TNN online จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อพูดถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก รัฐบาลจีนนิยมใช้หลักคิด “อุปทานรออุปสงค์” เราจึงเห็นการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างเหล่านี้เพื่อให้พร้อมรองรับการลงทุนของจีนและต่างชาติอยู่เสมอ 

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่เราคุยกันเมื่อคราวก่อนแล้ว รัฐบาลจีนเตรียมการยกระดับการดำเนินงานในอีกหลายด้านเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์เศรษฐกิจให้กลับมาสู้ปกติโดยเร็วที่สุด วันนี้เราไปเจาะลึกกันต่อครับ ...

จีนยังจะเดินหน้ายกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนอุตสาหกรรมและทรัพยากรหลักในด้านพลังงาน และน้ำ ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างและปรับปรุงโครงข่ายท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และระบบชลประทาน แก้มลิง การอนุรักษ์น้ำ และการป้องกันภัยธรรมชาติ 

ในประเด็นหลังนี้ ผมมองว่า รัฐบาลจีนนับว่ามีวิสัยทัศน์ที่ดียิ่งต่อโครงการด้านการเกษตรและการอนุรักษ์น้ำ เพราะภายหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่อเค้ายืดเยื้อและขยายวงกว้าง วิกฤติอาหารกำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ของโลก ขณะที่การขาดแคลนน้ำก็กำลังอยู่ในความสนใจของหลายประเทศ/ภูมิภาค

ท่านผู้อ่านอาจทราบข่าววิกฤติการขาดแคลนน้ำของมลรัฐแคลิฟอร์เนียในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถึงขนาดรัฐบาลท้องถิ่นต้องขอให้ธุรกิจและประชาชนลดการใช้น้ำในพื้นที่กลางแจ้งสัปดาห์ละหนึ่งวัน มาตรการนี้กระทบกับผู้คนในพื้นที่จำนวนกว่า 6 ล้านคน

จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

ในด้านดิจิตัล จีนจะเดินหน้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อระยะยาว ซึ่งครอบคลุมถึงด้านข้อมูล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโลจิสติกส์ รวมทั้งการออกแบบและสร้างซุปเปอร์คอมพิวติ้ง คลาวด์คอมพิวติ้ง แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ และบรอดแบนด์ยุคใหม่  

นอกจากนี้ จีนยังใส่ใจกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงแห่งชาติ และปรับปรุงความสามารถในการจัดการสถานการณ์สุดวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 

ขณะเดียวกัน การจ้างงานที่ส่อเค้าว่าจะหดตัวมากขึ้นในเดือนเมษายน จนน่าจะแรงสุดนับแต่เกิดวิกฤติโควิดในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน รัฐบาลจีนจะเน้นการรักษาเสถียรภาพการจ้างงาน โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในจีนกลับมาเปิดกิจการโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นโรงงานหลักและกิจการและอุตสาหกรรม กิจการขนส่ง และโลจิสติกส์

จีนพยายามเร่งขจัดปัญหาและอุปสรรคที่มีผลต่อการไหลเวียนของสินค้าทั่วประเทศ และส่งเสริมการจ้างงานผ่านการสนับสนุนในเศรษฐกิจที่แท้จริง

จีนสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กิจการใน “บัญชีขาว” (White List) ของกิจการค้าระหว่างประเทศ และบริษัทในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์ ยา และอื่นๆ กลับมาเปิดดำเนินการ ซึ่งคาดว่ามาตรการนี้จะช่วยให้กิจการขนาดเล็ก กลาง และใหญ่จำนวน 150 ล้านรายในจีนเอาชนะความยากลำบากในปัจจุบันและที่รออยู่ในอนาคตได้

ในทางปฏิบัติ จีนทยอยเปิดให้พนักงานเข้าไปทำงานภายใต้ “ระบบวงจรปิด” (Close-Loop System) และห้ามคนภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าออกพื้นที่ โดยมีประกาศสั่งห้ามเข้าออก (ที่ผู้ประกอบการไทยนิยมเรียกกันว่า “หมายศาล”) มาปิดที่ประตูโรงงาน

จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

ในกรณีของสวนอุตสาหกรรม (Industrial Park) และสวนธุรกิจ (Business Park) ที่กิจการนับสิบนับร้อยอยู่ในขอบเขตเดียวกันก็ให้ยึดถือระบบดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่จะติด “หมายศาล” ที่ทุกประตูหลักและรองของสถานที่โครงการ

ในกรณีที่โรงงานไม่มีสถานที่พักภายในพื้นที่เดียวกันมากพอ กิจการต้องจัดรถบัสรับส่งระหว่างบริษัท/โรงงานกับที่พัก ภายใต้แนวคิด “จากจุดถึงจุด” (Point to Point) โดยห้ามพนักงานเดินทางไปยังสถานที่อื่นใดในระหว่างนี้ และต้องตรวจเชื้อโควิดทุกวัน 

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจเชื้อรายวันดังกล่าว ซึ่งในด้านหนึ่ง ก็ช่วยลดภาระให้แก่ภาคเอกชน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็สร้างแรงกดดันด้านงบประมาณต่อรัฐบาลจีน คนจีนบางส่วนเปรียบเปรยว่า “จีนต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลในการดำเนินงานตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์เสมือนกำลังเข้าสู่สงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วยเช่นกัน”

บ้างก็สะท้อนให้เห็นถึงความใหญ่ของผลกระทบจากวิกฤติโควิดระลอกใหม่ว่า “ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้พยายามกดราคาในการจัดซื้อยาจากภาคเอกชน แต่เงินงบประมาณที่ประหยัดได้ทั้งหมดต้องหมดไปกับโควิดระลอกใหม่ในครั้งนี้”

จนถึงปัจจุบัน คลัสเตอร์อุตสาหกรรมในหลายหัวเมือง อาทิ ฉางชุน และเซี่ยงไฮ้ ที่เผชิญกับการระบาดของโควิดในช่วงที่ต่อเนื่องกัน และการดำเนินมาตรการบรรเทาวิกฤติที่คล้ายคลึงกัน อาทิ การกำหนดพื้นที่เขียว-เหลือง-แดง และขั้นตอนการกลับมาเริ่มเปิดกิจการอีกครั้ง 

แต่ก็พบว่า โรงงานส่วนใหญ่ยังเดินสายการผลิตต่ำกว่ากำลังการผลิตเต็มที่อยู่มาก และหากสถานการณ์โควิดในแต่ละเมืองคลายตัวในระดับความเร็วอย่างที่เป็นอยู่ ก็คาดว่าจะต้องใช้เวลาจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมกว่าที่การผลิตจะกลับมาสู่สภาวะปกติ

จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

ทั้งนี้ ในกรณีของเซี่ยงไฮ้ พบว่า ณ สิ้นเดือนเมษายน มีกิจการในบัญชีขาวระลอกแรกที่เปิดกิจการและเดินสายการผลิตไปแล้วจำนวน 666 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นกิจการรายใหญ่และเครือข่ายในอุตสาหกรรมยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า ยาชีวภาพ และวัสดุใหม่ 

อาทิ Covestro, SMIC, Huahong, AT&S, Huawei, SAIC และ Tesla รวมทั้งธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์รายใหญ่อย่าง SF Express และมีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีขาวอีก 1,188 แห่งที่เข้าคิวรอเปิดกิจการในรอบถัดไป

จากการสัมภาษณ์กิจการในพื้นที่สอบถามถึงสาเหตุที่เราเห็นกิจการกลับมาเปิดกิจการน้อย ก็ได้รับคำตอบว่า การขอเปิดดำเนินการอีกครั้งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมาก ไล่ตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนในบัญชีขาว การขอ “ใบผ่าน” ของรถยนต์ในเซี่ยงไฮ้และข้ามเมือง ใบอนุญาตจากหน่วยงานควบคุมโรค ขณะที่พนักงานเองก็ต้องไปขออนุญาตคณะกรรมการหมู่บ้านแต่ละคนอาศัยอยู่ 

เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าวและเร่งขยายการกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง รัฐบาลเซี่ยงไฮ้จึงได้ นำเอาระบบบริการออนไลน์เข้ามาใช้ อาทิ การนำเอาศูนย์บิ๊กดาต้าของเซี่ยงไฮ้มาเชื่อมต่อกับแอพบริการสาธารณะ “สุยเซินปั้น” (Suishenban) และมินิโปรแกรมในวีแชตและอาลีเพย์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานในการกลับไปทำงาน และช่วยออกใบผ่านสำหรับพาหนะที่ใช้ในการขนส่งสินค้า และอื่นๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น

ขณะเดียวกันก็ดำเนินการตามแนวคิด “กลุ่มบัญชีขาว” (White List Pool) ที่เปิดกิจการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมเดียวกันแบบเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงที่ครอบคลุมจากฐานการผลิตในเซี่ยงไฮ้ไปถึงมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และอันฮุย เพื่อให้การผลิตสินค้าสำเร็จรูปเกิดเป็นรูปธรรม

จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

อีกจุดเด่นหนึ่งของความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ ก็คือ ไม่เพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและระยะสั้น แต่รัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อหวังผลในระยะยาว 

โดยจีนได้ออกมาตรการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเสมือนเสาหลักในการพัฒนาคุณภาพสูงที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ และวางแผนจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 3 ปี และแผนพัฒนาด้านการวิจัยพื้นฐาน 10 ปี รวมทั้งการกระตุ้นให้ธุรกิจมีบทบาทสำคัญในด้านนวัตกรรม 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังจะสนับสนุนส่งเสริมการฝึกงานแก่ผู้ที่จบการศึกษาระดับวิทยาลัยขึ้นไปจำนวน 1 ล้านคน บรรเทาภาระหนักในการทำงาน และช่วยให้ผู้อพยพจากพื้นที่อื่นมีงานทำ รวมทั้งยังจะเริ่มดำเนินโครงการด้านการเกษตรและการอนุรักษ์น้ำ เป็นต้น

ในด้านของการลดภาระแก่แรงงานและนายจ้าง จีนได้ประกาศผ่อนผันการชำระเงินสำรองเลี้ยงชีพ การว่างงาน ค่าธรรมเนียมประกันอุบัติเหตุระหว่างการทำงานสำหรับ SMEs กิจการขนาดจิ๋ว และธุรกิจครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด และสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นในการอุดหนุนการใช้ไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาอย่างหนัก 

จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

โดยในชั้นนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศลดอากรนำเข้าถ่านหินเป็นศูนย์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2022 ถึง 31 มีนาคม 2023 เพื่อลดภาระด้านพลังงาน รวมทั้งลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบการสื่อสารสำหรับการจ้างงานและการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์

ผมไล่เรียงสารพัดมาตรการทางเศรษฐกิจที่จีนประกาศใช้ในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 4 ล้านล้านหยวนในสมัยหู จิ่นเทา และเวิน เจียเป่า ดูเล็กไปถนัดใจซะแล้ว ซึ่งสะท้อนถึง “ความใหญ่” ของวิกฤติที่จีนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต 

ผมจึงเชื่อมั่นว่า นอกจากการยึด “นโยบายโควิดเป็นศูนย์” แล้ว เรายังจะได้เห็นรัฐบาลจีนคลอดมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และสานต่อการเติบโตของเศรษฐกิจคุณภาพสูงต่อไปในยุคหน้า ...

ข่าวแนะนำ