TNN online คันแรกของไทย! สธ.เปิดตัว "รถฟอกไตเคลื่อนที่" บริการผู้ป่วยเชิงรุก

TNN ONLINE

Health

คันแรกของไทย! สธ.เปิดตัว "รถฟอกไตเคลื่อนที่" บริการผู้ป่วยเชิงรุก

คันแรกของไทย! สธ.เปิดตัว รถฟอกไตเคลื่อนที่ บริการผู้ป่วยเชิงรุก

สธ. เปิดตัว “รถฟอกไตเคลื่อนที่” คันแรกของไทยและอาเซียน บริการผู้ป่วยไตเชิงรุก ลดภาระ การเดินทาง เพิ่มการเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว

สธ. เปิดตัว “รถฟอกไตเคลื่อนที่” คันแรกของไทยและอาเซียน บริการผู้ป่วยไตเชิงรุก ลดภาระ การเดินทาง เพิ่มการเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว


วันนี้ (29 มิถุนายน 2566) ที่อาคารภูมิจิต กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดรถฟอกไตเคลื่อนที่ นวัตกรรมต้นแบบเพื่อประชาชน ของกรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขยายบริการฟอกไตฟรีให้ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยผลักดันให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นให้บริการผู้ป่วยโรคไตแบบเชิงรุก มุ่งการเข้าถึงบริการแบบไร้รอยต่อ ลดแออัด ลดรอคอย สะดวกและใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โรคไตเรื้อรังในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 


โดยปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ต้องล้างไต เพิ่มจำนวนมากขึ้น


“รถฟอกไตเคลื่อนที่ ถือเป็นนวัตกรรมต้นแบบคันแรกของประเทศไทยและกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน ช่วยลดข้อจำกัดการให้บริการในชุมชนและเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่สะดวก รวดเร็ว และได้มาตรฐาน ซึ่งระยะต่อไป โรงพยาบาลทั่วประเทศสามารถนำไปใช้ในพื้นที่กันดาร ห่างไกล หรือพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้น” นายอนุทิน กล่าว


นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ระยะที่ 5 ที่ต้องรับการรักษาด้วยการล้างไตทางหน้าท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis : CAPD) 23,414 ราย และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) 49,609 ราย มีคลินิกให้บริการฟอกไตด้วยวิธี Hemodialysis 1,151 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ห่างไกล ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการ ได้สะดวก ส่งผลต่อคุณภาพและความต่อเนื่องในการรักษา 


รถฟอกไตเคลื่อนที่ จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังได้มากขึ้น ทั้งนี้ ภายในรถ ประกอบด้วย เครื่องฟอกไต 2 เครื่อง ให้บริการได้สูงสุด 3 รอบต่อวัน มีระบบน้ำและไฟฟ้า ระบบการกำจัดน้ำเสียจากการล้างไตผู้ป่วย ที่ได้มาตรฐานและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก 


โดยมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียม 1 คน และผู้ช่วยพยาบาลอีก 1 คน ประจำรถให้บริการ และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ติดตามอาการผู้ป่วยขณะฟอกเลือดผ่านทางแอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศนำไปใช้บริการต่อไป




ที่มา รัฐบาล

ภาพจาก รัฐบาล


 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง