TNN online ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอนจบ ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

นอกเหนือจากการมีจำนวนผู้บริโภคภายในประเทศจำนวนมากที่เป็นความได้เปรียบในด้านตลาด และโอกาสการพัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัพผ่านบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ ของ SMEs จีนแล้ว อีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ SMEs จีนอยู่รอดและเติบโตเร็วก็ได้แก่ มาตรการส่งเสริมของภาครัฐ เราไปถอดรหัสในประเด็นนี้ต่อกันเลย ...

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมเห็นรัฐบาลจีนดำเนินนโยบายและมาตรการส่งเสริมและพัฒนาแก่ SMEs จีนเป็นการเฉพาะและเป็นระบบสอดคล้องกัน อาทิ การดำเนินนโยบายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่จีนปรับลดมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ SMEs จีนมีเวลาปรับตัวในการแข่งขันกับสินค้า บริการ และธุรกิจของต่างชาติได้อย่างเหมาะสม 

ที่สำคัญ จีนมิได้ปล่อยให้เวลาที่ซื้อไว้สูญเปล่า รัฐบาลจีนช่วยสนับสนุนส่งเสริมควบคู่ไปกับการกดดันให้ SMEs จีนเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมได้รับประโยชน์จากการพัฒนาไปพร้อมกัน

รัฐบาลจีนยังนิยมดำเนินนโยบายและมาตรการในเชิงรุก เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มเสถียรภาพของห่วงโซ่การผลิตและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้น จีนเดินหน้าจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตแห่งชาติ และสร้างแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเพื่อผนวก SMEs เข้ากับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่แห่งคุณค่า ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ 

นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมซัพพลายเชนจีนจึงแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และเพิ่มมูลค่าได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานของต่างชาติจึงขาดสะบั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญวิกฤติโควิด ส่งผลให้จีนสามารถขยายการส่งออกและการเกินดุลการค้าได้อย่างมากในยุคหลังโควิด

ในขณะที่สินค้าและบริการของจีนส่งออกไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น รัฐบาลจีนก็ไม่ได้ตายใจหรือมัวหลงดีใจไปกับสถานการณ์ดังกล่าว จีนเริ่มขยับสู่แนวคิดในการเปลี่ยน “ความคิดดีๆ สู่ตลาดโลก” เพื่อการส่งออกนวัตกรรมบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสัดส่วนที่สูงขึ้น 

ความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายภาครัฐถือเป็นจุดเด่นที่หาได้ยากในประเทศอื่น การสานต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ก็เกิดขึ้นจากการ “รับ-ส่งไม้ต่อ” ของผู้นำจีนจากรุ่นสู่รุ่น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็เพิ่มความตระหนักรู้ด้านระบบทรัพย์สินทางปัญญาในชุมชน SMEs จีน พร้อมแสดงให้เห็นว่าธุรกิจจีนจะได้รับประโยชน์จากศักยภาพของตลาดโลกที่รออยู่ข้างหน้า

อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลจีนตระหนักดีว่า ไม่ว่าจีนจะก้าวขึ้นเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่เพียงใด แต่ตลาดโลกก็มีขนาดใหญ่กว่ามาก หากไม่ปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับต่างชาติ ธุรกิจจีนก็จะเสียหายมากยิ่งกว่าในระยะยาว ดังนั้น การให้ความสำคัญกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมของจีนจึงต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไปพร้อมกัน

ในทางปฏิบัติ มาตรการความช่วยเหลือเหล่านี้ยังอยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งมาตรการทางการเงิน การคลัง การตลาด และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะและพัฒนา SMEs ที่กระจายอยู่ทั่วจีน 

ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

นอกจากนี้ ยังขยายกรอบไปอยู่ในรูปของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและกิจการเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อลดผลกระทบทางการเงิน เสริมความสามารถในการแข่งขัน หรือแม้กระทั่งเพื่อกระตุ้นการบริโภคในช่วงที่เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับวิกฤติ 

ที่น่าสนใจก็คือ มาตรการความช่วยเหลือและกิจกรรมโครงการที่เกี่ยวข้องก็แฝงไว้ด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์อยู่เสมอ อาทิ การสร้างกลไกการโอนเงินช่วยเหลือพิเศษลงสู่รัฐบาลท้องถิ่นระดับล่างสุด เพื่อให้เม็ดเงินเหล่านั้นลงสู่พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และสร้างประโยชน์สูงสุดแก่เศรษฐกิจในท้องถิ่น 

หรือการขยายระยะเวลาการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ครบกำหนดในโปรแกรมสนับสนุนสินเชื่อและเครดิตที่ครอบคลุมสำหรับ SMEs พร้อมยกเว้นหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียง 1% ของวงเงินกู้ ซึ่งช่วยลดภาระและแรงกดดันทางการเงินแก่ SMEs หลายล้านราย และรักษาระดับเม็ดเงินนับแสนล้านหยวนในระบบเศรษฐกิจเอาไว้ในแต่ละคราว

ยิ่งในยามวิกฤติ บทบาทของภาครัฐยิ่งมีความสำคัญ หลังเผชิญวิกฤติโควิดในช่วงปลายปี 2019 ต่อต้นปี 2020 ที่เศรษฐกิจจีนดิ่งหัวมากที่สุดในรอบหลายปี รัฐบาลจีนก็ดำเนินกิจกรรมโครงการจนสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ทำให้จีนกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกในปี 2020 และเติบโตในอัตราที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ SMEs ยังคงรักษาสถานะและประคองธุรกิจให้กลับมามีเสถียรภาพได้อีกครั้ง

ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนว่า ความสำเร็จในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของโควิดดังกล่าวมีส่วนสำคัญมาจากบทบาทนำของภาครัฐ รัฐบาลจีนมีโอกาสที่จะแสดงฝีมืออีกครั้งจากกรณีการระบาดของโควิดครั้งใหญ่ที่เซี่ยงไฮ้ในช่วงปลายไตรมาสแรกต่อไตรมาสที่ 2 ของปี 2022

รัฐบาลจีนยังเก่งในการพัฒนาระบบนิเวศ และบูรณาการแต่ละภาคส่วนเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของ SMEs และสร้างประโยชน์ของเศรษฐกิจโดยรวม หนึ่งในตัวอย่างที่ดีของการทำงานบนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจีนก็ได้แก่ “เทศกาลช้อปปิ้ง 5/5” ภายหลังโควิดเริ่มคลายตัวลงในปลายไตรมาสแรกของปี 2020 จีนก็เดินหน้าผลักดันการจัดเทศกาลดังกล่าวขึ้นในช่วงหยุดยาววันแรงงาน 

เทศกาลนี้ถือเป็นกิจกรรมช้อปปิ้งที่ภาครัฐทำงานร่วมกับภาคเอกชนครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์จีน โดยจัดแบบไฮบริด (ทั้งออฟไลน์และออนไลน์) กระจายในหัวเมืองต่างๆ ทั่วจีน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ภาคการผลิต และการจ้างแรงงานภายในประเทศ ส่งผลทำให้วิกฤติเศรษฐกิจที่โลกกังวลใจว่าจะเกิดขึ้นในจีนพลิกกลับมาเป็นบวกเกินความคาดหมาย 

ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ประการที่ 3 ความแข็งแกร่ง และความเข้าใจในตลาดจีน เราต้องยอมรับว่า SMEs จีนแข็งแกร่งกว่าที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะ “เจ้าบ้าน” ด้วยสภาพปัจจัยแวดล้อมที่บีบรัด และระดับการแข่งขันที่สูงที่ต้องเผชิญมาวัยเยาว์ ได้สร้างให้คนจีนมีความอดทนสูง ทำงานเร็วแข่งกับเวลา มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในมุมมองที่แตกต่าง และเอาชนะปัญหาอุปสรรคได้ด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์ 

จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมเราเห็นผู้ประกอบการจีนอึดในการทำงานชนิดไม่หลับไม่นอน และรังสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะออกมาอยู่เสมอ คุณสมบัติส่วนนี้ทำให้เราเห็นธุรกิจรายใหม่ของจีนผุดขึ้นและเติบใหญ่ในตลาดจีน และในตลาดระหว่างประเทศอยู่ตลอด

ขณะเดียวกัน โดยทั่วไปแล้ว การเข้าใจในตลาดท้องถิ่นถือเป็นความได้เปรียบของกิจการในพื้นที่ เหตุเพราะการมีความรู้ความเข้าใจในภาษา วัฒนธรรม และสภาพปัจจัยแวดล้อมอื่น รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคของคนท้องถิ่นเป็นพื้นฐาน 

สภาพปัจจัยแวดล้อมของจีนนับว่ามีความสลับซับซ้อนอยู่มาก จีนเป็นประเทศใหญ่ในเชิงประชากรศาสตร์ ผู้ประกอบการต่างชาติมักพูดและฝันหวานถึงตลาดขนาดใหญ่มหึมากว่า 1,400 ล้านคน แต่กลับมองข้ามปัจจัยความใหญ่ในเชิงภูมิศาสตร์ ความหลากหลายและความลุ่มลึกของวัฒนธรรมท้องถิ่น ภาษาที่แตกต่าง และอื่นๆ 

ที่สำคัญ สภาพตลาดก็เต็มไปด้วยพลวัตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จีนมีคำกล่าวว่า “เปลี่ยนเล็กทุกปี เปลี่ยนใหญ่ทุกสามปี” การอยู่ห่างจากตลาดจีนสักระยะ ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติมองภาพของตลาดจีนผิดเพี้ยนไป ซึ่งทำให้การออกแบบกลยุทธ์การตลาดผิดพลาดได้ง่าย

จีนจึงเป็นเสมือน “ตำราเล่มใหญ่” ที่อ่านไม่รู้จบ ขณะเดียวกัน จีนยังเป็น “ตลาดใหญ่ แต่ไม่หมู” โดยเฉพาะอย่างยิ่งของกิจการต่างชาติที่ขาดความรู้ความเข้าใจในตลาดจีนอย่างถ่องแท้ 

ประเด็นนี้จึงกลายเป็น “จุดอ่อน” ของ SMEs ต่างชาติในการเข้าไปประกอบการในจีน หรือกล่าวอีกมุมหนึ่งก็คือ SMEs จีนมีความได้เปรียบในการทำตลาดจีนเหนือกว่า SMEs ของต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในจีน 

นอกจาก 3 ปัจจัยหลักที่เราคุยกันแล้ว จีนยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนช่วยให้ SMEs จีนเติบใหญ่ขึ้นมาได้ ก็ต้องมาติดตามกันว่า SMEs จีนจะสามารถ “พุ่งทะยาน” และ “แสดงบทบาทนำ” ในการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูงที่เปี่ยมนวัตกรรม รวยไปด้วยกัน และยั่งยืนอย่างที่จีนวาดฝันไว้หรือไม่ ...

ภาพจาก :  AFP

ข่าวแนะนำ