TNN ไขคำตอบสีของ “ดาวตก” บอกอะไรได้บ้าง?

TNN

Earth

ไขคำตอบสีของ “ดาวตก” บอกอะไรได้บ้าง?

ไขคำตอบสีของ “ดาวตก” บอกอะไรได้บ้าง?

นักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซาได้เผยว่าช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงกลางเดือนเมษายนของทุกปีนั้น จะเป็นช่วงฤดูดาวตก เพราะจากการเก็บสถิติจะพบดาวตกได้มากกว่าช่วงเวลาอื่นของปี

บิล คุ๊ก นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์สิ่งแวดล้อมอุกกาบาตของ นาซา ได้ให้ข้อมูลว่า จากการศึกษาและเก็บสถิตินั้น ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนเมษายนของทุกปีเป็นช่วงเวลาที่อัตราการพบเห็นดาวตกสำหรับผู้สังเกตในซีกโลกเหนือเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงอื่นประมาณร้อยละ 10 - 30 และเรียกช่วงดังกล่าวว่า "ฤดูดาวตก" ซึ่งสาเหตุที่พบการเกิดในช่วงนี้มากกว่าปกตินั้นยังคงเป็นปริศนา และนักวิทยาศาสตร์กำลังรวบรวมข้อมูลและหาคำตอบกันอยู่ สำหรับปรากฏการณ์ “ดาวตก” นั้น เกิดจากการที่วัตถุท้องฟ้าขนาดเล็กผ่านมาเข้าในชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เสียดสีกับชั้นบรรยากาศที่ระดับความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร และเกิดการลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก โดยจะมีลักษณะเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ยิ่งวัตถุมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็มากตามไปด้วย ซึ่งหากมีสะเก็ดดาวจำนวนมากตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกพร้อม ๆ กัน ทำให้เกิดดาวตกมากมายอย่างต่อเนื่อง จะถูกเรียกว่า ปรากฏการณ์ฝนดาวตก ส่วนสีของดาวตก มาจากแสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตก ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ แสงสีออกโทนม่วง เกิดจากอะตอมแคลเซียม ส่วนแสงสีโทนฟ้า เกิดจากอะตอมเหล็ก ส่วนอะตอมแมกนีเซียมและนิกเกิลจะให้แสงสีฟ้าเขียว ส่วนอะตอมโซเดียม ให้แสงสีส้มเหลือง และอะตอมออกซิเจนหรือไนโตรเจนจะให้แสงสีแดงนั่นเอง ซึ่งดาวตกส่วนใหญ่มักจะลุกไหม้หมดก่อนถึงพื้นโลก และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ถ้าหากวัตถุไหนที่ลุกไหม้ไม่หมดถึงจะเรียกว่าอุกกาบาตนั่นเอง

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง