TNN online บิ๊กเทคจีนทุ่มทุนสร้างคลาว์เซ็นเตอร์สู่บริการระดับโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

บิ๊กเทคจีนทุ่มทุนสร้างคลาว์เซ็นเตอร์สู่บริการระดับโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

บิ๊กเทคจีนทุ่มทุนสร้างคลาว์เซ็นเตอร์สู่บริการระดับโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

บิ๊กเทคจีนทุ่มทุนสร้างคลาว์เซ็นเตอร์สู่บริการระดับโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อพูดถึงการวิจัยและพัฒนาในยุคใหม่ เราคงเห็นตรงกันว่าไม่มีใครเกินจีน ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) รัฐบาลจีนตั้งเป้าจะลงทุนในสัดส่วนถึง 7% ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวเสียอีก และขยับเข้าสู่การวิจัยพื้นฐานในระดับที่สูงขึ้น

นวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์กลายเป็นสิ่งที่จีนให้ความสำคัญในอันดับต้น ส่งผลให้จีนกำลังเปลี่ยนสถานะในการสร้างชื่อเสียงจาก “Factory of the World” (โรงงานของโลก) ที่จีนเป็นฐานการผลิตใหญ่ของโลก และ “Market of the World” (ตลาดของโลก) ที่จีนเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่สุดของโลก ไปสู่ “Innovated/Created in China” (คิดค้นหรือสร้างสรรค์ในจีน) 

พอธงปล่อยตัวถูกตี ภาคเอกชนจีนก็พุ่งทะยานจากบล็อกสตาร์ตในทันที โดยจัดสรรเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการวิจัยและพัฒนาในแต่ละปี โลกดิจิตัลในจีนที่เฟื่องฟูอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้กิจการอินเตอร์เน็ต ทั้งเล็กและใหญ่ ต่างให้ความสนใจกับเค้กก่อนนี้

รัฐบาลจีนได้กำหนดเป็นนโยบายให้กุ้ยโจว มณฑลที่มีสภาพเป็นเทือกเขาทางตอนใต้ของจีนเป็นศูนย์บิ๊กดาต้าและคลาวด์แห่งชาติ โดยมีการจัดตั้งสวนข้อมูลกุ้ยโจว (Guizhou Information Park) ของศูนย์การประมวลผลด้านโทรคมนาคมของจีนขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนา “คลาวด์เซ็นเตอร์” (Cloud Center) ของบิ๊กเทคใต้ขุนเขาในพื้นที่จึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

จนในระยะหลังนี้ มีคนในวงการกล่าวกันว่า เรามีโอกาสพบปะกับเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงของกิจการบิ๊กเทคที่กุ้ยโจวมากกว่าในเมืองเอก อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น เสียอีก

ข้อมูลจากคานาลิส (Canalys) บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ และสำนักงานเครือข่ายกระจายในหลายเมืองทั่วโลก ระบุว่า ตลาดบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ (หมายถึง บริการที่จัดหาโครงสร้างพื้นฐานหรือแพล็ตฟอร์มเพื่อเป็นบริการแก่กิจการภายนอก แต่ไม่รวมถึงซอฟท์แวร์ที่ให้บริการ) ในจีนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

ณ เดือนมิถุนายน 2021 ตลาดบริการด้านคลาวด์ของจีนมีมูลค่าถึง 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 54% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ขณะที่ในธุรกิจอินเตอร์เน็ตของจีนมีไป่ตู้ (Baidu) อาลีบาบา (Alibaba) และเทนเซ็นต์ (Tencent) หรือ “BAT” เป็นหัวเรือใหญ่ แต่ในด้านคลาวด์ จีนมีหัวเหว่ย (Huawei) เพิ่มเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญอีกรายหนึ่ง “BATH” จึงถือเป็น “คลื่นลูกใหญ่” ที่ถาโถมลงทุนในคลาวด์เซ็นเตอร์

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 กิจการเหล่านี้มีสัดส่วนทางการตลาดสูงถึง 80% ของมูลค่าตลาดในด้านนี้โดยรวมของจีน และขยายตัวในอัตราถึง 56% ของตลาดจีน 

อาลีบาบาคลาวด์ (Alibaba Cloud) นำโด่งในธุรกิจบริการนี้ โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดบริการโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ของจีน และขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 30% ต่อปีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

ระบบการประมวลผลบนคลาวด์นับเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระบบนิเวศของอาลีบาบา ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ ระบบการชำระเงินออนไลน์ และการจัดการด้านลอจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งนำไปสู่การทำกำไรในระยะยาว ส่งผลให้เราเห็นอาลีบาบาทุ่มเงินลงทุนอย่างมากในด้านนี้ 

ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ยังได้ประกาศว่าจะลงทุนด้วยเม็ดเงินถึง 200,000 ล้านหยวนเพื่อการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีหลัก อาทิ ระบบปฏิบัติการคลาวด์ ชิป และเครือข่ายในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ขณะที่หัวเหว่ยคลาวด์ (Huawei Cloud) แบรนด์อันดับ 2 ของจีน และอันดับ 5 ของโลก ก็มีสัดส่วนตลาดราว 19.3% ของมูลค่าตลาดโดยรวม โดยที่ผ่านมา หัวเหว่ยคลาวด์มีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับรัฐบาลจีน ทำให้มีจุดแข็งด้านการขับเคลื่อนการเติบโตในองค์กรภาครัฐ ซึ่งเป็นเสมือนต้นน้ำของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน 

ปัจจุบัน บริษัทยังทุ่มเงินมหาศาล อาทิ การสร้างทีมงานที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบรวมมากกว่า 2.3 ล้านคน และจัดตั้งศูนย์บริการทั่วโลกอีกกว่า 4,500 แห่งที่พร้อมให้บริการกิจการอินเตอร์เน็ต และองค์กรอื่นที่ต้องการปรับโครงสร้างสู่โลกดิจิตัล 

ขณะเดียวกัน เท็นเซ็นต์คลาวด์ (Tencent Cloud) ก็ไล่จี้มาติดๆ ด้วยสัดส่วน 18.8% ของมูลค่าตลาดโดยรวม ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ภายหลังชนะโครงการการท่องเที่ยวและรัฐบาลอัจฉริยะ รวมทั้งการเงิน เท็นเซ็นต์คลาวด์ได้เพิ่มการลงทุนในอัตราที่สูงมากถึง 92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนว่ากิจการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคลาวด์เซ็นเตอร์เป็นอย่างมาก

อีกรายหนึ่งก็ได้แก่ ไป่ตู้เอไอคลาวด์ (Baidu AI Could) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 4 ด้วยสัดส่วนราว 7.8% ของตลาดโดยรวม และขยายตัวเกือบ 50% ของปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการช่วยให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ง่ายต่อการเข้าถึงขององค์กรโดยรวม โดยระบบนี้ถูกนำไปใช้ในหลายส่วน อาทิ การกำกับดูแลของภาครัฐ การเงิน การรักษาพยาบาล อีคอมเมิร์ซ การศึกษา และสื่อ 

ยกตัวอย่างเช่น โครงการความร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาแพล็ตฟอร์มอินเตอร์เน็ตอุตสาหกรรมวัสดุใหม่และแฟชั่น เพื่อบ่มเพาะคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตที่ล้ำยุค และการจัดหาคลาวด์โซลูชั่นและแอพอื่นเพื่อให้บริการแก่จีลี่ (Geely) กลุ่มธุรกิจยานยนต์เอกชนรายใหญ่สุดของจีน ซึ่งช่วยให้สามารถขยายบริการขนส่งอัจฉริยะได้เป็นถึง 20 เมือง ณ เดือนมิถุนายน 2021

คานาลิสเห็นว่า บิ๊กเทคทั้ง 4 ดังกล่าวจะยังคงรักษาสถานะของความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจนี้ได้ต่อไปอีกนานท่ามกลางการขยายตัวของอุปสงค์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจีนที่ต่างให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างด้านดิจิตัล ปัญญาประดิษฐ์ และความเป็นอัจฉริยะของระบบ

แต่ใช่ว่าทุกสิ่งจะราบรื่นดังเช่นที่ผ่านมา ในความพยายามที่จะพัฒนาคลาวด์เซ็นเตอร์ ธุรกิจอินเตอร์เน็ตในจีนก็ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลจีนกำลังจัดระเบียบกิจการดิจิตัลครั้งใหญ่ ส่งผลให้ตลาดภายในประเทศไม่สดใสนัก ขณะที่ตลาดต่างประเทศก็ถูกพิษ “เทควอร์” ปิดกั้นการให้บริการ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่สถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลาย ซึ่งทำเอาราคาหุ้นของบิ๊กเทคเหล่านี้ลดลงระหว่าง 18-30% เมื่อเทียบกับของต้นปีเดียวกัน

ธุรกิจนี้กำลังถูก “ตีกรอบ” ด้วยสารพัดกฎระเบียบใหม่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการป้องกันการผูกขาดตลาด ความมั่นคงด้านดิจิตัลและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค

ตลอดปีที่ผ่านมา เราได้เห็นรัฐบาลจีนลงโทษและปรับเงินบิ๊กเทคต่อพฤติกรรมการผูกขาดตลาด และพฤติกรรมอื่นที่ไม่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพในภาพรวมของประเทศ 

ประการสำคัญ เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังได้ผ่านร่างกฎหมายการปกป้องข้อมูลส่วนตัว (Personal Information Protection Law) ฉบับแรกในประวัติศาสตร์จีน โดยจะเริ่มมีผลใช้บังคับในเดือนพฤศจิกายน 2021 

กฎหมายฉบับนี้มีข้อบังคับคล้ายคลึงกับกฎหมายการปกป้องข้อมูลทั่วไป (General Data Protection Regulation) ของยุโรป โดยสาระสำคัญของ GDPR กำหนดให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องออกแบบการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลอย่างเหมาะสม และรักษาสิทธิ์ของผู้บริโภคในการเข้าถึงหรือลบข้อมูลที่ไม่ต้องการเปิดเผยได้ 

นั่นหมายความว่า กฎหมายฉบับใหม่ของจีนจะช่วยปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวที่บิ๊กเทคและกิจการที่เกี่ยวข้องจัดเก็บไว้ และลดปัญหาอาชญากรรมจากการฉ้อโกงและการขโมยข้อมูลออนไลน์ รวมทั้งยังจะช่วยลดข้อครหาของชาติตะวันตกที่มองว่าจีนมีระดับการปกป้องความเป็นส่วนตัวที่ต่ำ

เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของผู้บริโภคและเงื่อนไขของกฎหมายใหม่นี้ บิ๊กเทคจีนก็ดำเนินโครงการใหม่รองรับในทันที ยกตัวย่างเช่น ไป่ตู้เอไอคลาวด์ได้ลงทุนในระบบการประมวลผลที่ (ปกป้อง) ข้อมูลที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก ระบบดังกล่าวช่วยให้ข้อมูล “ถูกใช้” แต่ “ไม่ถูกเคลื่อนย้าย ไม่ถูกเปิดเผยให้ภายนอกเห็น และไม่ถูกติดตาม” เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับกิจการรายอื่นด้วยเช่นกัน

จากผู้ตามในระบบคลาวด์ในระยะแรกของการพัฒนา วันนี้ จีนกำลังเร่งเดินหน้าพัฒนา “คลาวด์เซ็นเตอร์” ทั้งระบบนิเวศ เพื่อยกระดับบริการสู่ระดับโลกอย่างแท้จริง ...

ข่าวแนะนำ