TNN online ทำความรู้จัก"ภาวะน้ำเป็นพิษ" ดื่มน้ำมากไป เสี่ยงถึงตายจริงหรือไม่?

TNN ONLINE

Health

ทำความรู้จัก"ภาวะน้ำเป็นพิษ" ดื่มน้ำมากไป เสี่ยงถึงตายจริงหรือไม่?

ทำความรู้จักภาวะน้ำเป็นพิษ ดื่มน้ำมากไป เสี่ยงถึงตายจริงหรือไม่?

ทำความรู้จัก"ภาวะน้ำเป็นพิษ" ดื่มน้ำมากไป เสี่ยงถึงตายจริงหรือไม่?

ภาวะน้ำเป็นพิษคืออะไร?


ภาวะน้ำเป็นพิษ (Water intoxication) คือ ภาวะที่มีปริมาณน้ำสะสมในร่างกายมากจากการดื่มน้ำมากเกินไป ทำให้โซเดียมในเลือดต่ำ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ เป็นตะคริว ทรงตัวไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะสมองบวม ชัก และเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากเริ่มมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที  


สาเหตุและกลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ


สาเหตุหลักของการเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ คือ การดื่มน้ำมากเกินความต้องการของร่างกาย หรือมีน้ำสะสมในร่างกายมากเกินไป และมีการกำจัดน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะน้อยกว่าปกติ โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ได้แก่


เด็กทารก โดยเฉพาะเด็กอ่อนอายุต่ำกว่า 9 เดือนซึ่งจะมีมวลกายต่ำ ร่างกายทารกมีน้ำเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงประมาณ 75% อีกทั้งร่างกายเด็กยังเก็บโซเดียมได้น้อยมีความเสี่ยงที่โซเดียมในเลือดต่ำได้ง่าย จึงเสี่ยงเกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้สูง  


ผู้ที่เสพติดการออกกำลังกายหรือนักกีฬาที่ใช้แรงมากๆ การออกกำลังกายอย่างหนักหรือเล่นกีฬาที่ใช้กำลังมากๆ เช่น วิ่งมาราธอน ไตรกรีฬา แข่งจักรยาน จะเสียเหงื่อเยอะทำให้กระหายน้ำมากจึงมักดื่มน้ำระหว่างการแข่งขันสูงเกินปกติ


ผู้ที่ทำกิจกรรมหรือทำงานที่เสียเหงื่อมาก เช่น การทำงานที่ใช้แรงมาก ทำกิจกรรมกลางแดดจัด การฝึกทหาร เมื่อเสียเหงื่อมากทำให้เสียโซเดียมทางเหงื่อมากขึ้นก็ยิ่งดื่มน้ำมากขึ้น


ผู้ป่วยทางจิตเวช เนื่องจากยาที่ใช้รักษาควบคุมอาการผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงทำให้คอแห้ง กระหายน้ำ จึงเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะดื่มน้ำมากเกินปกติจนเกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้


ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารทางปากไม่ได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับอาหารและน้ำทางท่อให้อาหารหรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย ซึ่งอาหารประเภทนี้มีโซเดียมต่ำกว่าอาหารปกติทั่วไป ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เสี่ยงเกิดภาวะโซเดียมต่ำได้ง่าย


ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคต่างๆ เหล่านี้เป็นโรคที่ส่งผลให้มีการสะสมในร่างกายมากขึ้น


ผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นที่ส่งผลให้มีการสะสมน้ำในร่างกายสูงเกินปกติ


ดื่มน้ำแค่ไหนให้เหมาะสม


การดื่มน้ำน้อยไปก็ไม่ได้ มากไปก็ไม่ดี แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีจำนวนเจาะจงว่าต้องดื่มปริมาณเท่าไหร่ต่อวัน เพราะปริมาณการดื่มน้ำของแต่ละคนแตกต่างกันออกไปโดยพิจารณาจากน้ำหนักตัว ระดับการออกกำลังกาย และสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้สถาบันการแพทย์ (IOM) ได้แนะนำปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อวันสำหรับผู้ชายคือ 3.7 ลิตรต่อวัน และของผู้หญิงอยู่ที่ 2.7 ลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตามวิธีที่ง่ายที่สุดคือสังเกตร่างกายตัวเอง ดื่มน้ำเมื่อรู้สึกกระหายอย่างเพียงพอ สำหรับนักกีฬา ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หญิงมีครรภ์ที่อาจต้องดื่มน้ำมากขึ้นในแต่ละวันควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ


ขอบคุณข้อมูล: https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/




ติดตาม TNN Health ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่  

Website : https://www.tnnthailand.com/news/health/

Facebook : https://bit.ly/TNNHealthFacebook

Youtube : https://bit.ly/TNNHealthYoutube

TikTok : https://bit.ly/TNNHealthTikTok

Line @TNNHEALTH : https://lin.ee/MNckVHq

หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://bit.ly/TNNHealthFacebook

ข่าวแนะนำ