TNN จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หลังบทความตอนก่อนตีพิมพ์ออกไป ก็มีท่านผู้อ่านที่ทำงานด้านการวางแผนของภาครัฐสอบถามมาว่า นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ จีนมีหน่วยงานใดอีกบ้างที่ช่วยดูแลการพัฒนา SMEs หลายสิบล้านรายทั่วจีน ...


อันที่จริง จีนมีองค์กรในหลายระดับกระจายในระดับมณฑลและมหานคร และแยกย่อยลงไปในระดับล่าง โดยหน่วยงานสำคัญก็ได้แก่ “China Center for Promotion of SME Development” (ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนา SME แห่งชาติจีน)

ศูนย์ส่งเสริมฯ ถือเป็นองค์กรบริการภาครัฐที่ครอบคลุมเพียงแห่งเดียวภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมฯ ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนา SME จีนผ่านความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ 


ภายหลังก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1986 ในสมัยที่ท่านจู หรงจีเป็นนายกรัฐมนตรี ศูนย์ส่งเสริมฯ เป็นตัวแทนภาครัฐในการผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนา SME ตลอดช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินโครงการสนับสนุนและออกแบบและปรับปรุงระบบบริการ SME แห่งชาติ 


ศูนย์ส่งเสริมฯ ยังนับว่ามีบทบาทสำคัญในการร่างข้อเสนอเพื่อจัดทำแผนพัฒนา 5 ปี (2021-2025) สำหรับการพัฒนา SME จีน ซึ่งต้องการเห็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในคุณภาพการพัฒนาโดยรวม ความสามารถด้านนวัตกรรม และระดับความเชี่ยวชาญ รวมทั้งระดับการปฏิบัติงานและการจัดการ


จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


โดยมีเป้าหมายหลักภายในปี 2025 อาทิ การเพิ่มรายได้จากการดำเนินงานต่อหัวของ SME มากกว่า 18% เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อปีของกิจการขนาดย่อมด้านอุตสาหกรรมมากกว่า 10% และบรรลุอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของการยื่นขอรับสิทธิบัตรมากกว่า 10% 


นอกจากนี้ ศูนย์ส่งเสริมฯ ยังทำหน้าที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องในเวทีการประชุมสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ SME (SMEs International Cooperation Summit) ณ กรุงปักกิ่ง และในกรอบความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศในยุโรปกลางและตะวันออก (China-Central and Eastern European Countries) และการร่วมมือกับหอการค้ายุโรป (European Chamber) และศูนย์ SME แห่งสหภาพยุโรป (EU SME Center) สำรวจและจัดทำรายงานสถานะของ SME หลากหลายอุตสาหกรรมในหลายสิบหัวเมืองของจีน โดยครอบคลุม 5 ด้าน อันได้แก่ ด้านตลาด กฎหมาย การเงิน นวัตกรรม และนโยบาย


ขณะเดียวกัน จีนยังมีองค์กรเครือข่ายภาคเอกชนที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน อาทิ China International Cooperation Association of SMEs (สมาคมความร่วมมือระหว่างประเทศ SME จีน) มาสนับสนุนระหว่างกันเพื่อขยายความร่วมมือและบูรณาการการจัดงานใหญ่อย่าง SME Innovation and Entrepreneurship Global Contest


ผมยังสังเกตเห็นมหาวิทยาลัยหลายแห่งของจีนจัดตั้งสถาบัน SME และเปิดสอนหลักสูตร SME เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโมเดลธุรกิจ และจุดประกายให้แก่สตาร์ตอัพหน้าใหม่เข้าสู่ระบบ รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็น “ถังความคิด” (Think Tank) สนับสนุนการทำงานของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง


คณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านการเป็นผู้ประกอบการที่ในนามบัตรอาจระบุตำแหน่งว่าเป็น “นักวิจัย” ของสถาบันการศึกษาชั้นนำในหัวเมืองขนาดใหญ่ ยังอาจควบตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” ด้าน SME ประจำพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกด้วย 


กลับไปคุยกันต่อถึงประเด็นการให้ความช่วยเหลือ อีกด้านหนึ่งที่จีนไม่มองข้ามก็ได้แก่ การสนับสนุนด้านการผลิตและด้านการตลาด จีนคิดเสมอว่าการช่วย SME ให้เกิด เติบโต และแข็งแกร่งได้ก็ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ทำอย่างไรจะช่วยให้ SME “ผลิตได้ ขายดี” 


ในด้านการผลิต การผลักดันและสนับสนุนส่งเสริมให้ SME ปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสความนิยมและแนวโน้มวิถีชีวิตของโลกก็เป็นวิธีการหนึ่ง อาทิ การรับเอา “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ และเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) รวมทั้งการรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์กร 


ขณะเดียวกัน จีนยังส่งเสริมการปรับโครงสร้างสู่ดิจิตัล ซึ่งช่วยให้ SME สามารถเลือกใช้โมเดลธุรกิจบนพื้นฐานของการออกแบบด้านดิจิตัล การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการออกแบบเครือข่ายด้านดิจิตัล 


การปรับโครงสร้างสู่ดิจิตัลยังช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ ช่วยให้สามารถเอาประโยชน์จากการเติบใหญ่ของการค้าออนไลน์และสังคมไร้เงินสดของจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งนับเป็นการเพิ่มคุณค่าของกิจการในที่สุด


ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีด้านดิจิตัลยังสามารถสร้างความโปร่งใสในการสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเพื่อป้องกันการฉ้อโกงบริษัทที่ตกอยู่ภาวะเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในยุคดิจิตัล


อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างด้านดิจิตัลไม่ใช่สิ่งที่ง่าย และมักต้องเผชิญกับหลากหลายปัญหา อาทิ การขาดแคลนเงินทุน ผู้เชี่ยวชาญ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศด้านดิจิตัล จึงนับเป็นความท้าทายใหญ่ของ SME ในปัจจุบันและอนาคต

ภารกิจในส่วนนี้ถือเป็นประโยชน์พื้นฐานในการเตรียมความพร้อมแก่สตาร์ตอัพจีนสู่เวทีใหญ่ในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลจีน องค์กรเครือข่าย และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุ่มเต็มที่กับการสนับสนุนการดำเนินงานด้านดิจิตัลของ SME


จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลท้องถิ่นของหัวเมืองต่างๆ ยังพยายามผุดและขยาย “เวที” ให้ SME สามารถนำเสนอและจำหน่ายสินค้าและบริการด้วยแคมเปญใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ “ชุมชน 15 นาทีเดิน” ในหัวเมืองขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ซึ่งทำให้ธุรกิจออฟไลน์ของ SME ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย


ท่านผู้อ่านที่ไปเดินช้อปปิ้งตามร้านค้าขนาดเล็กในนครเซี่ยงไฮ้ ก็อาจเคยอุดหนุน SME โดยไม่รู้ตัว ร้านค้าเหล่านั้นถูกจัดสรรเป็น “ช่องทาง” ให้แก่ SME ในราคาค่าเช่าที่ไม่สูงมากนัก


นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังกำหนดนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐจัดสรรโควต้าการจัดซื้อสินค้าทั่วไปแก่ SME เพื่อรักษาตลาดส่วนหนึ่งให้ SME สามารถอยู่รอดในยามวิกฤติและสามารถแข่งขันได้ในอนาคต หรือแม้กระทั่งการจัดงานแสดงสินค้าระดับชาติ “China International SME Fair” เพื่อเป็นเวทีสำหรับ SME ในเวทีระหว่างประเทศ โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมฯ จับมือกับองค์กรบริหารจัดการระเบียบการตลาด (The State Administration for Market Regulation) และรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง 


จนถึงปัจจุบัน งาน CISMEF นี้จัดขึ้นในช่วง 27-30 มิถุนายนของทุกปี ณ นครกวางโจวต่อเนื่องมาเกือบ 2 ทศวรรษจนกลายเป็นแหล่งรายได้เพื่อการเติบโตของ SME จีน


ในภาพใหญ่ การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และการเสริมสร้าง “ความรักชาติ” ผ่านการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬา การประชุม และนิทรรศการนานาชาติ รวมไปถึงการสร้างภาพยนตร์และละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ อาทิ The Wandering Earth หนังฟอร์มใหญ่ที่มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้คนหลากหลายอาชีพของจีนและต่างชาติร่วมมือกันกอบกู้โลกจากมหันตภัยทางอวกาศ ล้วนมีส่วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ (Country Brand) ของจีนในเวทีระหว่างประเทศ และขยายความต้องการในสินค้าจีน และแน่นอนว่า อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนี่งก็กระเซ็นกระสายไปยัง SME ในทางอ้อมอย่างที่เราคุยกันไปก่อนหน้านี้


ในทางตรง เราเห็นแบรนด์สินค้าจีนได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาสากล อาทิ หลี่ หนิง (Li Ning) แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ก็เป็นรู้จักและได้รับความนิยมในวงกว้างภายหลังโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่ปักกิ่ง 


ขณะที่โบซิเติง (Bosideng) แบรนด์เสื้อกันหนาวชั้นนำของจีน ก็ขายดิบขายดีหลังการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่ปักกิ่ง และเชื่อมั่นว่าจะได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้นในโอกาสที่เฮยหลงเจียงจะเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาวในต้นปี 2025 


การฝึกปรือ “วิทยายุทธ” ในตลาดจีนของ SME จนแข็งแกร่ง ทำให้ SME จีนมีความพร้อมมากขึ้นในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ เราจึงเห็นจีนผลักดัน SME ออกสู่ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของ BRI 


ตอนหน้าผมจะพาไปส่องโมเดลการพัฒนาขีดความสามารถ SME ของจีนสู่การเป็นแชมป์กันครับ ...



ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง