TNN online โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ตอนที่แล้ว ผมได้เกริ่นถึง 4 หน้าที่หลัก (4 Major Functions) ที่เซี่ยงไฮ้ต้องเดินหน้าทำเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนโดยรวม หน้าที่ดังกล่าวครอบคลุมถึงการจัดสรรทรัพยากรโลก การริเริ่มนวัตกรรม การเป็นผู้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และการเปิดกว้างผ่านการเป็นศูนย์กลาง

ทั้งนี้ เพื่อก้าวขึ้นเป็น 5 ศูนย์กลาง (5 Centers) อันได้แก่ ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน ลอจิสติกส์ และนวัตกรรม โดยได้กล่าวถึงการดำเนินงานของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นเพื่อผลักดันให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรม และค้างไว้ที่การพัฒนาชุมชนเมืองเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการค้าและการจับจ่ายใช้สอย วันนี้ เราไปคุยกันต่อเลยครับ ...

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลยุทธ์หลักส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายการพัฒนาชุมชนเมืองของจีนอยู่บนพื้นฐานของ “เศรษฐกิจ 1 ชั่วโมง” (One-Hour Economy) แต่เนื่องจากการพัฒนาประสิทธิภาพการคมนาคมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ขนาดเศรษฐกิจของแต่ละเมืองขยายวงในรัศมีที่กว้างขวางมากขึ้น 

ในกรณีของเซี่ยงไฮ้ ย้อนกลับไป 15-20 ปีก่อน รัศมี 1 ชั่วโมงเดินทางยังอยู่ค่อนข้างจำกัด เรียกว่าเดินทางจากตัวเมืองออกไป 1 ชั่วโมงก็อาจยังไม่พ้นขอบเมืองของเซี่ยงไฮ้เสียด้วยซ้ำ เพราะความไม่พอเพียงของถนนหนทางในยุคนั้น ทำให้การพัฒนาเมืองมีลักษณะกระจุกตัว และนำไปสู่ปัญหาอื่น อาทิ ความแออัดของการจราจร และมลพิษทางอากาศ รวมทั้งต้นทุนและค่าครองชีพที่สูง

เพื่อลดปัญหาดังกล่าว และขยายการพัฒนา จีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ได้เริ่มปรับบริบทการพัฒนาให้ไปอยู่บนหลักการพัฒนา “กลุ่มเมือง” (City Cluster) ซึ่งภายหลังการดำเนินนโยบายนี้มาเกือบ 10 ปี จีนก็สามารถพัฒนาจนมีกว่า 20 กลุ่มเมืองกระจายอยู่ทั่วจีนในปัจจุบัน

โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เซี่ยงไฮ้ เมืองเศรษฐกิจใหญ่สุดของจีน แปลงร่างเป็นเสมือน “หัวมังกร” ที่เชื่อมต่อกับอีก 26 หัวเมืองในมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และอันฮุย หล่อหลอมเป็นคลัสเตอร์ด้านการผลิตและตลาดในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง จนเกิดเป็นระเบียงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งในเชิงประชากรและขนาดเศรษฐกิจ

จากการมุ่งหวัง “การเติบโตทางเศรษฐกิจ” ในภาพใหญ่ จีนในยุคใหม่ใส่ใจกับการเพิ่มขึ้นของ “ความสุขภาคประชาชน” มากขึ้น จีนไม่ได้มองข้ามการสร้างเสน่ห์ในแต่ละส่วนของเมือง เพราะ “เมืองที่ไร้คนคือเมืองที่ขาดจิตวิญญาณ” จึงอยากเห็นผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากกว่าการกดสั่งซื้อสินค้าอยู่ที่บ้าน

เซี่ยงไฮ้สร้างสรรค์โครงการที่น่าสนใจมากมายในช่วงหลายปีหลัง อาทิ ชุมชน 15 นาทีเดิน เมืองแนวดิ่ง และอาคารสีเขียว ที่ล้วนสอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองคุณภาพสูงควบคู่กันไป

ในการดำเนินโครงการดังกล่าว เซี่ยงไฮ้ลงทุนพัฒนาและจัดระเบียบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่กระจุกตัวอยู่ในรัศมี 15 นาทีเดิน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่สถาบันการศึกษา บริการสาธารณสุข และพื้นที่สีเขียว รวมทั้งเวิ้งร้านอาหาร ร้านค้าปลีก และสตาร์ตอัพ 

เซี่ยงไฮ้นับว่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสถาบันการศึกษาชั้นนำในทุกระดับการศึกษา ทั้งของจีนและต่างชาติ จึงเป็นแหล่งผลิตบุคลากรคุณภาพสูงที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจีน  

รัฐบาลและเอกชนของเซี่ยงไฮ้ยังร่วมมือกันเปลี่ยนพื้นที่ว่างทุกอณูเป็นพื้นที่สีเขียว อาทิ ส่วนหย่อม และสวนสาธารณะ ขณะที่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างสรรค์และใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐ อาทิ โรงแรมเชินเคิง (Shenkeng Hotel) ที่เปลี่ยนเหมืองถ่านหินเก่าเป็นโรงแรมใต้ดินสุดหรูที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ “เทียนอัน 1,000 ต้นไม้” (Tian An 1,000 Trees) ที่ออกแบบเพื่อรองรับการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ 1,000 ต้น และต้นไม้ขนาดเล็กอีก 250,000 ต้น

โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังมีสถานพยาบาลคุณภาพสูงมากมาย แต่ละมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ต่างมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยแพทย์และพยาบาลชั้นแนวหน้าจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วเซี่ยงไฮ้

หลายแห่งยังเป็นต้นแบบ “นำร่อง” การใช้นวัตกรรมด้านการรักษาพยาบาลสมัยใหม่ อาทิ การพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันโรคมะเร็งกับเทนเซนต์ (Tencent) นำเอาโปรแกรม WeDoctor ที่ผสมผสานบิ๊กดาต้าและระบบการวิเคราะห์ข้อมูล ระบบจดจำใบหน้า และอื่นๆ เข้ามาช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยและออกแบบการรักษาแบบเฉพาะตัวบุคคล หรือเทเลเมดิซิน (Tele-Medicine) ในหลายรูปแบบ

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังมีกิจการด้านวิจัยและพัฒนา และผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ชั้นนำของจีน ซึ่งทำให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้าเหล่านั้นสู่ตลาดต่างประเทศในปัจจุบัน

และโดยที่จีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะมีคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงราว 300 ล้านคนในไม่กี่ปีข้างหน้า เซี่ยงไฮ้ก็ถูกเลือกเป็นหนึ่งในเมืองนำร่องเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว 

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Elderly Care Center) ยุคใหม่ที่พร้อมพรั่งด้วยโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบการจัดการที่ทันสมัย อาทิ ระบบการสั่งการด้วยเสียง การจดจำใบหน้า หุ่นยนต์ และอื่นๆ ราวกับภาพยนตร์ที่เราเคยดูเมื่อหลายปีก่อน ได้ผุดขึ้นในเซี่ยงไฮ้ 

เมื่อเร็วๆ นี้ เซี่ยงไฮ้ก็ยังเริ่มทดลองใช้ระบบการประเมินคะแนนทางสังคม (Credit Rating System) สำหรับกิจการให้บริการแก่ผู้สูงอายุ เพื่อกำกับควบคุมตลาด โดยในชั้นนี้ ระบบฯ ได้จัดแบ่งบ้านพักคนชราออกเป็น เกรด A-B-C-D ซึ่งหากถูกประเมินว่าอยู่ในเกรด D สถานบริการนั้นๆ ก็จะถูกลงโทษ และประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้และอ้างอิง

ขณะเดียวกัน เพื่อให้ผู้คนได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ยังได้จัดการทางเท้าให้ใหญ่พอ เรียบร้อย สวยงาม และต่อเนื่อง พร้อมทิวต้นไม้เพื่อลดฝุ่นและแดด และมุมนั่งเล่นที่มีพื้นที่สีเขียวเป็นระยะ ซึ่งสร้างประโยชน์ต่อไปถึงการลดปัญหามลพิษทางอากาศ การประหยัดพลังงาน สุขภาพที่ดีของผู้คน และอื่นๆ

ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายสินค้าแฟชั่น ห้างสรรพสินค้า สปา แกลอรี่ และอื่นๆ ถูกออกแบบและตกแต่งอย่างเก๋ไก๋กระจายอยู่ในหลายชุมชนของเมือง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนหลากหลายกลุ่มที่อยากชิม ช้อป และพักผ่อนหย่อนใจ  

นอกจากเชนร้านอาหาร และอาหารจานด่วนของจีนและต่างประเทศที่เกลื่อนกลาดอยู่ทั่วเมืองแล้ว สตาร์บักส์ (Starbuck’s) เฮย์ที (Heytea) และแบรนด์อื่นๆ ก็นับเป็นตัวอย่างที่ดีของธุรกิจแฟรนไชส์ที่ลงทุนเปิดร้านเครื่องดื่มอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในเซี่ยงไฮ้

สิ่งเหล่านี้ทำให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นเมืองเต็มไปด้วยเสน่ห์และสีสัน และก้าวสู่การเป็นฮับการบริโภคอย่างแท้จริง และเดินหน้าสู่การเป็น “เมืองต้นแบบของโลก” ในอนาคตในที่สุด

โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในด้านการพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านลอจิสติกส์ เซี่ยงไฮ้ถือเป็น “ต้นแบบ” ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านลอจิสติกส์ของจีนนับแต่เปิดประเทศสู่โลกภายนอก อาทิ ทางด่วนเส้นแรก ทางด่วนยกระดับ และอุโมงค์ถนนลอดใต้แม่น้ำแห่งแรกของจีน 

เซี่ยงไฮ้ยังนับเป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าทางเรือที่สำคัญของจีน โดยแต่เดิมมีท่าเรือจำนวนมากในบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง และต่อมาก็เริ่มก่อสร้างท่าเรือหยางซานขึ้นกลางทะเลเมื่อราว 20 ปีก่อน เมื่อพัฒนาถึงระยะที่ 4 ซึ่งเป็นท่าเทียบเรืออัตโนมัติเต็มรูปแบบ ท่าเรือหยางซานได้กลายเป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดโลก

ในด้านการบิน เซี่ยงไฮ้ก็พัฒนาสนามบินนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ สนามบินผู่ตง และสนามบินหงเฉียวที่ต่อยอดเป็นศูนย์ลอจิสติกส์ครบวงจรในปัจจุบัน นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังวางแผนก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ในอนาคตอันใกล้

ในด้านการพัฒนาบริการรถไฟสาธารณะ เซี่ยงไฮ้มีโครงข่ายรถไฟใต้ดินที่หนาแน่นที่สุดเมืองหนึ่งของโลก โดยมีจำนวน 20 สายรวมระยะทางกว่า 830 กิโลเมตร และมีสถานีเพื่อเปลี่ยนสายถึง 83 จุด

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังอยู่ระหว่างการเร่งก่อสร้างรถไฟใต้ดินที่เร็วที่สุดในโลกเชื่อมระหว่างสนามบินผู่ตง-หงเฉียว นัยว่าอีกราว 2 ปีก็จะเริ่มเปิดให้บริการกันแล้ว

เซี่ยงไฮ้ยังโด่งดังจากการเป็นเมืองนำร่องในการก่อสร้าง “รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า” (Maglev) ที่จีนทุ่มทุนซื้อไลเซนต์ด้านเทคโนโลยีจากซีเมนส์ (Siemens) ของเยอรมนีเมื่อหลายปีก่อน Maglev ให้บริการด้วยความเร็ว 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

โฉมใหม่ของเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษหน้า (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

Maglev รุ่นนี้กลายเป็นต้นแบบในการพัฒนารถไฟแม่เหล็กไฟฟ้ารุ่นใหม่ของจีนที่จะเปิดให้บริการด้วยความเร็ว 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในอนาคตอันใกล้ โดยจะเริ่มจากเส้นทางระหว่างปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ก่อน และขยายไปในอีกหลายกลุ่มเมืองของจีน 

Maglev ตัวใหม่จะทำให้การเดินทางระหว่างเซี่ยงไฮ้-หนานจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซู ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง นี่เป็นอีกเครื่องยืนยันหนึ่งว่า รัศมีของเศรษฐกิจ 1 ชั่วโมงเดินทางของจีนขยายวงไปอย่างต่อเนื่องได้อย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2022 สมัชชาสภาประชาชนแห่งนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai People's Congress) ยังได้เห็นชอบกับกลยุทธ์การเชื่อมโยง 5 เมืองใหม่รอบนอกของเซี่ยงไฮ้ อันได้แก่ เจียติ้ง (Jiading) ชิงผู่ (Qingpu) ซงเจียง (Songjiang) เฟิงเสียน (Fengxian) และหนานฮุ่ย (Nanhui) ด้วยโครงข่ายคมนาคม และการขนส่งสาธารณะ ซึ่งหนึ่งในรูปแบบการขนส่งก็อยู่ในรูปของ Maglev 

สิ่งนี้จะลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างใจกลางเมืองกับหัวเมืองรอบข้างและแหล่งชุมชนสำคัญในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงจาก 2 ชั่วโมงในปัจจุบัน เหลือภายใน 1 ชั่วโมงในอนาคต! 

ตอนหน้าเราจะไปเจาะลึกถึงวิสัยทัศน์ใหม่และสำคัญที่สุดของการพัฒนาเป็น “ศูนย์กลางด้านนวัตกรรม” แห่งโลกอนาคตของเซี่ยงไฮ้กันครับ ...


ภาพจาก Reuters

ข่าวแนะนำ