TNN online ดราก้อนชิปคุณภาพสูงครองโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร (ตอนที่ 1 )

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

ดราก้อนชิปคุณภาพสูงครองโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร (ตอนที่ 1 )

ดราก้อนชิปคุณภาพสูงครองโลก โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร  (ตอนที่ 1 )

ดราก้อนชิปคุณภาพสูงครองโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ในปี 2022 จีนมีงานใหญ่มากมายรออยู่ นอกจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาว เอเชียนเกมส์ และการประชุมรับรองการต่อเทอม 3 ของสี จิ้นผิง แล้ว จีนยังส่งสัญญาณจะให้ความสนใจกับการพัฒนาหลายอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญก็ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ ...

ในห้วงปีที่ผ่านมา ฉากทัศน์ของวิกฤติเทควอร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนดูจะขยายวงกว้างขึ้นในห้วงปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และสร้างความปั่นป่วนกับหลายอุตสาหกรรมของจีนและของโลก

หากสภาพการณ์ดังกล่าวดำรงอยู่หรือขยายตัวขึ้นในปีนี้ ความกังวลใจดูจะแทรกซึมเข้าไปในผู้คนในหลายวงการ เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสพบคนในวงการโทรคมนาคม ยังไม่ทันจะได้พูดคุยกันได้กี่คำ ผมก็ถูกยิงคำถามใหญ่ในทันที “จีนจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ได้เมื่อไหร่” 

ดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงและความท้าทายในการต่อยอดฐานการผลิตของจีนสู่ “โรงงานของโลกยุคใหม่” ที่มีนวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และที่เกี่ยวข้องที่ล้วนมีเซมิคอนดักเตอร์ติดตั้งอยู่ ดังนั้น จีนจึงไม่อาจเสี่ยงยืมจมูกคนอื่นหายใจได้ต่อไป

คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ จีนจะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์คุณภาพสูงได้ทันต่อความต้องการหรือไม่ อย่างไร

ในด้านหนึ่ง จีนได้รับการยอมรับว่าเป็น “โรงงานของโลก” ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยหนึ่งในเบื้องหลังของความสำเร็จก็ได้แก่ หลักการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบนิเวศที่จริงจังและต่อเนื่อง อันนำไปสู่ห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ แข็งแกร่ง และยืดหยุ่น ส่งผลให้ภาคการผลิตของจีนก้าวขึ้นเป็น “ผู้นำ” ตลาดโลกในปัจจุบัน

ปัจจุบันจีนมีห่วงโซ่อุปทานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของโลกในปัจจุบัน โทรทัศน์และตู้เย็นอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ เครื่องมืออุปกรณ์ด้านการรักษาพยาบาล และอีกสารพัดสินค้าต่างใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีชิปเป็นส่วนประกอบสำคัญแทบทั้งสิ้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นบิ๊กเทคของจีนต่างลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาชิปของตนเองเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ Baidu ก็เปิดตัว “Kunlun 2” ชิปเอไอรุ่นที่ 2 ขณะที่ Alibaba ก็ออกแบบชิปสำหรับเซิร์ฟเวอร์และคลาวด์คอมพิวติ้ง รวมทั้ง Huawei และ Oppo ก็พัฒนาโปรเซสเซอร์คุณภาพสูงสำหรับสมาร์ตโฟน และอื่นๆ

ความต้องการชิปยังขยายไปยังส่วนอื่น อาทิ อุตสาหกรรมสนับสนุนอย่างคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ ศูนย์บิ๊กดาต้า และโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนว่า ตลาดเซมิคอนดักเตอร์เป็นเค้กก้อนใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีความสามารถในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์คิดเป็นราวเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ตามด้วยพันธมิตรอย่างยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ขณะที่จีนยังเป็น “ผู้ตาม” โดยจีนมีสัดส่วนการผลิตราว 10% ของตลาดโลก 

ด้วยความต้องการที่มีสูงกว่าด้านอุปทาน ทำให้จีนต้องนำเข้าชิปมาเพื่อประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศและเพื่อการส่งออก ส่งผลให้จีนเป็นประเทศผู้จัดซื้อเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่สุดของโลก

เงื่อนไขและสถานการณ์การหดหายไปของเซมิคอนดักเตอร์จากท้องตลาดได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ภาคการผลิต และเศรษฐกิจโดยรวมของจีน

ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตหลายรายในจีน อาทิ Apple,Huawei, Samsung, Xiaomi และอื่นๆ ต่างเดินสายการผลิตต่ำกว่ากำลังการผลิตที่แท้จริง ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน ซึ่งยังคงพึ่งพาตลาดภายในประเทศเป็นสำคัญ ก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการขาดแคลนดังกล่าวเช่นกัน

ดราก้อนชิปคุณภาพสูงครองโลก โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร  (ตอนที่ 1 )

จากข้อมูลของ China Association of Automobile Manufacturers ระบุว่า ผลจากการขาดหายไปของชิป ทำให้การผลิตยานยนต์ของจีนในบางเดือนต่ำกว่าปกติถึงเกือบ 20% ส่งผลให้จีนผลิตยานยนต์โดยรวมลดลงถึง 1 ล้านคันจากที่ควรจะเป็นในปีที่ผ่านมา 

เฉพาะ Bosch China ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของเยอรมนี และมีความสามารถในการตอบสนองราวครึ่งหนึ่งของอุปสงค์เซมิคอนดักเตอร์ของผู้ผลิตยานยนต์จีนในปีก่อน ก็ประสบปัญหาเช่นกัน

โดยปกติแล้ว Bosch China จัดซื้อเซมิคอนดักเตอร์จากผู้ผลิตรายใหญ่หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง STMC และ Infineon ในมาเลเซีย แต่ฐานการผลิตเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามความต้องการของผู้ผลิตรถยนต์ในจีน เช่น ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม บริษัทสามารถส่งมอบได้เพียง 20% ของความต้องการเท่านั้น

เราจึงเห็น Bosch ประกาศขยายกำลังการผลิตเพื่อหวังเพิ่มการส่งมอบเป็น 80-90% ของความต้องการในปีนี้ โดยให้ครอบคลุมยานยนต์ระบบไฟฟ้า และปลั๊กอินไฮบริดของรถยนต์โดยสาร และพลังงานไฮโดรเจนของรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่กำยังเติบโตแรงให้ได้มากขึ้น

ยิ่งพอมองลึกลงไปก็พบว่า นอกเหนือจากการขาดแคลนในเชิงปริมาณ จีนยังประสบปัญหาการตอบสนองต่อความต้องการในด้านคุณภาพอีกด้วย กล่าวคือ กลุ่มผู้นำเน้นการผลิตชิปป้อนตลาดระดับบน (คุณภาพสูง) ขณะที่จีนจับตลาดระดับล่าง และมีความสามารถที่ขาดหายเป็นช่วงๆ 

แม้ว่าจีนจะมีมุ่งเป้าที่จะผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศ แต่แรงกดดันก็ดูจะยังคงเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในเชิงคุณภาพ เพราะเทคโนโลยีและความต้องการของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสารโทรคมนาคม การทหารและความมั่งคง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องก็เพิ่มขึ้นและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว 

ดังนั้น การลดช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานเซมิคอนดักเตอร์ในจีน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ จึงเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างมากสำหรับรัฐบาลจีน

แต่ใช่ว่ารัฐบาลจีนจะยอมแพ้ง่ายๆ เพราะจีนตระหนักดีถึง “ความสำคัญ” ในเชิงธุรกิจ และ “ความเป็นความตาย” ในเชิงเศรษฐกิจระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ 

จีนจึงได้พยายามสานต่อสูตรความสำเร็จจากอุตสาหกรรมอื่นด้วยการพัฒนาทั้งระบบนิเวศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน จีนก็มีจุดเด่นในเรื่องความได้เปรียบด้านตลาดที่ซ่อนอยู่ โดยที่เซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้การวิจัยและพัฒนา และเงินทุนเข้มข้น ซึ่งต้องการ “ขนาดของตลาด” เป็นปัจจัยพื้นฐานแห่งความสำเร็จ จีนมีอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่ตอบโจทย์ดังกล่าว 

จีนจึงใส่ใจกับการพัฒนาด้านอุปทานเป็นอย่างมาก โดยในปี 2014 รัฐบาลจีนได้ประกาศแนวปฏิบัติในการส่งเสริมวงจรรวมแห่งชาติ (National IC Promotion Guidelines) เป็นครั้งแรก

ต่อมาในปี 2015 รัฐบาลจีนยังได้ประกาศนโยบาย Made in China 2025 โดยบรรจุให้เซมิคอนดักเตอร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนา และมุ่งเป้าที่จะพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ที่ตนเองผลิตขึ้นเองคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของความต้องการโดยรวมของจีนภายในปี 2025

เมื่อนโยบายและเป้าหมายชัดเจน รัฐบาลจีนก็เร่งเดินหน้าให้การพัฒนาเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม อาทิ การทุ่มงบวิจัยในระหว่างปี 2014-2030 รวมกว่า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมวงจรรวมแห่งชาติ (National Integrated Circuits Industry Development Investment Fund) ที่รู้จักกันในนามของ “Big Fund” มูลค่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

เท่านั้นไม่พอ กองทุนฯ ดังกล่าวยังปรับเพิ่มวงเงินเป็นระยะ ผู้เชี่ยวชาญในวงการประเมินว่า จนถึงปัจจุบัน กองทุนฯ ดังกล่าวน่าจะลงทุนไปแล้วราว 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการส่วนหน้าเพื่อมุ่งเป้าในการเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดของเซมิคอนดักเตอร์จีนในเวทีโลก (มีต่อ)

ภาพจาก : AFP

ข่าวแนะนำ