TNN online การแข่งขันในอุตสาหกรรม “ชิป” โลกในยุคหลังโควิด-19 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

การแข่งขันในอุตสาหกรรม “ชิป” โลกในยุคหลังโควิด-19 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การแข่งขันในอุตสาหกรรม “ชิป” โลกในยุคหลังโควิด-19 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การแข่งขันในอุตสาหกรรม “ชิป” โลกในยุคหลังโควิด-19 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ในมุมมองของการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ TSMC ก็ไม่ต้องการเก็บเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งหมดไว้ในไต้หวัน เพราะมีข้อกังวลใจเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารของจีนแผ่นดินใหญ่เข้ายึดเกาะไต้หวัน เราจึงเห็นบริษัทฯ ขยายการลงทุนจัดตั้งโรงงานแห่งใหม่ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเยอรมนี

ในพิธีเปิดโรงานแห่งใหม่ดังกล่าว ท่อนหนึ่งในสุนทรพจน์ของมอร์ริส ชาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง TSMC และผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในวงการอุตสาหกรรมชิปโลก ยังระบุว่า ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ได้นำไปสู่สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งได้เปลี่ยนสถานการณ์ของผู้ผลิตชิปไปอย่างสิ้นเชิง 

และยังเตือนว่า “กระแสโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีเกือบจะตายแล้ว” และยากที่พลิกฟื้นให้กลับมาได้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งดูจะสอดคล้องกับจุดยืนของสหรัฐฯ ในยุคหลัง

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในกรณีของโรงงานแห่งใหม่ในอริโซนา TSMC วางแผนจะนำเอาเทคโนโลยีการผลิตชิปคุณภาพสูงขนาด 3 นาโนมิลลิเมตรที่มีอยู่ในมือไปใช้ที่โรงงานแห่งใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพราะนอกจากขนาดที่เล็กกว่าแล้ว ชิปขนาด 3 นาโนยังประหยัดพลังงานได้ดีกว่าชิปขนาด 5 นาโนถึงราว 30-35%

นักวิเคราะห์คาดว่า โรงงานแห่งใหม่นี้จะสามารถส่งมอบชิปขนาด 4 นาโนให้ลูกค้ารายใหญ่ในวงการ อาทิ แอปเปิ้ล (Apple) และเอ็นวิเดีย (Nvidia) ซึ่งเป็นคู่แข่งของเอเอ็มดี (AMD) ได้ในช่วงปลายปี 2023 หรืออย่างช้าในปี 2024 และขยายโรงงานผลิตและส่งมอบชิปขนาด 3 นาโนได้ภายในปี 2026

ในทางกลับกัน การถูก “รุมกินโต๊ะ” ดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อจีน แต่ดูเหมือนจีนก็มีทางเลือกเหลืออยู่ไม่มากนัก 

ในด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนได้นำเอาเรื่องนี้ไปฟ้ององค์การการค้าโลก และกลายเป็นกรณีพิพาททางการค้าใหญ่ของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอีกคดีหนึ่ง


การแข่งขันในอุตสาหกรรม “ชิป” โลกในยุคหลังโควิด-19 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพประกอบข่าว AFP

 

 


 ขณะที่กิจการของจีน อาทิ เอสเอ็มไอซี (SMIC) หรือ “Semiconductor Manufacturing International Corporation” ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน ก็ส่งสัญญาณเตือนใน “ความไม่สมเหตุสมผล” ไปถึงนักการเมืองสหรัฐฯ ว่ามาตรการดังกล่าวอาจเป็นผลดีในระยะสั้น แต่จะส่งผลเสียในหลายมิติในระยะยาว

ขณะเดียวกัน จีนก็ได้ทุ่มทุนจำนวนมหาศาลกับการยกระดับอุตสาหกรรมชิปภายในประเทศ เพื่อหวังลดผลกระทบเชิงลบจากมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร เฉพาะ SMIC ก็มีแผนลงทุนถึงกว่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการขยายกำลังการผลิตเครื่อง DUV ของตนเองภายในปี 2023

เราจึงเห็นข่าวความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบนิเวศมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาสถาปัตยกรรมการออกแบบชิปโอเพนซอร์ส เพื่อหลีกหนีจากมาตรฐานการออกแบบชิปที่ถูกควบคุมโดยสหรัฐฯ โดยธุรกิจกว่า 10 รายของจีนได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนาชิปคุณภาพสูงภายใต้สถาปัตยกรรม “RISC-V” 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เทคอินไซต์ (TechInsights) กิจการวิเคราะห์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ผลจากการซื้อเหมืองขุดเงินคริปโต ASIC ที่ผลิตขึ้นโดย SMIC ก็พบว่า SMIC สามารถผลิตชิปที่มีขนาด 7 นาโนมิลลิเมตรได้เมื่อ 2 ปีก่อน 

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมิได้ใช้คำว่า “ก็อปปี้” แต่เทคอินไซต์ก็ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีการผลิตชิปดังกล่าวดูจะคล้ายคลึงกับของ TSMC จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นรัฐบาลสหรัฐฯ จับเอา SMIC ใส่เพิ่มในรายชื่อ Entity List ของกระทรวงพาณิชย์ในเวลาต่อมา

ต่อมา สำนักข่าวซินฮวา (Xinhua) กระบอกข่าวใหญ่ของจีน ก็ยังตีข่าวใหญ่ถึงความสำเร็จในการพัฒนาชิปหน่วยประมวลผลข้อมูล (Data Processing Unit) ของตนเองได้เป็นครั้งแรก 

DPU ถือเป็น “ชิปหลักที่ 3” ตามหลังหน่วยประมวลผลกลาง (Central Processing Unit) และหน่วยประมวลผลภาพ (Graphics Processing Unit) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักของเทคโนโลยีศูนย์คอมพิวเตอร์อัจฉริยะในยุคหน้า เพื่อนำไปใช้กับศูนย์ข้อมูล และการคำนวณทางการเงิน 


การแข่งขันในอุตสาหกรรม “ชิป” โลกในยุคหลังโควิด-19 (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพประกอบข่าว รอยเตอร์

 

 


 ทั้งนี้ บริษัท ยูเซอร์เทคโนโลยี จำกัด (YUSUR Technology Co., Ltd.) แห่งปักกิ่งที่ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของบุคลากรจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences) ได้พัฒนาชิป DPU นี้จากชิปขนาด 28 นาโนมิลลิเมตร โดยมีจุดเด่นในด้านต้นทุนที่ต่ำ การประมวลผลที่ดีเยี่ยม และการใช้พลังงานที่ต่ำ โดยมีระยะเวลาแฝงที่ต่ำเพียง 1.2 ไมโครวินาที และสนับสนุนแบนด์วิธเครือข่าย 200Gตามมาด้วยการพัฒนาชิป CPU ขนาด 6 นาโนมิลลิเมตรสำหรับโทรศัพท์มือถือระบบ 5G 

ซึ่งเมื่อผนวกกับเทคโนโลยีระบบการประมวลผล การปรับแต่งด้วยเอไออัจฉริยะ และอื่นๆ ก็ช่วยให้สามารถลดการใช้พลังงานได้ต่ำกว่าอุปกรณ์รุ่นก่อนหน้าได้ถึง 40% และลดเสียงรบกวน ซึ่งทำให้การรับส่งเสียงชัดคมและมีคุณภาพดีขึ้น

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังประเมินว่า TSMC จะเร่งพัฒนาการผลิตชิปขนาด 2 นาโนมิลลิเมตรได้ที่ไต้หวันภายในกลางปี 2025 และสหรัฐฯ ก็คงจะออกมาตรการกีดกันใหม่เพื่อถ่างกว้าง “การแยกขั้ว” 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป มาตรการกีดกันดังกล่าวกำลังกลายเป็น “ดุลยภาพใหม่” ที่ชินชาสำหรับจีน ด้วยตลาดชิปและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่เป็น “เค้กก้อนใหญ่” ที่เปี่ยมด้วยพลัง อุตสาหกรรมชิปของจีน “ไม่ทิ้ง” โอกาสทางธุรกิจดังกล่าว 

ผมเชื่อมั่นว่า ก่อนสิ้นทศวรรษนี้ เทคโนโลยีและระบบนิเวศในด้านนี้ของจีนจะ “วิ่งไล่ทัน” และ “สั่นคลอน” ความเป็นผู้นำของผู้ผลิตชิปในเวทีโลก พร้อมรักษาตำแหน่ง “โรงงานของโลกยุคใหม่” ได้ต่อไป

นี่อาจเป็น “การเดิมพันครั้งใหญ่” อีกครั้งของจีนในการก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลกในอนาคต ...



ภาพจาก AFP/รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง