตุการณ์ที่อุกกาบาตขนาด 20 เมตรตกที่เมืองเชเลียบินสก์ในรัสเซียเมื่อปี 2013  ทำให้กระจกหน้าต่างของอาคารบ้านเรือนนับหมื่นได้รับความเสียหาย  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่มีผู้ใดสามารถรู้ล่วงหน้า ก่อนที่ดาวตกเดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ภาพจาก : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง