TNN online วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก! หมอมนูญ แนะวิธีการฉีดและข้อห้ามที่ควรรู้

TNN ONLINE

Health

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก! หมอมนูญ แนะวิธีการฉีดและข้อห้ามที่ควรรู้

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก! หมอมนูญ แนะวิธีการฉีดและข้อห้ามที่ควรรู้

หมอมนูญ เผยข้อมูล "ไข้เลือดออก" สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนถึง 80.2% แนะวิธีการฉีด ใครบ้างที่ควรห้ามฉีด?

หมอมนูญ เผยข้อมูล "ไข้เลือดออก" สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนถึง 80.2% แนะวิธีการฉีด ใครบ้างที่ควรห้ามฉีด?


นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ โรคไข้เลือดออก

โดยระบุว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ไวรัสไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ คนจึงอาจเป็นแล้วเป็นอีกได้ถึง 4 ครั้ง โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นครั้งที่ 2 จะหนักกว่าครั้งอื่นๆ กลุ่มเสี่ยงที่ป่วยหนักคือ ผู้ใหญ่วัยทำงานถึงวัยกลางคนอายุ 25-54 ปี เพราะมีโอกาสติดเชื้อครั้งที่ 2 สูงกว่ากลุ่มอื่น แม้คนติดเชื้อครั้งที่ 2 จะสุขภาพดีก็ยังสามารถป่วยเป็นไข้เลือดออกรุนแรงได้ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง


ในปี 2566 ไข้เลือดออกระบาดหนักที่สุดในรอบ 5 ปี และในปี 2567 ไข้เลือดออกเป็นอีกโรคหนึ่งที่คาดว่าจะระบาดหนักร่วมกับโควิดและไข้หวัดใหญ่


โชคดีว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยมีวัคซีนตัวที่ 2 เพิ่งเข้าประเทศไทย ชื่อวัคซีน Qdenga เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ มีประสิทธิภาพดี สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์สูงถึง 80.2% และลดการนอนโรงพยาบาลด้วยไข้เลือดออกได้สูงถึง 90.4% มีการศึกษาติดตามระยะยาวถึง 4.5 ปี พบว่ายังคงประสิทธิภาพในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้ถึง 84.1%


โดยแนะนำให้ฉีดเข้าต้นแขนใต้ผิวหนัง (subcutaneous) ในคนอายุ 4–60 ปี จำนวน 2 เข็ม โดยห่างกัน 3 เดือน เป็นวัคซีนที่ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน เนื่องจากสามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออก แตกต่างจากวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตัวแรก Dengvaxia ที่ต้องตรวจเลือดก่อนฉีด เพราะฉีดได้เฉพาะผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกเท่านั้น


ข้อห้าม: ห้ามฉีดผู้หญิงตั้งครรภ์ และกำลังให้นมบุตร คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กินยากดภูมิ ได้ยาเคมีบำบัด เคยปลูกถ่ายอวัยวะ และคนติดเชื้อไวรัสเอชไอวี


สัญญาณเตือนและอาการของ โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกติดต่อจากคนสู่คน โดยมียุงลาย เป็นพาหะที่สำคัญ โดยหลังจากที่ถูกกัดประมาณ 3-8 วัน ก็จะเริ่มมีอาการของไข้เลือดออกเกิดขึ้น ดังนี้

-มีไข้สูงเกือบตลอดเวลา
-มีผื่นแดงหรือจุดเลือดออกตามตัว
-ปวดศีรษะ
-ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดกระดูก
-เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
-ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา
-หากมีอาการรุนแรงอาจเกิดเลือดออกผิดปกติ และอาการช็อกได้


ป้องกันอย่างไรให้ไกลจาก โรคไข้เลือดออก

-กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
-หลีกเลี่ยงภาชนะที่มีน้ำขังต่าง ๆ
-ตุ่ม โอ่งต้องมีฝาปิดมิดชิด
-ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำ เช่น แจกัน ทุก ๆ 7 วัน
-ใส่ทรายอะเบตลงในตุ่มน้ำและภาชนะกักเก็บน้ำในอัตราส่วน 10 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และควรเติมใหม่ทุก 2-3 เดือน
-ป้องกันการถูกยุงกัดที่เหมาะสม เช่น ทายาป้องกันยุง หรือใช้ยากันยุง เป็นต้น
-สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อลดโอกาสการถูกยุงกัด

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีป้องกัน โรคไข้เลือดออก ที่พูดถึงกันมากที่สุดในปัจจุบัน นั่นก็คือ การใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก วัคซีนจะสามารถใช้ได้ผลดีและลดความรุนแรงได้โดยเฉพาะในคนที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน





ที่มา หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC / RAMA NHANNEL 

ภาพจาก AFP / TNN Online

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง