TNN online หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วยไข้เลือดออก ชี้เป็นซ้ำได้ส่วนใหญ่ครั้งที่ 2 จะหนักกว่าครั้งอื่นๆ

TNN ONLINE

Health

หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วยไข้เลือดออก ชี้เป็นซ้ำได้ส่วนใหญ่ครั้งที่ 2 จะหนักกว่าครั้งอื่นๆ

หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วยไข้เลือดออก ชี้เป็นซ้ำได้ส่วนใหญ่ครั้งที่ 2 จะหนักกว่าครั้งอื่นๆ

ไข้เลือดออกยังระบาด! หมอมนูญ เผยเคสผู้ป่วยหญิงอายุ 50 ปีป่วยไข้เลือดออก ชี้คนเป็นแล้วเป็นอีกได้ถึง 4 ครั้ง ส่วนใหญ่ครั้งที่ 2 จะหนักกว่าครั้งอื่นๆ

ไข้เลือดออกยังระบาด! หมอมนูญ เผยเคสผู้ป่วยหญิงอายุ 50 ปีป่วยไข้เลือดออก ชี้คนเป็นแล้วเป็นอีกได้ถึง 4 ครั้ง ส่วนใหญ่ครั้งที่ 2 จะหนักกว่าครั้งอื่นๆ


นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ โรคไข้เลือดออก 


โดยระบุว่า ผู้ป่วยหญิงอายุ 50 ปีมาโรงพยาบาลวันที่ 20 มกราคม 2567 มีไข้ ปวดตัว หนาว และคลื่นไส้ 3 วัน อยู่บ้านเดียวกับลูกสาวเพิ่งป่วยเป็นไข้เลือดออก 5 วันก่อน อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส ความดัน 90 /60 เจาะเลือด เม็ดเลือดขาวต่ำ 2,240 เกร็ดเลือดต่ำ 97,000 เอนไซม์ตับขึ้นเล็กน้อย SGOT 107, SGPT 81 


ตรวจรหัสพันธุกรรมในเลือดพบ Dengue virus type 2 เป็นชนิดเดียวกับไข้เลือดออกที่ลูกสาวกำลังเป็น ให้กลับบ้านรักษาตามอาการ ติดตามอีก 4 วันไข้ลง อาการดีขึ้น เม็ดเลือดขาวขึ้น 5,500 เกร็ดเลือดขึ้น 168,000 เอนไซม์ตับลดลง SGOT 66, SGPT 88


ผู้ป่วยรายนี้เคยเป็นไข้เลือดออก 3 ปีก่อน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ครั้งนั้นมีไข้สูง 5 วัน อ่อนเพลีย หน้ามืด ความดันต่ำ 80/50 เม็ดเลือดขาวต่ำ 800, เกร็ดเลือดต่ำ 62,000 ค่าเอนไซม์ตับสูง SGOT 1,315, SGPT 866 ต้องนอนในรพ.ให้น้ำเกลือ นอนอยู่ 3 วัน ดีขึ้น กลับบ้านได้


ทั้งนี้ ไวรัสไข้เลือดออกมี 4 ชนิด คนเป็นแล้วเป็นอีกได้ถึง 4 ครั้ง ส่วนใหญ่ครั้งที่ 2 จะหนักกว่าครั้งอื่นๆ ผู้ป่วยรายนี้น่าจะป่วยเป็นไข้เลือดออกครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 อาการน้อยเมื่อเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อน ครั้งนั้นหนักกว่าครั้งนี้มาก ต้องนอนโรงพยาบาลครั้งนั้นน่าจะป่วยเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2





สัญญาณเตือนและอาการของ โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกติดต่อจากคนสู่คน โดยมียุงลาย เป็นพาหะที่สำคัญ โดยหลังจากที่ถูกกัดประมาณ 3-8 วัน ก็จะเริ่มมีอาการของไข้เลือดออกเกิดขึ้น ดังนี้

-มีไข้สูงเกือบตลอดเวลา
-มีผื่นแดงหรือจุดเลือดออกตามตัว
-ปวดศีรษะ
-ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดกระดูก
-เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
-ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา
-หากมีอาการรุนแรงอาจเกิดเลือดออกผิดปกติ และอาการช็อกได้


ป้องกันอย่างไรให้ไกลจาก โรคไข้เลือดออก

-กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
-หลีกเลี่ยงภาชนะที่มีน้ำขังต่าง ๆ
-ตุ่ม โอ่งต้องมีฝาปิดมิดชิด
-ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำ เช่น แจกัน ทุก ๆ 7 วัน
-ใส่ทรายอะเบตลงในตุ่มน้ำและภาชนะกักเก็บน้ำในอัตราส่วน 10 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และควรเติมใหม่ทุก 2-3 เดือน
-ป้องกันการถูกยุงกัดที่เหมาะสม เช่น ทายาป้องกันยุง หรือใช้ยากันยุง เป็นต้น
-สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อลดโอกาสการถูกยุงกัด

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีป้องกัน โรคไข้เลือดออก ที่พูดถึงกันมากที่สุดในปัจจุบัน นั่นก็คือ การใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก วัคซีนจะสามารถใช้ได้ผลดีและลดความรุนแรงได้โดยเฉพาะในคนที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน



ที่มา หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC / RAMA NHANNEL 

ภาพจาก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง