TNN online ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หากป่วยมีอาการแบบไหน ป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออย่างไร

TNN ONLINE

Health

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หากป่วยมีอาการแบบไหน ป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออย่างไร

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หากป่วยมีอาการแบบไหน ป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออย่างไร

เปิดข้อมูล ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หากป่วยมีอาการแบบไหน วิธีการรักษาและการป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออย่างไร

เปิดข้อมูล ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หากป่วยมีอาการแบบไหน วิธีการรักษาและการป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออย่างไร


ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ชนิด A (Influenza)  เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน


สาเหตุ


เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมี 3 ชนิด (type) คือ A, B และ C ไวรัสชนิด A เป็นชนิดที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไวรัสชนิด B ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค ส่วนชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อนหรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาด


วิธีการติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก


ระยะฟักตัว

ประมาณ 1-3 วัน


ระยะติดต่อ

ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน


อาการที่พบ

อาการที่พบได้หลังติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A  ผู้ป่วยจะมีไข้  ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  เจ็บคอ  ไอ  บางรายอาจจะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย  โดยปกติแล้วระยะการหายจากโรคจะอยู่ในช่วง 5- 7 วัน  แต่บางรายก็อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง  เช่น หอบ เหนื่อย  ปอดอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดการเสียชีวิตได้  


กลุ่มคนที่ต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการเป็นพิเศษจะเป็นคนชราที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำ  หญิงตั้งครรภ์  คนอ้วนที่มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัมขึ้นไป  หรือคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน  ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หอบหืด  ทาลัสซีเมีย เป็นต้น


การรักษาโรค


การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A  แพทย์จะจ่ายยาตามอาการ เช่น  ยาลดไข้  ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ   ผงเกลือแร่สำหรับคนที่มีอาการท้องเสีย  กินได้น้อย  ร่างกายอ่อนเพลีย  หากมีอาการรุนแรง  อาจจะพิจารณานอนโรงพยาบาลร่วมกับการรับประทานยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ((oseltamivir)


การป้องกัน


เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปีที่ระบาด  ดังนั้นเราจึงควรฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกปี  ปีละ 1 ครั้ง  แม้นว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ก็สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังการติดเชื้อได้




ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค / โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง