TNN การเติบใหญ่ขององค์กรพัฒนาชนบทแดนมังกร (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

การเติบใหญ่ขององค์กรพัฒนาชนบทแดนมังกร (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การเติบใหญ่ขององค์กรพัฒนาชนบทแดนมังกร (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การเติบใหญ่ขององค์กรพัฒนาชนบทแดนมังกร (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

วันนี้จะชวนคุยต่อว่าทำไมผมจึงกล่าวว่า สี จิ้นผิง เป็นผู้นำที่ผลักดันนโยบายการสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับพื้นที่ชนบทอย่างชัดเจน และมูลนิธิจีนเพื่อการพัฒนาชนบท (CFRD) เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนในตอนไหน อย่างไร ...


ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อกล่าวถึง “ชนบท” พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก อันได้แก่ ภาคการเกษตร พื้นที่ชนบท และเกษตรกร


แต่หากพิจารณาจากผลของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนนับแต่เปิดประเทศสู่ภายนอก ก็อาจพบว่า “ความรุดหน้า” เกิดขึ้นในลักษณะกระจุกตัวในหลายส่วน เช่น ด้านซีกตะวันออกมากกว่าตอนกลางและซีกตะวันตก ชุมชนเมืองมากกว่าในพื้นที่ชนบท และภาคอุตสาหกรรมและบริการมากกว่าภาคการเกษตร


สัญญาณ “ความเอาจริงเอาจัง” ในการพัฒนาชนบทดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ครั้นถึงช่วงวาระที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งผู้นำจีน ในปี 2017 สี จิ้นผิงได้แนะนํายุทธศาสตร์ “การฟื้นฟูชนบท” ครั้งแรกในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 เพื่อเน้นย้ําถึงความสําคัญของการพัฒนาพื้นที่ชนบท


นับแต่นั้นเป็นต้นมา นโยบายและการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องก็ทยอยคลอดออกมา และปรากฏผ่านแผนเชิงกลยุทธ์สําหรับการฟื้นฟูพื้นที่ชนบทปี 2018-2022 แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) และกฎหมายส่งเสริมการฟื้นฟูชนบท


รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งสํานักงานบริหารแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูชนบทเพื่อแทนที่สํานักงานบรรเทาและพัฒนาความยากจนเป็นตัวอย่างหนึ่ง ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับการแปรสภาพ CFPA ไปสู่ CFRD


 ยุทธศาสตร์ “การฟื้นฟูชนบท” ของจีนเป็นองค์ประกอบหลักของเป้าหมายของรัฐบาลในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สมดุลมากขึ้น และเพื่อขจัดความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง


ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบทให้ทันสมัยได้กำหนดเป้าหมายระยะกลางในปี 2025 ไว้ว่า อุปทานผลผลิตการเกษตรหลักจะได้รับการประกันด้วย “คุณภาพ” ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขัน” เพื่อขจัดความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จ และลดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้


การเติบใหญ่ขององค์กรพัฒนาชนบทแดนมังกร (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


 

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังมีเป้าหมายระยะยาวสำคัญ 2 ประการ โดยประการหนึ่ง เพื่อบรรลุ “ความก้าวหน้าอย่างเด็ดขาด” ในการฟื้นฟูชนบทและความทันสมัยทางการเกษตรภายในปี 2035 และ “ได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่” เพื่อให้เกษตรกรมีฐานะดีและภาคเกษตรกรรมมีความเข้มแข็งภายในปี 2050


เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะกลางและระยะยาวดังกล่าว รัฐบาลจีนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสารพัดโครงการ เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยทําฟาร์มสมัยใหม่ การปรับปรุงสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกร และการกําหนดให้รัฐบาลฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม


และเมื่อต้นปี 2022 สภาประชาชนแห่งชาติและคณะกรรมการกลางของพรรคฯ ยังได้ร่วมกันเผยแพร่ “เอกสารหมายเลข 1” ซึ่งเป็นเอกสารเชิงนโยบายฉบับแรกของรัฐบาลแห่งปี โดยมีสาระที่กําหนดแผนพัฒนาชนบท สิ่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความสําคัญในเชิง “สัญลักษณ์” ที่พรรคฯ ให้ความสําคัญอย่างยิ่งยวดกับการแก้ไขปัญหาในชนบท


เอกสารหมายเลข 1 ดังกล่าวมี 3 หัวข้อหลัก อันได้แก่ การประกันความมั่นคงด้านอาหาร การหลีกเลี่ยงการถอยหลังในการแก้ไขปัญหาความยากจน และการแก้ไขปัญหาทางสังคม เช่น การปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็ก


นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการเรียกร้องให้เสนอ “สิ่งจูงใจ” แก่เกษตรกรในการปลูกพืชสําคัญ (ที่ดูจะอ่อนแรงอย่างมากในการจูงใจหนุ่มสาวยุคใหม่ในการทำการเกษตร) สนับสนุนการนําแนวปฏิบัติทางการเกษตรสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ ปรับปรุงการป้องกันและตอบสนองต่อภัยพิบัติ และปรับปรุงคุณภาพดินและระบบชลประทาน


ความพยายามในการสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับพื้นที่ชนบทนับว่ามีความสลับซับซ้อนมาก โดยเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษา “ความมั่นคงด้านอาหาร” ที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลจีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ได้ทุ่มเทพัฒนาภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จีนเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของประเทศที่มีการปรับปรุงด้านการเกษตรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา


แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น เพราะแหล่งข้อมูลหนึ่งระบุว่า ท่ามกลางการขยายตัวของอุปสงค์สินค้าเกษตรในเชิงคุณภาพในช่วงปี 2000-2020 ระดับการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของจีนได้ลดฮวบจาก 93.6% เหลือเพียง 65.8% เท่านั้น


ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ไม่นาน สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้กล่าวในเวทีการประชุม Central Rural Work Conference ของพรรคฯ ณ กรุงปักกิ่ง ว่า “ชามข้าวของคนจีนต้องอยู่ในมือของเราอย่างมั่นคง ชามข้าวของเราควรเต็มไปด้วยพืชผลจีนเป็นหลัก” ดังนั้น ตัวเลขเป้าหมายระดับการพึ่งพาตนเองฯ ในปี 2023 ที่ 97% จึงเต็มไปด้วยความท้าทายยิ่ง


การเติบใหญ่ขององค์กรพัฒนาชนบทแดนมังกร (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


การประชุมนี้มีความสำคัญเฉกเช่นเดียวกับ Central Economic Work Conference ที่มักประชุมในช่วงโค้งสุดท้ายของแต่ละปี เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ กำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในปีต่อไป


แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งยวด แต่จีนก็ไม่ย่อท้อ มิหนำซ้ำยังทำงานในเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับปัญหาที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อกลางปี 2023 สภาประชาชนแห่งชาติจีนยังได้ออกกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหาร


กฎหมายดังกล่าว “ครอบคลุม” ทั้งในด้านการปกป้องพื้นที่การเพาะปลูก การผลิตอาหาร อาหารสำรอง การหมุนเวียนอาหาร การแปรรูปอาหาร เหตุฉุกเฉินด้านอาหาร การอนุรักษ์อาหาร และการกำกับดูแลและจัดการด้านอาหาร


ในทางปฏิบัติ รัฐบาลจีน “มิได้เดินอย่างเดียวดาย” แต่ยังได้ดีงเอาภาคเอกชนจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินสารพัดโครงการในจีน เพื่อนำทางด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสะอาด


คราวหน้าผมจะพาไปตรวจสอบความสำคัญในส่วนนี้และแง่มุมอื่นของปัญหา ก่อนไปดูกิจกรรมและโครงการเด่นที่ CFRD ดำเนินการในช่วงหลังกันครับ ...



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง