TNN เมื่อจีนเดินหน้าคัดแยกขยะถ้วนหน้าทั่วจีนในปี 2025 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อจีนเดินหน้าคัดแยกขยะถ้วนหน้าทั่วจีนในปี 2025 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนเดินหน้าคัดแยกขยะถ้วนหน้าทั่วจีนในปี 2025 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนเดินหน้าคัดแยกขยะถ้วนหน้าทั่วจีนในปี 2025 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ในความพยายามที่จะปลดล็อกจีนออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ผลิตขยะอันดับต้นของโลก รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ที่เป็นจุดนำร่องการแยกขยะภาคบังคับ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดในการแยกขยะโดยจำแนกออกเป็น 4 ประเภท อันได้แก่ ขยะแห้ง ขยะเปียก (อาทิ อาหาร และสารอินทรีย์อื่นจากในครัว) ขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ และขยะอันตราย 

บุคคลธรรมและนิติบุคคลที่ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวอาจโดนปรับเป็นเงิน 200 หยวน และ 50,000 หยวน ตามลำดับ


นอกจากการคัดแยกขยะแล้ว รัฐบาลจีนยังดำเนินการผลักดันอีกหลายมาตรการอย่างต่อเนื่อง ...


รัฐบาลจีนยังป้องกันการทะลักไหลของขยะจากต่างประเทศ โดยในปี 2017 จีนได้ประกาศนโยบายกระบี่แห่งชาติ (National Sward Policy) ห้ามการนำเข้าขยะจำนวน 24 ประเภท

ข้อบังคับดังกล่าวเริ่มมีผลนับแต่ปี 2018 โดยเปิดช่องให้แต่ละพื้นที่สามารถประยุกต์ใช้มาตรการที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรมและก่อสร้างเตาเผาขยะรุ่นใหม่ จำนวนและความจุที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว รวมทั้งประสิทธิภาพของเตาเผาขยะที่ดีขึ้นอย่างมาก แต่ก็นำไปสู่ “ผลข้างเคียง” ที่คาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน


จากการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลปริมาณขยะที่ดำเนินการโดยกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Ecology and Environment) ที่นำไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มสาธารณะแบบรายวันนับแต่เดือนมกราคม 2020 พบว่า ในชั้นนี้ มีเพียงเซี่ยงไฮ้เท่านั้นที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณขยะที่นํากลับมาใช้ใหม่ 



ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นับแต่ที่การคัดแยกขยะกลายเป็นข้อบังคับในเมือง การฟื้นตัวของขยะรีไซเคิลและขยะเปียก ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งนําไปสู่ปริมาณขยะที่ส่งไปเผาหรือฝังกลบลดลง 

กล่าวคือ ในปี 2018 ก่อนนโยบายการคัดแยก ปริมาณขยะรีไซเคิลและขยะเปียกมีสัดส่วนเพียง 21% ของทั้งหมด ด้วยปริมาณขยะโดยรวมที่มากดังกล่าว เตาเผาขยะที่แม้จะเดินเครื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ก็ไม่สามารถทำงานได้เร็วมากพอ


มิหนำซ้ำ เตาเผาขยะยังต้องเดินเครื่องเกินกว่ากำลังการผลิตอยู่มาก โดยเผาขยะในปริมาณถึง 3.86 ล้านตัน ขณะที่ขยะอีกส่วนที่เหลืออีก 3.87 ล้านตันถูกส่งไปฝังกลบ

แต่การคัดแยกขยะช่วยลดปริมาณวัสดุที่ส่งไปเผาได้เป็นอันมาก โดยในปี 2021 เซี่ยงไฮ้มีปริมาณขยะรีไซเคิลและขยะเปียกรวม 6.46 ล้านตัน คิดเป็น 54% ของทั้งหมด


สัดส่วนขยะรีไซเคิ้ลและขยะเปียกเพิ่มมากขึ้นจนถึงขนาดว่า เตาเผาขยะและเครื่องมืออุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นบางแห่งประสบปัญหาปริมาณขยะที่ไม่เพียงพอต่อการเดินเครื่องที่เต็มกำลัง ทําให้เตาเผาขยะขาดเชื้อเพลิงอย่างกระทันหัน

โดยในปี 2021 โรงเผาขยะของเซี่ยงไฮ้มีความสามารถในการกำจัดขยะได้ 7.65 ล้านตันต่อปี แต่มีขยะเพียง 6.65 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกเผา 


สถิติยังระบุว่า เตาเผาขยะอย่างน้อย 1 แห่งไม่อาจเดินเครื่องได้ เตาเผาขยะที่สร้างขึ้นใหม่หลายแห่งไม่ได้ใช้งาน ในบางกรณี เตาเผาขยะไม่ได้ใช้งานนานนับเดือน และบางครั้งถูกบังคับให้ปิดตัวลงเลยก็มี 

ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ก็มีส่วนทําให้การเดินเครื่องเตาเผาขยะหยุดชะงัก เช่น เตาเผาขยะเก่าที่มีอายุมากถูกเก็บไว้เป็นส่วนสํารองเพื่อสนับสนุนเตาเผาที่ใหม่กว่า


ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม 2023 เซี่ยงไฮ้หล่าวกัง (Shanghai Laogang) บริษัทกําจัดขยะรายใหญ่ในพื้นที่ ต้องหยุดเตาเผาขยะ 12 แห่งรวม 88 วัน ซึ่งคิดเป็นถึง 24% ของกําลังการผลิตที่สูญเปล่า

ในด้านหนึ่ง MoHURD ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการรวบรวม การขนส่ง และการกําจัดของเสีย ได้กําหนดเป้าหมายการเผาขยะนับแต่แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 12 (ปี 2011-2015) และเพิ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา 

ในปี 2016 MoHURD ยังได้เผยแพร่ “แผนการแปรรูปที่ปราศจากอันตราย” (Harm-Free Processing Plan) ของขยะครัวเรือนในเมืองในช่วงแผนฯ ฉบับที่ 13 (ปี 2016-2020) 


ซึ่งรวมถึงการกำหนด 2 เป้าหมายหลักในปี 2020 ที่ระบุความสามารถในการเผาที่ระดับ 50% และอัตราการรีไซเคิล (Recycling Rate) ที่ 35% หรือมากกว่า (ทั้งที่ อัตราการรีไซเคิลในปี 2015 อยู่ที่ระดับ 15.6% เท่านั้น)

ต่อมา หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องก็ยังร่วมมือกันออกนโยบายใหม่ อาทิ การจับมือกันของ MoHURD และ MEE เปิดตัวเป้าหมาย “เมืองไร้ขยะ” (Zero-Waste City) ภายในปี 2021

ในแผนฯ ฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) อัตราการรีไซเคิลที่เคยกำหนดไว้ “หายไป” และถูกแทนที่ด้วย “อัตราการกู้คืนทรัพยากร” (Resource Recovery Rate) ซึ่งรวมการเผาขยะและการฝังกลบ ตลอดจนการกู้คืนขยะรีไซเคิลและขยะเปียก โดยมีเป้าหมายในปี 2025 ที่ 60%


เหล่านี้ส่งผลให้เกิดการเร่งสร้างโรงเผาขยะ โดยเพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 7 เท่าตัวจาก 130 แห่งในปี 2011 เป็นถึง 927 แห่งในปัจจุบัน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของภาคเอกชนที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ 

เตาเผาขยะที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้กําลังการเผาขยะรายวันพุ่งขึ้นแตะหลัก 1 ล้านตันในปลายปี 2022 ซึ่งบรรลุเป้าหมายของ MoHURD ที่ระดับ 800,000 ตันต่อวันก่อนกําหนดถึง 3 ปี


นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 MoHURD ยังได้ประกาศเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่การคัดแยกขยะไปยังทุกชุมชนในเมืองระดับจังหวัดภายในปี 2025 ซึ่งอาจซ้ำเติมธุรกิจเตาเผาขยะที่กำลังดิ้นรนอยู่ในปัจจุบันให้ย่ำแย่ลงไปอีก

ขณะเดียวกัน แม้ว่าจะให้พลังงานความร้อนที่นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า แต่การเผาขยะก็ยังคงต้องการการอุดหนุนทางการเงินจากภาครัฐ และด้วยปริมาณขยะอันมากมายก็กดดันให้รัฐบาลตจ้องจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 


นอกจากนี้ การเผาขยะก็ยังเผชิญกับปัญหาอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่สัมบูรณ์ที่นำไปสู่การปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ อันเนื่องจากความไม่มีมาตรฐานของขยะที่ผ่านการคัดแยก

นั่นเท่ากับว่า ภายใต้ความพยายามในการกำจัดขยะในวงกว้าง จีนก็เผชิญกับความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่กระจายตัวมากขึ้นตามไปด้วย


สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มระดับการประสานนโยบายและการดำเนินงานอย่างบูรณาการ ทั้งในระดับกระทรวงและหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมนโยบายการคัดแยกขยะ 

แม้ว่าการจัดการขยะในระยะแรกจะประสบความสำเร็จและรุดหน้าไปมาก แต่การดำเนินการก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก และอาจกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการจัดการขยะในยุคหน้า ...

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง