TNN "พืชกระท่อม" วิจัยเภสัชจุฬาฯชี้ช่วยลดปวด-แก้อักเสบ

TNN

Health

"พืชกระท่อม" วิจัยเภสัชจุฬาฯชี้ช่วยลดปวด-แก้อักเสบ

พืชกระท่อม วิจัยเภสัชจุฬาฯชี้ช่วยลดปวด-แก้อักเสบ

วิจัยเภสัชฯ จุฬาฯ ชี้ พืชกระท่อม ช่วยลดปวด-แก้อักเสบ ถอนยาเสพติดร้ายแรงอื่น ๆ แทนยาเคมีได้

รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.ธงชัย สุขเศวต อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยเรื่อง “กระท่อม” ให้ข้อมูลไว้ว่า

“กระท่อมเป็นยาที่คนในสมัยโบราณใช้กันมานานมาก เรียกได้ว่าเป็นยาสามัญที่มีอยู่แทบทุกบ้านเลยก็ว่าได้ ใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนบ้าน ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าสังคมในงานสำคัญ ๆ ต่าง และใช้เป็นยาชูกำลังในการทำงานที่ต้องใช้แรง”


ที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยพืชกระท่อมทางการแพทย์และเภสัชกรรมทำได้ยาก จนเมื่อมีการปลดล็อกพืชกระท่อม ก็เปิดโอกาสให้เกิดการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และยามากมาย เช่นที่ ดร.ธงชัย ศึกษาวิจัยพืชกระท่อมเพื่อทำสารสกัดยาสมุนไพรมาตรฐานเป็นยาแก้ปวดที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงเป็นยาช่วยเลิกสารเสพติดประเภทยาบ้าและยามอร์ฟีน


“พืชกระท่อมมีศักยภาพที่จะพัฒนามาใช้เป็นยาทั้งทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน จึงควรมีการส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป”


-พืชกระท่อม จากยาสามัญประจำถิ่นสู่ยาเสพติด


กระท่อมเป็นพืชพื้นถิ่นที่พบกระจายทั่วประเทศไทย พบหนาแน่นในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ด้วยความที่เป็นพืชพื้นถิ่นเช่นนี้ คนไทยนับตั้งแต่อดีตจึงรู้จักและสั่งสมภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ ทั้งในแง่การรักษาโรค ลด-คลายอาการปวดเมื่อย เพิ่มกำลังในการทำงาน เป็นต้น



-“ไมทราไจนีน” สารแก้ปวดและลดอักเสบในใบกระท่อม


ใบของพืชกระท่อมเป็นส่วนที่มักใช้เป็นยาสมุนไพร ทั้งในรูปยาเดี่ยว หรือเป็นตำรับยาพื้นบ้าน เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งสรรพคุณทางยามาจากสารไมทราไจนีน ซึ่งสารตัวนี้พบแค่ในพืชกระท่อมเท่านั้น ไม่พบที่ต้นไม้ชนิดอื่นแม้จะอยู่ในตระกูลเดียวกัน


“ในการศึกษาวิจัยพบว่าสารไมทราไจนีน มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและแก้ปวดในระดับปานกลางถึงค่อนข้างรุนแรงได้ เราจึงอาจนำกระท่อมมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาแก้ปวด ที่มีสรรพคุณทางยาเทียบเท่ากับ “ทรามาดอล” ที่เป็นเคมี”


อาจด้วยฤทธิ์คลายปวดและลดการอักเสบของไมทราไจนีนในใบกระท่อม ที่ทำให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานนิยมใช้พืชกระท่อมเป็นเสมือนยาชูกำลัง คลายปวด ลดเมื่อย


“คนกลุ่มนี้นิยมเคี้ยวใบกระท่อมสดก่อนออกไปทำงาน โดยเชื่อว่าจะทำให้รู้สึกแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า ทำงานได้นาน ไม่เหนื่อยล้า ไม่ปวดเมื่อย ไม่ง่วงนอน ทนต่อความร้อน สามารถทำงานกลางแดดได้นานยิ่งขึ้น”


ดร.ธงชัย เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาการใช้ใบกระท่อมเป็นประจำในภาคใต้ของไทย ยังไม่พบการเพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพอย่างชัดเจน


-กระท่อม ศักยภาพเป็นยารักษาอีกหลายโรค


นอกจากฤทธิ์ในการลดปวด แก้อาการอักเสบแล้ว จากการศึกษาวิจัยที่พบว่าพืชกระท่อมอาจมีฤทธิ์ในการรักษาโรคอื่น ๆ อีกด้วย ได้แก่ ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ลดอาการท้องเสีย ลดความอยากอาหาร ฤทธิ์ต้านปรสิตและเชื้อจุลชีพ ฤทธิ์ต้านอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า และโรคจิต


-กระท่อม บำบัดและถอนยาเสพติดร้ายแรง


หนึ่งในศักยภาพสำคัญของกระท่อมคือใช้ทดแทนหรือบำบัดอาการถอนยาจากการเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ ฝิ่น เฮโรอีน หรือยาเสพติดชนิดอื่น ๆ


“พืชกระท่อมมีฤทธิ์แก้ปวดคล้ายมอร์ฟีน แต่อันตรายน้อยกว่า โอกาสติดน้อยกว่า ดังนั้น คนในบางประเทศจึงมีการนำกระท่อมมาใช้เป็นยาสำหรับการถอนยาเสพติดชนิดแรง ๆ ตัวอื่น ๆ แทนการใช้ยาถอนยาเสพติดที่ทำมาจากเคมีในปัจจุบัน”


ด้วยความที่ใบกระท่อมมีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน หลายคนกังวลว่าจะมีการใช้พืชกระท่อมเป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตยา


ดร.ธงชัย กล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นไปได้ยาก ด้วยตัวกระท่อมเอง ไม่สามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นการผลิตยาเสพติดได้ และการจะนำสารสำคัญในใบกระท่อมไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดตัวอื่นก็ไม่ง่ายเช่นกัน การสกัดเอาไมทราไจนีนออกมาให้บริสุทธิ์นั้นไม่ง่าย มีขั้นตอนที่ซับซ้อนพอสมควร อีกประการต้นทุนในการผลิตก็สูง”


-ข้อควรระวังในการใช้พืชกระท่อม


แม้พืชกระท่อมจะมีสรรพคุณทางยา มีประโยชน์ โทษน้อย แต่แนะนำว่า “ให้ใช้เฉพาะที่จำเป็น จะดีที่สุด”


“สำหรับผู้ใหญ่ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้ ให้ใช้วิธีดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ทานอาหารให้ครบถ้วนอย่างถูกต้อง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ และไม่เครียด หรือลดความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม แต่ถ้ามีความต้องการหรือมีความจำเป็นต้องใช้ใบกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อม ก็ควรใช้อย่างถูกต้อง ปรึกษาผู้รู้ และระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น” ทั้งนี้ อาจารย์ธงชัยให้ข้อควรระวังในการใช้ใบกระท่อม ดังนี้


1.ห้ามเด็กใช้ เพราะมีความเสี่ยงที่เด็กจะเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ง่ายกว่า เช่น ลมชัก อาการทางจิตและประสาท และเมื่อเริ่มใช้แล้ว อาจชักนำไปสู่การใช้ยาเสพติดให้โทษที่รุนแรงมากขึ้นได้


2.ผู้ที่ตั้งครรภ์ห้ามใช้โดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดความเสี่ยงที่เด็กในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้ว เด็กอาจมีอาการติดยาได้


3.ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต ห้ามใช้


4.อย่าใช้ในปริมาณที่มากเกินไป ให้ใช้ตามที่กำหนดไว้ในผลิตภัณฑ์ใบกระท่อมแต่ละชนิด

ถ้าพบว่าเมื่อใช้แล้ว มีอาการข้างเคียง เช่น ใจสั่น กระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน ก็ให้หยุดใช้ และอย่าใช้อีก เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้


5.ถ้ามีการใช้ยารักษาโรคเป็นประจำ และอยากใช้ใบกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อม ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หรือ ถ้าใช้ใบกระท่อมอยู่เป็นประจำ เมื่อไม่สบาย ต้องไปพบแพทย์และเภสัชกร ให้แจ้งด้วยว่า มีการใช้ใบกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์จากใบกระท่อมอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการตีกันของยาและเกิดพิษจากยาขึ้นได้


-ข้อห้ามในการใช้ใบกระท่อมร่วมกับยาแผนปัจจุบันหรือยาอื่น ๆ ดังต่อไปนี้


ผู้ที่ใช้กัญชา (ยา) ห้ามใช้กระท่อมควบคู่กัน เพราะกระท่อมจะทำให้ฤทธิ์ของกัญชาแรงขึ้น

สำหรับคนเป็นเบาหวานให้ระวัง จากการวิจัยพบว่า กระท่อมมีสารที่ไปช่วยการลดน้ำตาลในกระแสเลือด ถ้าใช้ควบคู่กับผู้ที่ต้องทานยาเบาหวาน หรือที่ต้องฉีดอินซูลินใต้ผิวหนังเป็นประจำ อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ไฮโปไกลซีเมีย) ได้


ท้ายที่สุด กระท่อมมีประโยชน์มาก แต่ก็มีโทษเช่นกัน หากใช้ในทางที่ผิด และปราศจากการควบคุมที่เหมาะสม “มีผู้เอาใบกระท่อมไปเสพเพื่อสันทนาการ โดยผสมกับสารอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายมากขึ้น เช่น ยาน้ำแก้ไอ ยากันยุง น้ำอัดลม ผงในหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น เป็นสูตรที่เรียกว่า 4X100 เพื่อให้มีฤทธิ์มึนเมารุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้เสพมาก” อาจารย์ธงชัยกล่าว “การใช้พืชกระท่อมหรือกัญชาควรเป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะด้านการแพทย์เท่านั้น ไม่ควรใช้เพื่อการสันทนาการ และจำเป็นต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดการใช้ไปในทางที่ผิด”


 บทความจาก: รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.ธงชัย สุขเศวต อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง