TNN ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 1)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯ และจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯ และจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน


ผมเกริ่นในบทความ “เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานยุคใหม่” เกี่ยวกับการพัฒนาระบบนิเวศน์ด้านการผลิตล้ำสมัยของจีน และโยงมาถึงการสัมมนาเรื่อง “การแยกขั้ว” ในส่วนที่เกี่ยวกับไทย ก็มีหลายคำถามเด็ดที่น่าจะหยิบมาขยายผลด้วยเช่นกัน เราไปถอดรหัสกันเลยครับ ...

ต่อคำถามที่ว่าจีนมีมุมมองต่อไทยและอาเซียนอย่างไร? ผมยืนยันว่า จีนมองไทยและประเทศในอาเซียนในเชิงบวก หลายครั้งที่เราเห็นความพยายามในการรักษา “ความเป็นปึกแผ่น” ของอาเซียนเอาไว้ ซึ่งอาจแตกต่างจากขั้วอำนาจอื่นที่มักต้องการ “แบ่งแยกและปกครอง”

จีนมีสุภาษิตหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า “คฤหาสน์ของเศรษฐีย่อมไม่สง่างาม หากรายล้อมไปด้วยสลัม” ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจีนจะพัฒนาไปมากเพียงใด แต่ก็เปล่าประโยชน์หากประเทศเพื่อนบ้านยังติดกับดักแห่งความยากจน เพราะว่าจีนตระหนักดีว่า การก้าวขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วท่ามกลางประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่รายรอบ ย่อมไม่เป็นผลดี และในที่สุด จีนก็ไม่อาจจะปฏิเสธการทะลักไหลของปัญหาเหล่านั้นหรือได้รับประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านได้เท่าที่ควร


ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 1)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


ในความเป็นจริง อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงหลายปีหลังนี้ ภูมิภาคอาเซียนแบ่งออกเป็น “สามก๊ก” ขั้วสหรัฐฯ-ขั้วจีน-ขั้วกลาง ซึ่งกดดันจีนในเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องการหา “ทางออก” ทางทะเลสู่ทางตอนใต้ เพื่อลดแรงกดดันจากการ “ปิดล้อม” ของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ที่จบลงไปเมื่อไม่กี่วันก่อน นายกรัฐมนตรีของจีนในฐานะตัวแทนรัฐบาลจีนก็กระตุกความคิดผู้นำอาเซียนด้วยการเรียกร้องมิให้ “เลือกข้าง” เพราะเกรงว่าภูมิภาคนี้จะกลายเป็น “ยูเครน 2”

นอกจากนี้ อาเซียนยังถือเป็น 1 ใน 6 “ระเบียงเศรษฐกิจ” ที่จีนออกแบบไว้ภายใต้อภิมหายุทธศาตร์ BRI ซึ่งสะท้อนว่า จีนเล็งเห็นถึง “ผลประโยชน์ร่วม” และอยากเห็นความเจริญรุ่งเรืองเกิดขึ้นในภูมิภาค ซึ่งเป็นเสมือนการผลักดันแคมเปญ “รวยร่วมกัน” (Common Prosperity) ภาคสองให้ขยายออกไปยังต่างประเทศ

ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ และมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวจีนจึงเป็นตลาดที่กิจการของหลายประเทศต่างหมายปอง ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้โมเดล “ลูกรักบี้” ที่ป่องกลาง จำนวนคนชั้นกลางถูกคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 400 ล้านคนในปี 2020 เป็น 800 ล้านคนในปี 2035 หรือราว 2.5 เท่าตัวของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน มูลค่าการนำเข้าก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากราว 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นกว่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนั่นหมายถึงกำลังซื้อมหาศาลที่จะเกิดขึ้น

สำหรับไทย จีนเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ ผมสังเกตเห็นว่า ทั้งสองประเทศพยายามขยายผลนโยบาย “Connectivity” ของอาเซียนเพื่อเอื้อต่อการดำเนินนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้งระหว่างกัน อาทิ การอนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง และการขยายโครงข่ายคมนาคมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็มีส่วนสนับสนุนต่อนโยบาย BRI


ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 1)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


ก่อนยุคโควิด จีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวใหญ่สุดของไทย เราเคยมีนักท่องเที่ยวจีนมาจับจ่ายใช้สอยที่บ้านเราถึงกว่า 10 ล้านคนต่อปี หรือกว่า 25% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยโดยรวม หลายฝ่ายคาดหวังว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในอดีตจะพลิกฟื้นกลับคืนมาในเร็ววัน

ขณะเดียวกัน ด้วยความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ความสามารถด้านการผลิตการตลาด และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านหลายเวที โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เอเปค และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ทำให้จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี บางคนอาจมองในเชิงลบว่า ไทยเสียประโยชน์จากการขาดดุลการค้ากับจีนมาอย่างต่อเนื่องและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่หากคิดในภาพรวมแล้ว การนำเข้าสินค้าจีนที่มีราคาถูกและคุณภาพดีในเชิงเปรียบเทียบ ทำให้ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีทางเลือกใหม่ทดแทนสินค้าจากแหล่งอื่น และช่วยให้ไทยลดการขาดดุลการค้าในภาพรวม

ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีนได้ทะลุหลัก 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปแล้ว เราเห็นจีนแสวงหาและสั่งซื้อข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำตาล ผลไม้ เนื้อสัตว์ และสินค้าเกษตรอื่นๆ ของไทยเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละปี

หลายท่านอาจเคยได้ยินเรื่องเล่าที่คนจีนต่างชื่นชอบในรสชาติและกลิ่นของข้าวหอมมะลิไทยมาช้านาน มาถึงวันนี้ ทุเรียนถือเป็นผลไม้ยอดนิยมที่คนจีนต่างซื้อหามาบริโภคและกลายเป็นของฝากที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

เหล่านี้มีส่วนเสริมสร้างจุดเด่นของไทยในด้าน “ซอฟท์พาวเวอร์” และการเป็นครัวโลก และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่สินค้าและบริการอีกหลายประเภท ท่านผู้อ่านอาจแปลกใจเมื่อได้รับทราบว่า เครื่องประทินผิวหลายแบรนด์ของไทยได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้บริโภคชาวจีนอย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น ครีมกันแดดของ “มีสทีน” ก็ทำยอดขายสูงที่สุดในปัจจุบัน แซงหน้าแบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำของโลกเสียด้วยซ้ำ

ในทางกลับกัน แบรนด์สินค้าจีนก็เข้ามาขยายตลาดในไทยอย่างกว้างขวาง และด้วยความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพที่ดี ก็ทำให้สินค้าจีนสามารถเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดจากแบรนด์สินค้าของชาติอื่นในเมืองไทยได้อย่างรวดเร็ว


ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 1)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


จีนยังก้าวขึ้นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยอันดับ 1 ในระยะหลัง และหากไทยรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้ทันท่วงที FDI ของจีนก็คาดว่าจะหลั่งไหลเข้าสู่จีนอีกมากในอนาคต ทำนองเดียวกันก็อาจเกิดขึ้นกับ FDI ของประเทศและภูมิภาคอื่นในไทยเช่นกัน

กิจการเครือเจริญโภคภัณฑ์นับเป็นกิจการแรกของต่างชาติที่บุกเบิกเข้าไปลงทุนในจีนเมื่อกว่า 40 ปีก่อน โดยได้ทะเบียนการค้าหมายเลข 0001 และขยายการลงทุนในหลากหลายประเภทธุรกิจอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา ปัจจุบัน เครือเจริญโภคภัณฑ์มีธุรกิจในจีนมากกว่า 600 บริษัท กระจายอยู่ในทั่วทุกมณฑล/มหานครของจีน และมีพนักงานรวมกันนับแสนคน

ซีพีและกิจการของไทยน้อยใหญ่จำนวนมากยังได้ขยายการลงทุนในจีนอย่างต่อเนื่อง จากธุรกิจด้านการเกษตรและอาหาร สู่หลากหลายอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการ อาทิ มิตรผล บ้านปู สหยูเนี่ยน ปตท. และกระทิงแดง รวมทั้งธนาคารกรุงเทพ เคแบ้งค์ และธนาคารไทยพาณิชย์

หากท่านผู้อ่านเดินทางไปเยือนจีน อาจสังเกตเห็นร้านอาหารไทย และร้านนวดและสปาไทยเพิ่มจำนวนและกระจายตัวในหลายหัวเมืองของจีน ยิ่งเวลาผ่านไป ผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยมาท่องเที่ยวที่ไทย ต่างมองหาธุรกิจบริการที่มีความเป็นไทยอย่างแท้จริงมากขึ้นทุกขณะ กอปรกับกำลังซื้อของคนจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่จับตลาดระดับกลางและระดับบนจึงต่างคราคร่ำไปด้วยลูกค้าชาวจีนที่พร้อมจ่ายค่าบริการในอัตราที่สูง

เราก็ยังเห็นกิจการไทยขยายเข้าสู่ธุรกิจช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่ การเงินการธนาคาร การออกแบบและก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสื่อสาธารณะกันอย่างกว้างขวาง

นับแต่ปี 2015 จีนได้ให้ความสำคัญยิ่งกับการดำเนินนโยบาย Made in China 2025 และการพัฒนาด้านนวัตกรรมผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และจริงจัง

สิ่งนี้สอดรับกับวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยสู่ยุคใหม่ และนำพาประเทศให้หลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ผ่านความพยายามที่ต้องการยกระดับสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต หรือที่เรานิยมเรียกว่า “New S-Curve” รวม 12 ประเภท อาทิ การเกษตรสมัยใหม่และไบโอเทค เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจดิจิตัล สุขภาพ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว


ถอดรหัสการแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯและจีน (ตอน 1)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


โดยในชั้นนี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษรวม 6 แห่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของไทย ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่จะทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตต่อไปอย่างมีเสถียรภาพอีกอย่างน้อย 30 ปีในอนาคต

ขณะเดียวกัน จีนก็ขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ส่งผลให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” เป็นระเบียงเศรษฐกิจที่ธุรกิจจีนและต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาลงทุนมาเป็นอันดับต้น ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิตและบริการสีเขียว

ผมยังสังเกตเห็นว่า ซีพีและธุรกิจจำนวนมากของไทยก็ได้จัดสรรทรัพยากรและเครือข่ายในการช่วยผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาอีอีซีให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และกลายเป็น “หุ้นส่วนทางธุรกิจ” ในหลายธุรกิจของจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย

คราวหน้าผมจะชวนไปคุยในประเด็นความสัมพันธ์ของจีนและอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทย ในมิติอื่น และขยับไปสู่ประเด็นคำถามอื่นกันครับ ...





ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง