TNN การแข่งขันในอุตสาหกรรม “ชิป” โลกในยุคหลังโควิด-19 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

การแข่งขันในอุตสาหกรรม “ชิป” โลกในยุคหลังโควิด-19 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การแข่งขันในอุตสาหกรรม “ชิป” โลกในยุคหลังโควิด-19 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การแข่งขันในอุตสาหกรรม “ชิป” โลกในยุคหลังโควิด-19 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

มีท่านผู้อ่านเกริ่นมาว่า เห็นบรรยากาศอันชื่นมื่นของการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีนก่อนการประชุม G20 ที่บาหลี อินโดนีเซียเมื่อปลายปีก่อนแล้ว สงสัยว่าสงครามการค้า (Trade War) และสงครามเทคโนโลยี (Tech War) ว่าจะดำเนินอยู่ต่อไปหรือไม่ในปีกระต่าย

ผมขอฟันธงไปเลยว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอม “ลดราวาศอก” กับจีนง่ายๆ อย่างแน่นอน แม้กระทั่งภายหลังการประชุมสุดยอดอันหวานชื่นดังกล่าว สหรัฐฯ ก็ออกอาการ “ปากว่าตาขยิบ” ออกมาตรการแซงชั่นบิ๊กเทคจีนในสหรัฐฯ หลายราย อาทิ หัวเหว่ย (Huawei) และติ๊กต็อก (TikTok) รวมไปถึงเหตุการณ์ “กระต่ายตื่นตูม” ล่าสุดที่ยิงบอลลูนสำรวจสภาพอากาศของจีน ...

โดยคาดว่าจะใช้ “เซมิคอนดักเตอร์” ในการบีบรัดจีนอย่างเข้มข้นต่อไป นับเฉพาะครึ่งหลังของปี 2022 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการระงับและจำกัดธุรกรรมการส่งออกชิป ชิ้นส่วนอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ประกอบเครื่องผลิตชิป และซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรการอื่นๆ เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง!

หากมองอย่างเป็นกลาง มาตรการดังกล่าวสะท้อนถึงการ “เลือกปฏิบัติ” ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อกิจการและประเทศจีน อาทิ การควบคุมการส่งออกชิปคุณภาพสูง และการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ และบิ๊กดาต้า

ยกตัวอย่างเช่น แยงซีเมโมรีเทคโนโลยี (Yangtze Memory Technologies) และอีก 30 กิจการอื่นของจีนโดนสั่งห้ามส่งออกอุปกรณ์การผลิตชิปความจำ (Memory Chip) ที่มากกว่า 128 ชั้นไปยังจีนเมื่อกลางปี 2022 ทั้งที่ สินค้าดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้นนับแต่ปี 2020 และผู้ผลิตชั้นนำของโลกก็สามารถผลิตชิปประเภทนี้ที่มากกว่า 200 ชั้นไปแล้วก็ตาม

เมื่อกล่าวถึง “YMTC” ผมก็ขอเรียนว่า นี่เป็นรัฐวิสาหกิจจีนขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 ณ เมืองอู่ฮั่นด้วยเงินลงทุนจาก “Big Fund” กองทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ของจีน จึงมักตกเป็น “เป้านิ่ง” ของมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอยู่เสมอ

การขึ้น “บัญชีดำ” ทางการค้ากับผู้ประกอบการของจีนเพื่อมิให้เข้าถึงหรือจัดซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์บางชนิดของสหรัฐฯ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เพราะเมื่อถูกขึ้นบัญชีดำแล้ว กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ จะเพิ่มรายชื่อบริษัทเหล่านั้นใน  “Entity List” ซึ่งจะทำให้ซัพพายเออร์ของสหรัฐฯ ต้องมีใบอนุญาตพิเศษในการจัดส่งและส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ยังพยายามขยายการควบคุมไปถึง “ต้นน้ำ” ของห่วงโซ่การผลิต โดยใช้กรอบความตกลงที่เคยทำไว้กับชาติพันธมิตร ห้ามมิให้ ASML Holding NV ของเนเธอร์แลนด์และกิจการที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่นขายเครื่อง DUV (Deep Ultraviolet) ให้แก่กิจการของจีน เพราะเกรงว่าจีนจะนำไปต่อยอดในการผลิตชิปขนาดต่ำกว่า 7 นาโนมิลลิเมตรได้ในอนาคต

การแข่งขันในอุตสาหกรรม “ชิป” โลกในยุคหลังโควิด-19 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก : AFP 

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า สหรัฐฯ นำเอาประเด็นเศรษฐกิจและเทคโนโลยีมาเป็น “อาวุธทางการเมือง” โดยกล่าวหาว่าจีนพยายามนำเอาชิปคุณภาพสูงที่จัดหาได้ไปใช้ในทางทหาร และมาเป็นข้ออ้างด้าน “ความมั่นคงของชาติ” สร้างเงื่อนไขและบิดเบือนมาตรการส่งออกอย่างไร้หลักฐานและเหตุผล 

หลายฝ่ายยังพิจารณาว่า การกำหนดมาตรการในลักษณะดังกล่าวกับกิจการและประเทศจีนนับเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบการค้าระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุตสาหกรรมและอุปทานโลก 

เพราะบ่อยครั้งที่พบว่า แม้กระทั่งในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีระดับต่ำ อาทิ ชิปที่มีขนาด 28 นาโนมิลลิเมตร ซึ่งเป็นจิ๊กซอร์สำคัญของห่วงโซ่อุปทานของหลายอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ ก็ถูกลากโยงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

นอกจาก “ปัจจัยผลัก” แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ยังใช้ “ปัจจัยดึง” ควบคู่ไปด้วย โดยสหรัฐฯ พยายามเสริมสร้าง “ความกระชุ่มกระชวย” แก่อุตสาหกรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นภายในประเทศด้วยการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนแบบขนาดใหญ่

ซึ่งต่อมา เราก็เห็นข่าวการลงทุนของผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลกในสหรัฐฯ อาทิ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. หรือ “ทีเอสเอ็มซี” (TSMC) ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลกของไต้หวัน ในเมืองฟินิกซ์ มลรัฐอริโซนา และของรายอื่นในอีกหลายแห่งในสหรัฐฯ

การให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าวปรากฏชัดเจนผ่านหลายเหตุการณ์ อาทิ การมีนัดพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของ TSMC ในโอกาสที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เยือนไต้หวันของเมื่อกลางปีก่อน และการเข้าร่วมเป็นสักขีพยานของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในโอกาสที่โรงงานแห่งใหม่ติดตั้งเครื่องมือผลิตชิปชุดแรกเมื่อเดือนธันวาคม ปีก่อน

กำลังสนุกเลย แต่พื้นที่หมดแล้ว ไว้คุยกันต่อตอนหน้านะครับ ...

ภาพจาก : AFP 

ข่าวแนะนำ