TNN online ไทม์ไลน์คดี!“สรยุทธ”ต่อสู้ 5 ปี 3 ศาล-คุก 6 ปี 24 เดือน

TNN ONLINE

อาชญากรรม

ไทม์ไลน์คดี!“สรยุทธ”ต่อสู้ 5 ปี 3 ศาล-คุก 6 ปี 24 เดือน

ไทม์ไลน์คดี!“สรยุทธ”ต่อสู้ 5 ปี 3 ศาล-คุก 6 ปี 24 เดือน

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1-4 นั้นเป็นเจ้าหน้าที่ และผู้สื่อข่าวอาวุโส กลับทำผิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี ขณะที่การกระทำของจำเลยทั้งสี่ถือว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ไม่ใช่กรรมเดียวตามที่จำเลยฎีกาต่อสู้

“ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ต้องรายงานคิวโฆษณาส่วนเกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่ไม่รายงาน โดยจากทางไต่สวนรับฟังได้ว่า นางสาวมณฑา จำเลยที่ 4 เป็นผู้ใช้ให้ นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 หาช่องทางช่วยเหลือตามคำขอของ นายสรยุทธ จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิด แม้จะฟังไม่ได้ว่าเช็ค 6 ฉบับ จ่ายเป็นค่าตอบแทน แต่ฟังได้ว่ามีการจ่ายเช็คในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งหากไม่ได้ประโยชน์ในการดำเนินการ จำเลยที่ 1 คงไม่หาช่องทางช่วยเหลือ แม้จะมีการจ่ายเงินค่าโฆณาส่วนเกิน ก็จ่ายหลัง อสมท. ในฐานะผู้เสียหายตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว และล่วงเลยจากเวลาที่เกิดเหตุ 2 ปี

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1-4 นั้นเป็นเจ้าหน้าที่ และผู้สื่อข่าวอาวุโส กลับทำผิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี ขณะที่การกระทำของจำเลยทั้งสี่ถือว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ไม่ใช่กรรมเดียวตามที่จำเลยฎีกาต่อสู้

พิพากษาแก้ให้จำคุก นางพิชชาภา จาก 20 ปี เป็นจำคุก 12 ปี , ส่วน บจก.ไร่ส้ม จากปรับ 80,000 บาท เป็นปรับ 72,000 บาท , ส่วนนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา  จากคุก 13 ปี 4 เดือนเป็นจำคุก 6 ปี 24 เดือน”

 

นั่นคือคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ตัดสินลงโทษ นายสรยุทธ และ พวก จำเลยที่1- 4 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียกรับ ทรัพย์สิน ฯ , เป็นพนักงาน ฯ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร , เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฯ และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ

 

ปมเหตุของคดีนี้ เริ่มจาก ที่ อสมท. กับบริษัทไร่ส้มตกลงกันว่า วันจันทร์-ศุกร์ บริษัทไร่ส้มได้เวลาโฆษณาไม่เกิน 2 นาที 30 วินาที ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ไม่เกิน 5 นาที หากเกินจะต้องจ่ายค่าโฆษณาเพิ่มให้แก่ อสมท. นาทีละไม่ต่ำกว่า 240,000 บาท ซึ่ง อสมท. จะคิดค่าส่วนลดให้

ในปี 2548-2549 ผู้บริหาร อสมท. พบความผิดปกติที่ข่าวเที่ยงคืนออกอากาศช้ากว่าที่กำหนด ตรวจสอบพบว่าบริษัทไร่ส้มส่งคิวโฆษณาเกินข้อตกลง จึงมีการตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

โดยพบนางพิชชาภา พนักงาน อสมท. ที่รับผิดชอบรับคิวโฆษณาที่บริษัทไร่ส้มขายได้ มาจัดคิวรวมกับโฆษณาที่ อสมท. ขายเอง ปกปิดความผิด ด้วยการลบคิวโฆษณาส่วนเกินของบริษัทไร่ส้มออกโดยใช้น้ำยาลบคำผิด กลายเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิดนายสรยุทธและพวก

 

29 ต.ค. 2550 อสมท.แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง ให้ดำเนินคดีกับนางพิชชาภา ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และกล่าวหานายสรยุทธ, น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานของบริษัทไร่ส้ม และบริษัทไร่ส้ม ฐานเป็นผู้สนับสนุน พร้อมส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.

 

20 ก.ย. 2555 ป.ป.ช. มีมติชี้มูล นางพิชชาภา ผิดวินัยร้ายแรงและมีความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ พ.ศ. 2502 ส่วน น.ส.อัญญา ผิดวินัยฐานประมาทเลินเล่อ  นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนและผิดกฎหมายอาญา มาตรา 86

 

30 ม.ค. 2558 พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางพิชชาภา จำเลยที่ 1, บริษัท ไร่ส้ม จำเลยที่ 2, นายสรยุทธ จำเลยที่ 3 และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 4

 

29 ก.พ. 2559 ศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุก นางพิชชาภา กระทงละ 5 ปี รวม 30 ปี โดยศาลเห็นว่า นางพิชชาภา มีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา ไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้ อสมท. ได้รับความเสียหาย การใช้น้ำยาลบคำผิดลบคิวโฆษณาแสดงถึงการปกปิดข้อเท็จจริง และการรับเช็คเป็นการกระทำต้องห้าม

ปรับบริษัท ไร่ส้ม กระทงละ 2 หมื่นบาท รวม 1.2 แสนบาท โดยศาลเห็นว่าแม้จะมีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิด แต่บริษัทไร่ส้มได้ชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน 138.79 ล้านบาทแก่ อสมท. แล้ว จึงลงโทษสถานเบา

จำคุกนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ซึ่งเป็นผู้นำเช็คไปมอบให้นางพิชชาภา กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี โดยศาลเห็นว่านายสรยุทธ น่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การใช้เงินแม้จะให้โดยเสน่หา แต่ไม่รายงานให้ทราบก็เป็นการสนับสนุน การจ่ายเช็คให้นางพิชชาภาเพื่อจูงใจ ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย

แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกนางพิชชาภา 20 ปี จำคุกนายสรยุทธและ น.ส.มณฑา คนละ 13 ปี 4 เดือน และปรับบริษัทไร่ส้ม 8 หมื่นบาท

29 ส.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น โดยศาลระบุว่า นางพิชชาภา ต้องสำนึกในหน้าที่จะต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของรัฐ จะอ้างว่ามีช่องว่างทางการตรวจสอบไม่ได้ ที่อ้างว่าใช้น้ำยาลบคำผิดลบคิวโฆษณา เพราะตกใจกลัวจะต้องรับผิด เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก


ส่วนที่บริษัทไร่ส้ม และนายสรยุทธ อ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลบคิวโฆษณา ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่น่าเชื่อถือ เพราะนางพิชชายอมรับไปแล้วว่าได้รับการร้องขอจากนายสรยุทธ ส่วนคุณงามความดีที่นายสรยุทธ กล่าวอ้างนั้นเป็นเรื่องของประวัติและความดีคนละส่วนกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด

นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ได้ประกันตัวระหว่างฎีกาสู้คดี ตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลและให้จำเลยต้องมารายงานตัวต่อศาลทุก 3 เดือน เช่นเดียวกับนางพิชชาภา ได้ประกันตัวไป 5 ล้านบาทเช่นกัน

21 ม.ค.2563  คือวันที่คดีถึงที่สุด เมื่อศาลฎีกาพิพากษาลงโทษ ตามความผิด และหากนับจากวันฟ้อง 30 ม.ค.2558 ที่ต่อสู้มาถึง 5 ปี ถือว่าทั้ง 3 ศาล การพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อขอใช้สิทธิ์ต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ น้ำหนักพยานหลักฐานศาลไม่รับฟัง จึงถือว่าเขา พ่ายแพ้ทั้ง 3 ศาล จนวาระสุดท้าย ต้องไปชดใช้กรรมในคุก ตามคำพิพากษาโทษ 6 ปี 24 เดือน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด่วน! ศาลฎีกาสั่งจำคุก 'สรยุทธ' คดีไร่ส้ม 6 ปี 24 เดือน 

”สรยุทธ”สื่ออาวุโสต้องเป็นแบบอย่าง”ไม่มีเหตุลดโทษ-รออาญา”คุก 6 ปี 24 เดือน 

“ไบรท์-โก๊ะตี๋”เสียดาย! “พี่ยุทธ”คนตั้งใจทำงานซื่อสัตย์ต่ออาชีพ-ติดคุกเดี๋ยวก็ออก


เกาะติดข่าวที่นี่ 
website: www.TNNThailand.com  
facebook : TNNThailand 
twitter : @TNNThailand 
Line : @TNNThailand 
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวที่เกี่ยวข้อง