TNN ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 2)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯ และจีน (ตอน 2 ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

นอกจากในมิติด้านเศรษฐกิจแล้ว จีนยังพัฒนาความร่วมมือกับไทยในด้านการศึกษา และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเทคโนโลยี ...


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราสังเกตเห็นความร่วมมือด้านการศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงนามความร่วมมือระหว่างองค์กรการศึกษา การแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนักวิจัย การลงทุนในสถาบันการศึกษา และการประชุมทางวิชาการระหว่างไทย-จีน


กระแส “เกลียดชังชาวเอเซีย” (Asian Hates) ในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่ขยายวงกว้างในระยะหลัง ก็ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองของชาวเอเซียกังวลใจเกี่ยวกับการส่งลูกหลานไปศึกษาต่อหรือใช้ชีวิตในประเทศเหล่านั้น สิ่งนี้นับเป็นโอกาสของวงการการศึกษาไทยและจีนเช่นกัน 


ปัจจุบัน เราเห็นนักเรียนนักศึกษาของทั้งสองประเทศไปเรียนต่อในอีกประเทศหนึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จำนวนนักเรียนนักศึกษาไทยในจีนถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของจำนวนนักเรียนนักศึกษาต่างชาติโดยรวมในจีน 


ขณะที่หลายสถาบันการศึกษาไทยก็มีนักเรียนนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้นเช่นกัน หลายสถาบันการศึกษาไทยเพิ่มจำนวนห้องเรียน สาขาวิชา และหลักสูตรภาษาจีนเพื่อรองรับการหลั่งไหลของนักเรียนนักศึกษาจีนที่มาศึกษาต่อที่ไทย

สิ่งนี้ทำให้เยาวชนไทยและจีนได้มีปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง และความคิดเห็นในด้านการศึกษา การพัฒนา และวัฒนธรรมระหว่างกันในวงกว้าง


สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หลังเรียนจบ นักศึกษาของไทยและจีนต่างมองหาลู่ทางและโอกาสในการฝึกงานและประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นเสมือน “พลังเสริม” ที่ช่วยสานต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเป็นพื้นฐานที่ดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในระยะยาว


ขณะเดียวกัน ไทยและจีนก็ยังขยายการแลกเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยีระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยลำดับ 


ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนานวัตกรรมผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการดำเนินนโยบาย Made in China 2025 ของจีน ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของจีนได้รับการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ 


ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 2)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


สิ่งนี้นำไปสู่การยกระดับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนในวงกว้าง ซึ่งได้ก็ได้รับประโยชน์ในการเรียนลัดได้ในหลายส่วน ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันฟิสิกส์พลาสมาแห่งชาติจีน และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติของไทย รัฐบาลจีนได้มอบ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” รุ่นทดลองแก่ไทยเมื่อปีก่อน  และภายหลังการเร่งติดตั้ง เตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค (Tokamak) ดังกล่าวได้เปิดทำงานอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อประโยชน์ต่อการพัฒนาในหลายด้าน อาทิ ด้านวิชาการ เทคโนโลยีวิศวกรรม และบุคลากรของไทย


จะเห็นได้ว่า ไทยและจีนสามารถพัฒนาความร่วมมือกันในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน การศึกษา และความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ประการสำคัญก็คือ ความร่วมมือดังกล่าวยังแฝงไว้ซึ่งผลประโยชน์ร่วมและศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต


ผมจึงรู้สึกแปลกใจมากที่เห็นนักการเมืองไทยบางคนที่แทบไม่เคย “สัมผัสจีน” กลับมองว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าเพราะเราใกล้จีนมากเกินไป โชคดีที่คนในพรรคขอร้องไม่ให้สื่อสารในสิ่งที่ไม่รู้จริง!!! 


ผมมองว่า ไทยได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมากจากจีนในหลายมิติ และมีโอกาสจะขยายผลได้อีกมากหากไทยเชื่อมโยงกับจีนให้มากขึ้นในอนาคต แต่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ผมก็ยังมองว่า ไทยก็ไม่จำเป็นต้องลดระดับความร่วมมือกับประเทศอื่นแต่อย่างใด เราเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดที่พึ่งพาภาคการต่างประเทศค่อนข้างสูง เราจึงต้อง “วางตัว” ในเวทีระหว่างปรเทศอย่างเหมาะสมเพื่อผลประโยชน์โดยรวมในระยะยาว


ประเด็นคำถามที่ 2 ที่มีการแลกเปลี่ยนกันในเวทีการเสวนาดังกล่าวก็คือ จะทำอย่างไรให้สามารถเจาะตลาดจีนได้มากขึ้น ภายใต้ความพยายามแยกห่วงโซ่อุปทานและการที่จีนมีนโยบาย Inward Looking ในหลายสินค้า


ประการแรก รู้เท่าทันการเติบโตและแนวทางการพัฒนาของจีน หลายคนอาจประเมินว่า จีนในระยะหลังหันมาใช้นโยบาย “มองเข้าสู่ภายใน” อาจเพราะการดำเนินนโยบาย Made in China 2025 ที่เริ่มดำเนินการนับแต่ปี 2015 และการกำหนดยุทธศาตร์ “เศรษฐกิจวงจรคู่” (Dual Circulation Economy) ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2015) ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศควบคู่ไปกับเศรษฐกิจต่างประเทศ

แต่การดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว ก็เพราะจีนรู้สึกได้ถึงแรงกดดันจากภายนอกที่สูงขึ้น ประการสำคัญ จีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ตระหนักดีว่า หากต้องการเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ จีนต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น อาทิ ตลาดภายในประเทศ และการวิจัยและพัฒนาพื้นฐาน

แต่จีนก็ยังเปิดกว้างสู่ภายนอก สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจก็คือ ในทางการเมือง จีนใช้ระบอบสังคมนิยม ดังนั้น การพัฒนาจึงเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำ 


ในช่วงหลายปีหลัง เราเห็นความเจริญของจีนที่กระจายตัวจากซีกตะวันออก สู่ตอนกลางและซีกตะวันตกของจีน สิ่งนี้คาดว่าจะดำเนินต่อไปในระยะยาว เพราะจีน “มองไกล” และต้องการกระจายความเจริญในแผ่นซ่านทั่วประเทศ และเมื่อพร้อม จีนก็ต้องการทะลุทะลวงออกสู่ต่างประเทศ 


ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 2)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


จีนเริ่มประกาศยุทธศาสตร์ใหญ่ “บุกโลก” (Go-Out Policy) มากว่า 2 ทศวรรษ และต่อมาในยุคของ สี จิ้นผิง ก็คลอดนโยบาย “เส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเล” (One Belt, One Road) ที่เป็นเวทีในการเชื่อมโยงจีนกับต่างประเทศและภูมิภาคในหลายทิศทาง ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ในเวลาต่อมา 


ประการที่ 2 มองจีนในมุมมองเชิงบวก สำหรับผมแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมาที่จีดีพีก้าวขึ้นแตะระดับ 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเพียงความสำเร็จในระยะแรก จีนจะเติบโตกว่านี้อีกมากในอนาคต

ผมประเมินว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงปี 2021-2035 จะเติบโตเฉลี่ยราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งนั่นเท่ากับว่า จีนจะเบ่งเศรษฐกิจอีกเท่าตัว โดยจะใช้เวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น


สิ่งนี้จะเกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของชุมชนเมืองที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 65% ไปเป็น 80% ของจำนวนประชากรโดยรวม จีนจะอุดมไปด้วยชุมชนเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรตั้งแต่ 10 ล้านคนขึ้นไปจาก 50 เมืองเป็นเฉียด 100 เมือง


เท่านั้นไม่พอ หัวเมืองอัจฉริยะเหล่านี้จะถูกเชื่อมโยงเป็น “กลุ่มเมืองอัจฉริยะ” (Smart City Cluster) ที่เชื่อมโยงด้วยโครงข่ายการขนส่งและการสื่อสารล้ำสมัย โดยจะคาดว่าเพิ่มขึ้นจาก 5 กลุ่มเมืองในปัจจุบันเป็นกว่า 20 กลุ่มเมืองในอนาคต


ประการสำคัญ เรากำลังพูดถึงจำนวนคนชั้นกลางที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจาก 400 ล้านคนเป็น 800 ล้านคน หรือราว 2.5 เท่าของสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึง เศรษฐกิจจีนยังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนยังจะเติบใหญ่และกระจายตัวอีกมาก และสร้างตลาด “ท้องทะเลสีคราม” (Blue Ocean) ที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว


ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่แถบมณฑลเสฉวนและฉงชิ่ง หรือมณฑลเหอหนาน ที่มีจำนวนประชากรกว่า 100 ล้านคนในแต่ละพื้นที่ และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าค่าเฉลี่ยของจีน นั่นหมายความว่า สินค้าไทยมีโอกาสจะได้รับประโยชน์จากตลาดที่เปิดกว้าง และความได้เปรียบด้านลอจิสติกส์เหนือสินค้าของต่างประเทศในตลาดจีน

ขอยกยอดไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง